‘ไพจิตร มานะศิลป์’ ประธานหอการค้าโคราช ‘กางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ พลิกโฉมเมืองย่าโม’
จากการประชุมคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา วันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมอินทนากรวิวัฒน์ หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา มีวาระสำคัญ คือ การเลือกประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ประจำปีบริหาร 2568-2569 โดยที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบให้ “ไพจิตร มานะศิลป์” ดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาคนใหม่ พร้อมแต่งตั้งฝ่ายบริหารต่างๆ เพื่อทำหน้าที่คณะกรรมการหอการค้าฯชุดใหม่
สำหรับ “ไพจิตร มานะศิลป์” หรือบู้ เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ “คลังคาซ่า” กลางเมืองโคราช มูลค่าโครงการกว่า 10,000 ล้านบาท เป็นบุตรชายคนสุดท้องของไพศาล-เสาวลักษณ์ มานะศิลป์ ผู้สร้างอาณาจักรห้างท้องถิ่น “คลังพลาซ่า” ที่อยู่คู่กับคนโคราชมานาน ถือเป็นหนุ่มใหญ่ไฟแรง ที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารธุรกิจมายาวนาน เคยเป็นกรรมการและที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาหลายสมัย และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม YES (Young Entrepreneur Seminar) ในภายหลัง คือ YEC (Young Entrepreneur Chamber of Commerce) ส่งเสริมธุรกิจคนรุ่นใหม่ในจังหวัด
หลัง “ไพจิตร มานะศิลป์” ก้าวขึ้นรับไม้ต่อผู้นำเศรษฐกิจโคราช ได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจน “เราจะทำให้โคราชกลับมาคึกคักทั้ง 32 อำเภอ และสร้างความภูมิใจให้คนโคราชด้วยนโยบาย ‘KORAT FIRST’ กับภารกิจ “เชื่อมต่อ-ยกระดับ-พลิกโฉม” อีกทั้งคณะกรรมการชุดใหม่เต็มไปด้วยกลุ่มคนรุ่นใหม่ไฟแรง Young Entrepreneur Chamber (YEC) กว่า 26 คน จากทั้งหมด 35 คน พลังคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้เตรียมขับเคลื่อนโคราชสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจอีสานใต้ โดยวางยุทธศาสตร์ 3 ฐานราก คือ
1.เสริมแกร่งสมาชิก ด้วย Business Matching และสิทธิประโยชน์กว่า 100 รายการ โดยให้ความสำคัญกับสมาชิกหอการค้า ผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่มากขึ้น โดยเฉพาะการเสริมเขี้ยวเล็บ จัดอบรมความรู้ เพิ่มศักยภาพ และจัด Business Matching หาช่องทางการตลาด กระตุ้นให้สมาชิกมีส่วนร่วมมากขึ้น มอบสิทธิพิเศษในโครงการสิทธิประโยชน์ของสมาชิก โดยร่วมกับเครือข่ายหอการค้าทั่วประเทศให้สามารถใช้ส่วนลดไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก ให้คำแนะนำปรึกษาแก่สมาชิกที่ประสบปัญหาต่างๆ เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ รวมทั้งช่วยเหลือให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น เพื่อมีความพร้อมสู้กับเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน
2.กระตุ้นเศรษฐกิจ 32 อำเภอ ผ่านการยกระดับสินค้าชุมชนและท่องเที่ยว เริ่มจากการพัฒนาเศรษฐกิจภายในเมืองซึ่งเศรษฐกิจค่อนข้างเงียบเหงา ภายใน 2 ปีนี้ จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมาให้เกิดความคึกคัก จะกระตุ้นเศรษฐกิจทั้ง 32 อำเภอ ด้วยการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ของแต่ละอำเภอ ให้มีจุดเด่น ให้ทีมนักพัฒนาและออกแบบเข้าไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ของสินค้าต่างอำเภอ ชูจุดเด่นออกมาขายให้คนรู้จักและสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อไป
3.เร่งเครื่องเมกะโปรเจ็กต์ รองรับการเป็นเจ้าภาพการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก 2029 โดยแบ่งการทำงานเป็น 7 ฝ่าย มีรองประธานหอการค้ากำกับดูแลทั้ง 7 ฝ่าย เพื่อขับเคลื่อนงานให้รวดเร็วมากขึ้น มี “เป้าหมาย” คือเพิ่ม GPP โคราชให้โต 3-5% ต่อปี และดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาให้ได้มากที่สุด”
ประธานหอการค้ากล่าวว่า หอการค้าโคราช ยุคใหม่ กำหนด 5 ยุทธศาสตร์เด่น คือ 1.KORAT FIRST: ซื้อของคนโคราช สร้างวงจรเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยรณรงค์ให้คนโคราชอุดหนุนสินค้าท้องถิ่นของคนโคราช พร้อมจับมือ 4 มหาวิทยาลัยพัฒนานวัตกรรมสินค้า โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะ, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมฟื้นชีวิตย่านเมืองเก่า, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน สนับสนุนเรื่องระบบขนส่งมวลชนและผังเมือง และมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล สนับสนุนศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ
