‘วัดร้องเก่า’ ฟื้นฮีตฮอย ‘ปอยลูกแก้ว’ ดึง18เยาวชนบวชเรียนภาคฤดูร้อน
ในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนที่กลุ่มเด็กๆ และเยาวชนใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บ้านกับครอบครัวในช่วงเวลานานหลายเดือน พ่อแม่ผู้ปกครองมักส่งเด็กชายไปบวชเณรภาคฤดูร้อนเพื่อใช้เวลาศึกษาพระธรรม เรียนรู้พระธรรมวินัย ขัดเกลา ฝึกฝนตนเอง และปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม
ในพื้นที่ภาคเหนือมีรูปแบบการบวชตามประเพณีกลุ่มชาติพันธุ์ล้านนา เรียกว่า บวชลูกแก้ว ในลักษณะที่มีเครื่องนุ่งห่มแตกต่างจากการบวชภาคฤดูร้อนทั่วไป ที่วัดร้องเก่า ต.ร่มเย็น อ.เชียงคำ จ.พะเยา เป็นอีกแห่งที่จัดงานบวชภาคฤดูร้อน โดย “พระครูปิยะชัยสิทธิ์” หรือ “ครูบาอู๋” เจ้าอาวาสวัดร้องเก่า จัดตามประเพณีล้านนาในกิจกรรม “ฟื้นฮีต สานฮอย ปอยลูกแก้ว” ซึ่งในปีนี้มีเด็กๆ และเยาวชนอายุเกิน 20 ปี มาร่วมพิธีบวช รวม 18 คนด้วยกัน ในพื้นที่ศาลาอเนกประสงค์ของวัดร้องเก่า
พระครูปิยะชัยสิทธิ์ เล่าว่า เดิมทีการบวชแบบนี้ในสมัยก่อนมีหลายแห่งทำกัน ทั้ง จ.พะเยา จ.น่าน จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ แต่ด้วยยุคสมัยเริ่มเปลี่ยนไป การดำรงไว้ซึ่งประเพณีแบบเดิมเริ่มถูกกลืนหายไปกับกาลเวลา ประกอบกับการปรับเปลี่ยนหลายๆ อย่างของวัดวาอารามสมัยนี้จะเห็นถึงความทันสมัยเป็นจำนวนมาก
“อาตมาศึกษาเรื่องของการบวชนี้มาสักระยะ รวมทั้งจัดกิจกรรมบรรพชา-อุปสมบทหมู่นี้มาแล้วหลายปี แต่ทุกปีเยาวชนและเด็กๆ มาน้อยมาก ต่างจากปีนี้ที่มีคนเข้าร่วมบวชถึง 18 คนด้วยกัน ผู้บวชสามเณรนั้นเป็นเด็กๆ ที่เดินทางมาจากบ้านห้วยปุ้ม หมู่ 24 ต.ร่มเย็น ส่วนใหญ่เป็นเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ม้งทั้งหมด ส่วนผู้อุปสมบทที่มีอายุเกิน 20 ปี เป็นเยาวชนในพื้นที่ อ.เชียงคำ ที่ต้องการบวชทดแทนคุณพ่อแม่เข้ามาร่วมด้วย
การบวชลูกแก้วมีเครื่องนุ่งห่มที่แปลกตา เชื่อว่าไม่ค่อยมีใครเห็นเครื่องแต่งกายแบบนี้ เพราะปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นชุดนาคที่หาซื้อตามร้านสังฆภัณฑ์ได้ทั่วไป ทั้งนี้ เครื่องนุ่งห่มดังกล่าวอาตมาได้ให้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ชำนาญเรื่องเครื่องแต่งกายนี้ผลิตขึ้นมาเอง รวมทั้งสวมหัวนาค หรือที่คนสมัยก่อนเรียกว่า “กระโจม” ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายอย่างหนึ่งในชุดเครื่องแต่งกายของนาคในสมัยก่อนเช่นกัน อีกนัยหนึ่งสื่อความหมายถึงมงกุฎของกษัตริย์ อันเป็นเครื่องประดับชิ้นหนึ่ง ดังเช่นสมัยที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงออกบวชเมื่อนานมาแล้ว อาตมาอยากอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็นการบวชนาคในสมัยก่อนถ้าเทียบกับสมัยนี้ และเกรงว่าจะสูญหายไปหากไม่อนุรักษ์ไว้”
สำหรับเยาวชนที่เข้ารวมพิธีบวชทั้งหมด หลังผ่านพิธีบวชแล้วจะใช้เวลาจำพรรษา 15 วัน เพื่อศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัย โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองยังปลื้มอกปลื้มใจที่ได้เห็นชายผ้าเหลือง ที่ได้บวชลูกหลาน ซึ่งถือว่าจะได้บุญกุศลมากตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