พ่อเมืองเชียงรายเร่งแก้ปัญหาคุณภาพน้ำกกเกินมาตรฐาน หวั่นไม่ปลอดภัยทั้งอุปโภค-บริโภค
วันที่ 6 เมษายน ที่ห้องประชุมพญาพิภักดิ์ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เปิดเผยในฐานะประธานการประชุมฯ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำกก หลังรับทราบผลการตรวจคุณน้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ว่า ขอให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) เพิ่มความถี่ในการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจสอบ พร้อมทั้งขอให้ดำเนินการตลอดลำน้ำตั้งแต่รอยต่อจังหวัดเชียงราย ผ่านอำเภอเมืองเชียงราย อำเภอเวียงชัย อำเภอเวียงเชียงรุ้ง อำเภอดอยหลวง อำเภอแม่จัน ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง ที่อำเภอเชียงแสน
นายชรินทร์ กล่าว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำรวจการใช้น้ำกกตลอดลำน้ำในกิจกรรมใดบ้าง เช่น ประปา เกษตร อุตสาหกรรม หรือให้ลงเล่นน้ำเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ภายในวันพุธที่ 9 เมษายนนี้ จังหวัดเชียงรายจะมีข้อมูลเหล่านี้อย่างละเอียด เพื่อใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในอนาคต และกำชับให้สร้างความเข้าใจกับประชาชนไห้ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง
“ขอความร่วมมือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการประปาส่วนภูมิภาค ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ เทศบาล สำนักงานสิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น และขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่” นายชรินทร์ กล่าว
นายอาวีระ ภัคมาตร์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) ได้รายงานผลจากการลงพื้นที่ตรวจสอบและเก็บตัวอย่างน้ำ เพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำผิวดิน การตรวจวัดโลหะหนัก พร้อมด้วยไซยาไนด์ เพื่อหาความปนเปื้อนของสารมลพิษในแหล่งน้ำของแม่น้ำกก เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 ว่า แม่น้ำกกอยู่ในเกณฑ์ ”พอใช้ ถึง เสื่อมโทรม“ โดยค่าความสกปรกในรูปสารอินทรีย์เกินมาตรฐาน บริเวณบ้านโป่งนาคำ ต.ดอยฮาง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย แสดงถึงแหล่งน้ำมีความสกปรกในรูปสารอินทรีย์สูง การปล่อยน้ำเสียจากแหล่งชุมชนจากกิจกรรมต่างๆ โดยไม่ได้ผ่านการบำบัดลงสู่แหล่งน้ำ แบคทีเรียเกินทั้ง 3 จุด ได้แก่ บ้านโป่งนาคำ สะพานข้ามแม่น้ำกก ต.ดอยฮาง และสะพานแม่ฟ้าหลวง บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงราย บ่งบอกถึงความไม่สะอาดและไม่ปลอดภัยในการบริโภคโดยไม่ผ่านการฆ่าเชื้อก่อน
นายอาวีระ กล่าวว่า คุณภาพน้ำกกในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เกินมาตรฐานเล็กน้อย ในมุมของนักสิ่งแวดล้อมมองว่ายังเป็นปัญหาที่ไม่มาก ส่วนการเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจสอบควรดำเนินการเดือนละ 1-2 ครั้งเพื่อคลายความกังวลใจให้กับประชาชน