เมื่อวันที่ 12 เมษายน นายแพทย์สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) นครราชสีมา เปิดเผยว่า รับรายงานสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ 32 อำเภอ ของ จ.นครราชสีมา รอบ 6 เดือน พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมติดเชื้อพิษสุนัขบ้าจำนวน 5 ตัว ในพื้นที่ อ.ประทาย 2 ตัว, อ.เมืองยาง อ.บัวใหญ่และ อ.ชุมพวง แห่งละ 1 ตัว
โดยมี ชายอายุ 57 ปี ภูมิลำเนา ชาว อ.ประทาย เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า 1 ราย ไทม์ไลน์อาการป่วย วันที่ 2 เม.ย. มีอาการไข้ หนาวสั่น กลืนลำบาก ไม่กินอาหาร วันที่ 4 เม.ย. หายใจไม่อิ่ม ต่อมาญาติพามารักษาที่ รพ.ประทาย วันที่ 5 เม.ย. กระวนกระวาย หายใจลำบากเอาน้ำให้แล้วสะบัดหนี คล้ายโรคพิษสุนัขบ้า
วันที่ 6 เม.ย. สอบสวนโรคพบผู้ป่วยคลุกคลีกับสุนัขเลี้ยงไว้ 16 ตัว ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ถูกหมากัดที่ขาไม่ได้รับวัคซีนและไม่สามารกระบุตัวสุนัขที่กัดได้ วันที่ 8 เม.ย. รพ.มหาราชนครราชสีมา ส่งตรวจหาเชื้อพิษสุนัขบ้า 4 ตัวอย่าง (น้ำลาย น้ำไขสันหลัง ปมรากผม และปัสสาวะ) เวลา 19.07 น. วันที่ 9 เม.ย. ผู้ป่วยเสียชีวิต วันที่ 10 เม.ย. ผลตรวจพบเชื้อพิษสุขนัขบ้าในน้ำลายและปมรากผม
นพ.สุผล กล่าวว่า ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อกำหนดมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในคนและสัตว์ โดยมี นพ.ชวิศ เมธาบุตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา นพ.กฤตินันท์ บุญรำไพ รพ.มหาราช นายสัตวแพทย์รัชภูมิ เขียวสนาม หัวหน้ากลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมาและคณะทำงาน ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์พื้นที่ อ.ประทาย ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้น
ทั้งนี้ โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คนมีความรุนแรงถึงชีวิต เมื่อปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้ในการรักษาแต่สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน ซึ่งพบตลอดทั้งปี ไม่ได้เกิดเฉพาะช่วงหน้าร้อนอย่างที่ทุกคนเข้าใจ ขอให้ประชาชนพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี โดยปีแรกต้องฉีดวัคซีน 2 เข็ม เมื่อสัตว์เลี้ยงอายุครบ 2 เดือน ควรนำไปฉีดวัคซีนเข็มเเรก และฉีดเข็มที่ 2 หลังจากเข็มแรก 3 – 4 สัปดาห์ หลังจากนั้นฉีดกระตุ้นทุกปี หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า
หากถูกสัตว์เลี้ยงสุนัข แมว กัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าตา ปาก หรือบาดแผลแม้เพียงเล็กน้อย ต้องป้องกันอย่างถูกวิธีทันที ล้างแผล ใส่ยา หาหมอ ฉีดวัคซีนต่อให้ครบชุด เนื่องจากมีระยะฟักตัวเฉลี่ยนาน 3 เดือน เร็วสุด 4 วัน บางรายอาจเป็นปี จึงจะแสดงอาการป่วย ซึ่งเมื่อมีอาการปรากฏจะไม่มีทางรักษาและเสียชีวิตทุกราย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมโดยเร็ว