ม.นครพนม วิจัยเพาะพันธุ์ “โสมภูลังกา” สมุนไพรชูกำลัง-สุดยอดยาอายุวัฒนะ
กลายเป็นที่ฮือฮา หลังจากสถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยนครพนม ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูล มีการวิจัยค้นพบ โสมภูลังกา ในพื้นที่ อุทยานแห่งชาติเขาภูลังกา อ.บ้านแพง จ.นครพนม ถือเป็นสมุนไพรเฉพาะถิ่น มีสรรพคุณชูกำลัง เป็นยาอายุวัฒนะ และมีการเร่ง วิจัยเพาะขยายพันธุ์ รองรับหลักสูตรแพทย์แผนไทย และการตั้งโรงพยาบาลแพทย์แผนไทย หลักสูตรแพทย์แผนไทยบัณฑิต ควบคู่กับการอนุรักษ์พันธุ์พืชให้สามารถที่จะขยายพันธุ์ได้อย่างถูกต้อง และนำมาสกัดสารสำคัญเพื่อนำไปรักษาสุขภาพประชาชน
ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค หรือการรักษาในบางตัวตามสารสกัดที่ได้ออกมา และการทำผลิตภัณฑ์เพื่อการรักษา ให้ประชาชนสามารถใช้สมุนไพรที่บ้านของตนเองในการรักษา ลดการใช้ยาที่นำเข้า และลดผลข้างเคียงของยาด้วย สามารถเก็บเมล็ดไปทำการวิจัยและขยายพันธุ์ต่อไป และเมื่อได้สูตรการเพาะพันธุ์ จะถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้มีการขยายพันธุ์ปลูก เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่และชุมชนต่อไปในอนาคต
โดยก่อนนี้ ทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ้งลาวัลย์ เอี่ยมกุศลกิจ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประกันคุณภาพการศึกษา พร้อมด้วยคณาจารย์ และคณะอนุกรรมการจัดทำหลักสูตรแพทย์แผนไทยบัณฑิต พร้อมด้วย นายบรรจง กุณรักษ์ ประธานเครือข่ายหมอสมุนไพร อ.บ้านแพง จ.นครพนม และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา ต.ไผ่ล้อม อ.บ้านแพง จ.นครพนม เพื่อสำรวจสมุนไพรพื้นถิ่นเฉพาะเพื่อการอนุรักษ์และขยายพันธุ์พืชสมุนไพร รองรับการเปิดหลักสูตรแพทย์แผนไทยบัณฑิต พบว่า ในพื้นที่ 1 ตารางเมตร บนอุทยานแห่งชาติภูลังกา จะมีตัวยาไม่น้อยกว่า 25 ตัวยา แต่ก่อนชาวบ้านอาศัยพืชสมุนไพร รักษาโรค โดยเฉพาะโสมภูลังกา ถือเป็นสมุนไพรที่หายาก และมีสรรคุณดีต่อสุขภาพหลายด้าน ทั้งรักษาโรค ชูกำลัง จึงเหมาะที่จะทำการวิจัยต่อยอดให้นำมาใช้ประโยชน์ เป็นการรักษาทางเลือก สอดคล้อง รองรับหลักสูตรแพทย์แผนไทย และการตั้งโรงพยาบาลแพทย์แผนไทย หลักสูตรแพทย์แผนไทยบัณฑิต
นายบรรจง กุณรักษ์ ประธานเครือข่ายหมอสมุนไพร อ.บ้านแพง จ.นครพนม เปิดเผยว่า บนพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกามีพืชสมุนไพรเป็นจำนวนมาก จากการเก็บข้อมูลของหมอยาพื้นบ้าน พบว่า ในพื้นที่ 1 ตารางเมตร มีตัวยาสมุนไพรไม่น้อยกว่า 25 ตัวยา ชาวบ้านมักจะนำสมุนไพรมาใช้ในการบำรุง ดูแล และการรักษา ซึ่งถือเป็นทางเลือกอีกทางที่ควบคู่กับการดูแลรักษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบัน
นอกจากนี้ โดยเฉพาะ โสมภูลังกา มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการแก้เมื่อย บำรุงกำลัง รักษาข้อกระดูก ส่วนใหญ่จะนำมาต้มน้ำดื่ม หรือทำการบดผสมน้ำผึ้งปรุงเป็นยา สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งใบและลำต้น พืชชนิดนี้มักจะพบเห็นบนยอดหน้าผาสูงเท่านั้น ยากต่อการพบเห็นโดยทั่วไป ด้วยสรรพคุณที่หลากหลายของพืชสมุนไพรชนิดนี้ เมื่อชาวบ้านพบเห็นจึงตัดลงมาทั้งหมด ทำให้ปัจจุบัน โสมภูลังกา เริ่มหายากและใกล้จะสูญพันธุ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกับอุทยานแห่งชาติภูลังกา และวัดในพื้นที่ใกล้เคียง อนุรักษ์ด้วยการเพาะปลูกเพื่อเตรียมขยายพันธุ์
ส่วน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ้งลาวัลย์ เอี่ยมกุศลกิจ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประกันคุณภาพการศึกษา กล่าวว่า การลงสำรวจพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อทำการคัดเลือกสมุนไพรที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นถิ่น เนื่องจากมหาวิทยาลัยนครพนม เตรียมที่จะทำหลักสูตรแพทย์แผนไทยบัณฑิต ขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการจัดทำร่างหลักสูตร การสำรวจพื้นที่ศึกษาข้อมูลของสมุนไพรเพื่อที่จะใช้ในการจัดการเรียนการสอนและการวิจัย รวมถึงการแปรรูปสมุนไพรเฉพาะของพื้นถิ่น และการสนับสนุนให้เกิดรายได้ของชุมชน
จะมีการนำสมุนไพรเหล่านี้ไปอนุรักษ์พันธุ์พืชให้สามารถที่จะขยายพันธุ์ได้อย่างถูกต้อง และนำมาสกัดสารสำคัญเพื่อนำไปรักษาสุขภาพประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค หรือการรักษาในบางตัวตามสารสกัดที่ได้ออกมา และการทำผลิตภัณฑ์เพื่อการรักษา ให้ประชาชนสามารถใช้สมุนไพรที่บ้านของตนเองในการรักษา ลดการใช้ยาที่นำเข้า และลดผลข้างเคียงของยาด้วย บางส่วนเราสามารถเก็บเมล็ดไปทำการวิจัยและขยายพันธุ์ต่อไปได้ และเมื่อเราได้สูตรการเพาะพันธุ์ จะถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้มีการขยายพันธุ์ปลูก เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่และชุมชนอีกมิติหนึ่ง