2.ฟื้นเศรษฐกิจเมือง-อำเภอ คู่ขนาน โดยในเมืองตั้งเป้า “ปลุก” ย่านการค้าเดิมด้วยกิจกรรมไนต์มาร์เก็ต ซึ่งมีศักยภาพหลายพื้นที่ที่สามารถทำให้กลับมาคึกคัก เป็นตลาดไนต์ที่กลับมามีชีวิตอีกครั้ง, ส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนในตัวเมืองเพื่อรองรับโครงการขนาดใหญ่ที่จะเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ หากไม่มีการขนส่ง หรือฟีดเดอร์ในเมืองรองรับที่ดี จะทำให้การเดินทางเข้าออกไม่สะดวก และทำให้เมืองไม่เติบโต ส่วนพื้นที่ต่างอำเภอ จะเร่งออกแบบการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ให้มากขึ้น ชูสินค้าจุดเด่นแต่ละพื้นที่ให้ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาให้ได้มากที่สุด เช่น ผ้าไหมปักธงชัย ไวน์ผลไม้พิมาย เป็นต้น
3.ระเบิดเมกะโปรเจ็กต์ก่อนปี 2029 เร่งผลักดันโครงการสำคัญ ให้ทันการจัดงาน “มหกรรมพืชสวนโลก 2029” ซึ่งคาดการณ์จะมีเงินสะพัดมากกว่า 20,000 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นโครงการผันน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่ได้รับงบประมาณจากภาครัฐในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร มูลค่า 4,000 ล้านบาท หากโครงการแล้วเสร็จจะแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำระยะยาว มีน้ำหล่อเลี้ยงจังหวัดนครราชสีมาได้ตลอดทั้งปี, โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (กรุงเทพฯ-โคราช), โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (มอเตอร์เวย์) และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โดยจะเร่งและติดตามทั้ง 3 โครงการนี้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายในปี 2571 เพื่อรองรับการเดินทางนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาชมงานมหกรรมพืชสวนโลกในปี 2572 ซึ่งคาดว่ามีมากกว่า 4 ล้านคน ซึ่งจะก่อให้เกิดเงินสะพัดกว่า 18,942 ล้านบาท เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 9,163 ล้านบาท รายได้จากการจัดเก็บภาษี 3,429 ล้านบาท และสร้างงาน 36,003 อัตรา
นอกจากนี้ยังมี โครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติ รองรับการประกาศเป็นเมืองไมซ์ (MICE City), โครงการพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์โลก ที่มีการสำรวจหลายครั้ง แต่ยังไม่ได้รับงบประมาณก่อสร้าง ประมาณ 194 ล้านบาท บริเวณแหล่งฟอสซิลริมแม่น้ำมูล อ.เฉลิมพระเกียรติ หากก่อสร้างได้จะรองรับนักท่องเที่ยวจากทั้งไทยและต่างชาติ สร้างกิจกรรมร่วมกับชุมชนและเครือข่ายในและต่างประเทศที่สามารถใช้รองรับการตรวจประเมินซ้ำในทุก 4 ปีของโครงการจีโอพาร์คโลก ยูเนสโก สร้างความเชื่อมโยงเส้นทางช้างดึกดำบรรพ์โคราชสู่ช้างสุรินทร์ได้ ซึ่งสร้างรายได้ให้จังหวัดมหาศาล, โครงการเมืองใหม่สุรนารี ที่รองรับความเจริญของโคราช ทั้งหมดนี้ หอการค้านำเสนอคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎรแล้ว และจะเร่งติดตามความคืบหน้าในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ จ.นครราชสีมา
“ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างเครือข่ายธุรกิจระดับชาติ-นานาชาติ การให้บริการด้านต่างๆ กับผู้ประกอบการ และสมาชิกหอการค้าฯ ซึ่งหอการค้าโคราชมีศูนย์ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผู้ประกอบการอยู่หลายด้าน ทั้งศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ, ศูนย์ธุรกิจ SMEs, ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคเอกชน, ศูนย์อาเซียนศึกษา, ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทางธุรกิจ, ศูนย์รับสมัครศึกษาต่อของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ให้บริการจัดทำ APEC Business Travel Card เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนต่างชาติ ให้คำปรึกษาการขยายตลาดกับนักลงทุน, ออกใบรับรองการเป็นสมาชิกหอการค้า เพื่อนำไปยื่นในการดำเนินกิจการ และการยกระดับ ต่อยอดธุรกิจโดยการหาแหล่งเงินทุนให้สมาชิก และยุทธศาสตร์ที่ 5 ให้ความสำคัญกับการดูแลสังคมผ่านโครงการ ‘โคราชไม่ขาดเลือด’ ตั้งเป้าหมายรณรงค์ให้มีผู้เข้ามาบริจาคเลือดให้ได้ปีละ 5 แสนซีซี และโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติในวาระต่างๆ ตลอดทั้งปี”
ประธานหอการค้ายังกล่าวอีกว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น พื้นที่เมืองโคราชได้รับแรงสั่นสะเทือนหลายจุด จากการตรวจเช็กอาคารสูง คอนโดมิเนียมต่างๆ ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ แต่คาดว่าโคราชจะได้รับอานิสงส์จากเหตุการณ์นี้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กรุงเทพฯ จะเข้ามาซื้อบ้านพักที่อยู่อาศัยในโคราชมากขึ้น โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ในแนวราบ ซึ่งมีจำนวนมากในจังหวัดนครราชสีมา จึงหารือกับสมาคมอสังหาริมทรัพย์โคราชเพื่อเตรียมรับมือ หากโครงการรถไฟความเร็วสูงสร้างเสร็จ จะทำให้การเดินทางเข้ากรุงเทพฯรวดเร็วมากขึ้น คนทำงานสามารถเดินทางไป-กลับได้สะดวก
“ทิศทางใหม่…โคราชจะไม่เหมือนเดิมด้วยสโลแกน Connect the Dots หอการค้าโคราชยุคใหม่จะไม่ใช่แค่ศูนย์รวมธุรกิจ แต่เป็นผู้เชื่อมโยง ที่รวมทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน ตั้งแต่เกษตรกรรุ่นเก่า สู่สตาร์ตอัพรุ่นใหม่ ตั้งแต่ถนนหนทางในอำเภอ ถึงเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่กำลังมาถึงความสำเร็จของโคราช ต้องมาจากความร่วมมือของทุกคน…เราจะเดินไปด้วยกัน!”