‘บ้านหนองเดิ่น’ สืบทอดวิถีบรรพบุรุษ ขุดดิน-ต้มเกลือสินเธาว์แลกข้าว

‘บ้านหนองเดิ่น’ สืบทอดวิถีบรรพบุรุษ ขุดดิน-ต้มเกลือสินเธาว์แลกข้าว

ช่วงฤดูแล้ง สภาพอากาศร้อนจัด แหล่งน้ำแห้งเหือด ทำให้ชาวนาต้องหยุดทำนาเนื่องจากขาดแคลนน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าว มีความเสี่ยงที่นาข้าวเสียหาย ยิ่งบางพื้นที่สภาพเป็นดินเค็ม ไม่สามารถเพาะปลูกพืชที่ทนแล้งแทนการทำนาได้เลย

ที่บ้านหนองเดิ่น ต.หนองแสง อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม หลังฤดูเกี่ยวข้าว ชาวบ้านจะปล่อยผืนนาให้รกร้างว่างเปล่า เนื่องจากพื้นเป็นดินเค็ม ไม่สามารถเพาะปลูกได้ เห็นได้จากผืนดินมีส่าเกลือมีขาวปกคลุม ในช่วงนี้ชาวบ้านจึงประกอบอาชีพต้มเกลือแบบโบราณ เป็นอาชีพที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุ

ADVERTISMENT

วิเชียร อุดมสันต์ ชาวบ้านหนองเดิ่น วัย 73 ปี เล่าว่า พื้นที่นาสามารถปลูกข้าวได้ปีละครั้ง เพราะอาศัยน้ำฝน ไม่มีคลองชลประทานไหลผ่าน เมื่อหมดฤดูทำนา พื้นที่ไม่สามารถปลูกพืชอายุสั้นได้ เพราะพื้นที่เป็นดินเค็ม จึงอาศัยภูมิปัญญาปู่ย่าตายายที่ทำกันมาตั้งแต่ในอดีตกว่า 100 ปี คือ ทำเกลือแบบโบราณ

ลุงวิเชียร กล่าวอีกว่า การทำเกลือแบบนี้ เรียกกันว่าเกลือสินเธาว์ จะทำเฉพาะช่วงหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปี โดยรอผืนนาแห้งแล้งจนเกิดส่าเกลือตามหน้าดิน ก็ไปขูดหน้าดินมาต้มเกลือ เมื่อหลายสิบปีก่อน บริเวณนี้ชาวบ้านจะทำนาเกลือกันเกือบทั้งหมด โดยเจาะบ่อบาดาลสูบน้ำขึ้นมาใส่นา เมื่อได้เกลือแล้วเวลาล้างบ่อ ก็ชะล้างน้ำลงไปในลำน้ำเสียว ทำให้น้ำเค็ม ปลาตาย น้ำไม่สามารถนำมาอุปโภคได้ ภาครัฐจึงสั่งห้ามไม่ให้ทำนาเกลือ อาชีพทำนาเกลือเลยค่อยๆ หายไปจากพื้นที่ ปัจจุบันนี้ยังเหลือการทำเกลือแบบโบราณอยู่เพียง 2-3 รายเท่านั้น

ADVERTISMENT

“การทำเกลือ ใช้วิธีขูดส่าเกลือจากดิน หรือเรียกว่า “กวดขี้บ่อ” นำมาเทลงบนฮ่างเกลือซึ่งเป็นเนินดิน ข้างในมีแกลบ กะลามะพร้าว ฟางข้าว ทำเป็นวง เอาดินใส่ เติมน้ำ โดยต่อท่อพีวีซีออกมาจากดินให้น้ำจากด้านบน ค่อยๆ ซึมลงมาในโอ่ง เสมือนการกรองน้ำ โดยน้ำที่ไหลออกมาจะเป็นน้ำเค็ม จากนั้นนำไปต้มบนถาดเหล็ก เป็นเวลา 4-5 ชั่วโมง จะได้เกลือเป็นเม็ดๆ แต่ละวันสามารถต้มเกลือได้ 2-3 รอบ

จากนั้นตักเกลือใส่ตะกร้า รอจนเกลือแห้ง นำไปพักและตวงใส่ถัง เกลือที่ได้จะนำไปแลกข้าวกับเพื่อนบ้าน โดยเกลือ 2 ถังแลกข้าวได้ 3 ถัง หรือขายถังละ 150 บาท ลูกค้าบางคนให้ 200 บาท แต่ละปีสามารถทำเกลือได้ 2-3 เดือน หากฝนมาเร็วระยะเวลาทำเกลือจะลดลง เกลือที่นี่แตกต่างจากที่อื่น ที่ขายอยู่ทั่วไปรสชาติกะสิเค็มหลาย เค็มจนขม ส่วนเกลือที่นี่รสชาตินัวกว่า ทำปลาร้า ไม่เค็ม ไม่ดำ หรือนำมาโปะบนตัวปลาก่อนนำไปเผา” ลุงวิเชียร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image