ชายวัย 55 ป่วยไม่อยากเป็นภาระ โทรหาลูกทุกคนบอกรักครั้งสุดท้าย ก่อนพบเป็นศพในบ้าน

สลด ชายอายุ 55 ปี ป่วยไม่อยากเป็นภาระให้ลูก จบชีวิตในบ้าน ขณะที่ จ.สมุทรสงคราม พบรายนี้เป็นรายที่ 2 ในรอบสัปดาห์ แพทย์แนะวิธีป้องกันการฆ่าตัวตาย

เมื่อวันที่ 10 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตำรวจ สภ.เมืองสมุทรสงคราม ได้รับแจ้งเหตุคนผูกคอเสียชีวิตที่บ้านพักใน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม จึงไปตรวจสอบพร้อมแพทย์เวร รพ.สมเด็จพระพุทธเลิศหล้า และเจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิสว่างเบญจธรรม(สมุทรสงคราม)

ที่เกิดเหตุพบเป็นบ้านไม้ชั้นเดียว บริเวณหน้าบ้าน พบศพชาย อายุ 55 ปี เป็นเจ้าของบ้าน เสียชีวิต โทรศัพท์มือถือตกอยู่ข้างตัว ส่วนในที่เกิดเหตุไม่พบร่องรอยถูกทำร้าย คาดว่าเสียชีวิตมาแล้วไม่ถึง 1 ชั่วโมง

สอบถาม ลูกสาวผู้เสียชีวิต เผยว่า บิดาอยู่ตามลำพัง เนื่องจากมารดาซึ่งเป็นภรรยาผู้ตาย ไปทำงานอยู่ กทม. ส่วนลูกๆ ก็แยกย้ายกันไปทำงาน ก่อนเกิดเหตุบิดาโทรศัพท์ไปหาลูกๆ และบอกสั้นๆ ว่า “รักนะ” ก่อนจะวางสายไป ซึ่งลูกๆ ร้อนใจ รีงรีบกลับมาหาบิดา แต่ก็ไม่ทัน บิดาเสียชีวิตไปแล้ว

ADVERTISMENT

ขณะที่ เพื่อนบ้าน เล่าว่า ก่อนเกิดเหตุเห็นว่า ผู้เสียชีวิตปิดบ้านเงียบหายหน้าไป จึงมาส่องดูตามช่องว่างของตัวบ้านก็พบว่านายประเสริฐ เสียชีวิตแล้วจึงรีบแจ้งเจ้าหน้าที่

จากการสอบสวนเบื้องต้นสันนิษฐานว่า ผู้เสียชีวิตป่วยเป็นโรคเบาหวาน อาจจะเกิดภาวะซึมเศร้า ประกอบกับอยู่ตามลำพังไม่มีคนช่วยระบายความในใจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ส่งศพไปชันสูตรอย่างละเอียดที่แผนกนิติเวช รพ.ราชบุรี เพื่อสอบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

ADVERTISMENT

วันเดียวกัน นพ.นราพงศ์ ธีรอัครวิภาส นพ.สสจ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า สถานการณ์การฆ่าตัวตายใน จ.สมุทรสงคราม มีแนวโน้มสูงขึ้น แนะนำว่ามีพฤติกรรมในการแสดงออกที่จะรู้ได้ ส่วนใหญ่จะแสดงออกถึงความต้องการ หรืออยากให้ผู้คนรอบข้างช่วยเหลือ เช่น บ่นว่ารู้สึกเบื่อ ไม่มีความสุข สั่งเสีย ฝาก ดูแลคนที่รัก ดังนั้นญาติหรือคนใกล้ชิดหากพบพฤติกรรม ในลักษณะดังกล่าว ก็ควรถามถึงความรู้สึกความต้องการ ให้ช่วยเหลือ เช่น รู้สึกซึมเศร้าไหม, ความซึมเศร้าแบบนี้เบื่อชีวิตไหม, รู้สึกอยากทำอะไร, อยากฆ่าตัวตายหรือไม่

หากตอบว่าอยาก หรือมีความรู้สึกแบบนั้น ให้ถามต่อเลยว่าจะทำยังไง คือ คิดอยากตายแล้วคิดจะทำ ยังไง เพื่อจะได้ป้องกัน อย่างไรก็ตามหากเราถามพูดคุยแล้ว ประเมินว่ายังไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ เบื้องต้นสามารถโทรศัพท์ปรึกษาสายด่วน กรมสุขภาพจิต 1323

นอกจากนี้กรมสุขภาพจิต ยังมีคิวอาร์โคด MENTAL HEALTH CHECK IN สามารถแสกนแบบสอบถาม ถ้าระบบตรวจสอบพบว่ามีความเสี่ยง เจ้าหน้าที่กรมสุขภาพจิตจะติดต่อ มายังเบอร์โทรศัพท์ของผู้ประเมินที่ลงทะเบียนทันที เพื่อพูดคุยระบายความรู้สึก และให้ความช่วยเหลือทันที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image