(18 ม.ค.59) เมื่อเวลา 15.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณกลางสวนป่าห้วยจันทน์ ต.ห้วยจันทน์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ได้มีชาวสวนยางพาราที่เป็นชาว อ.ขุนหาญ จากหลายหมู่บ้าน จำนวนประมาณ 100 คน นำโดย นายประสิทธิ์ มีฤทธิ์ พร้อมด้วย นายสมบัติ จำมี และนางปาริชาติ สินศิริ พากันมารวมกลุ่มค้านการที่เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันและรักษาป่าที่ ศก 1 นำโดย นายธนิตย ทวีชื่น หัวหน้าหน่วยป้องกันและรักษาป่าที่ ศก 1 ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ จำนวนประมาณ 70 คน มาทำการตัดโค่นต้นยางพาราที่กำลังโต อายุประมาณ 2 – 3 ปี ที่ชาวบ้านปลูกเอาไว้ในบริเวณสวนป่าห้วยจันทน์ โค่นล้มเป็นบริเวณกว้าง ประมาณ 100 ไร่ โดยชาวบ้านได้ทำการโค่นต้นยูคาลิปตัสขนาดใหญ่ขวางทางเจ้าหน้าที่เอาไว้ และมีชาวบ้านพากันไปปล่อยลมรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ จำนวน 6 คัน เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ออกจากบริเวณสวนป่าห้วยจันทน์ เนื่องจากว่าชาวบ้านโกรธแค้นที่เจ้าหน้าที่เข้าไปตัดโค่นต้นยางที่ปลูกเอาไว้เสียหายนับหมื่นต้น ขณะเดียวกัน พ.ต.จักรกฤษณ์ ช่วยพันธุ์ นายทหารยุทธการชุดควบคุมทหารปืนใหญ่ กองกำลังสุรนารี ได้รับมอบหมายจาก พ.อ.ณรงค์ กลั่นวารี ผบ.กองกำลังรักษาความสงบประจำพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ได้นำกำลังทหาร ประมาณ 50 นาย เข้ามารักษาความสงบเรียบร้อย และได้มีการเจรจากันกับกลุ่มชาวบ้านที่เป็นชาวสวนยางพารา
นายประสิทธิ์กล่าวว่า เมื่อช่วงเวลาประมาณ 03.00 น.ของวันที่ 18 ม.ค.59 ได้มีกลุ่มชายฉกรรจ์ จำนวนประมาณ 70 คน พากันเข้ามาใช้มีด เลื่อยยนต์ และขวาน บุกเข้าไปตัดโค่นต้นยางของชาวบ้านที่ปลูกเอาไว้ในเขตสวนป่าห้วยจันทน์ ชาวบ้านที่เฝ้าสวนยางเห็นเหตุการณ์ ได้รีบแจ้งให้กลุ่มชาวสวนยางได้ทราบ และได้พากันรวมกลุ่มกันมายังที่เกิดเหตุ ซึ่งเมื่อกลุ่มชายฉกรรจ์ที่ส่วนมากเป็นวัยรุ่น เห็นชาวบ้านมาเป็นจำนวนมาก ได้พากันวิ่งหลบหนีเข้าไปในป่าสวนยางที่ปลูกต้นมันสำปะหลังด้วย ต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาเจรจากับชาวบ้าน ทำให้กลุ่มชายฉกรรจ์พากันออกมาจากป่าและขึ้นรถปิคอัพ จำนวนประมาณ 7 คัน ออกไปลุยตัดต้นยางบริเวณใกล้เคียงต่อไป ซึ่งพวกตนไม่สามารถที่จะห้ามปรามได้ ต้องปล่อยให้ต้นยางพาราที่ชาวบ้านพากันปลูกไว้ถูกตัดโค่นไปเรื่อย ๆ รวมแล้วประมาณ 100 ไร่
นายประสิทธิ์กล่าวต่อไปว่า ต้นยางพาราที่ชาวบ้านพากันเข้ามาปลูกในสวนป่าห้วยจันทน์นี้ เป็นพื้นที่ดินทำกินที่พวกตนทำกินมานานประมาณ 40 – 50 ปีแล้ว ต่อมาได้มีการประกาศให้สวนป่าห้วยจันทน์อยู่ในความควบคุมดูแลของหน่วยป้องกันและรักษาป่าที่ ศก 1 ซึ่งพวกตนได้ยื่นหนังสือเรียกร้องขอที่ดินทำกินผืนนี้จากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งมีการสำรวจพื้นที่ โดยการใช้ภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อเป็นการพิสูจน์สิทธิ์โดยตามมติ ครม.2 ก.พ.42 และ 9 ก.พ.42 แจ้งว่า หากพิสูจน์สิทธิ์ว่าชาวบ้านทำกินก่อนปลูกต้นยูคาลิปตัส ก็จะให้สิทธิ์ชาวบ้านในที่ดินทำกินผืนนี้ แต่หากผลการพิสูจน์สิทธิ์ว่าชาวบ้านปลูกต้นยางหลังการปลูกต้นยูคาลิปตัส ชาวบ้านจะต้องออกจากบริเวณผืนป่าที่ปลูกยางพารานี้ไว้ ซึ่งขณะนี้กำลังรอเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาทำการสอบสิทธิ์ให้กับชาวบ้าน จำนวน 602 ราย แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้เข้ามาตัดต้นยางพาราของชาวบ้านจำนวนมาก โดยที่ไม่รอการสอบสิทธิ์ให้กับชาวบ้านแต่อย่างใด ซึ่งหากว่าจะมีการพูดคุยกันเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ในระดับจังหวัด ตนขอฝากไปถึง ผวจ.ศรีสะเกษว่า ควรที่จะอนุญาตให้พวกตนกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเข้าไปชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องให้คณะกรรมการได้รับทราบด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ยึดแต่ระเบียบกฎหมายแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงเรื่องปากท้องความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ยากไร้
ด้านนายธนิตย ทวีชื่น หัวหน้าหน่วยป้องกันและรักษาป่าที่ ศก 1 กล่าวว่า การที่นำเจ้าหน้าที่มาตัดโค่นยางพารานั้น เนื่องจากว่า เป็นบริเวณที่ศาลพิพากษาแล้วว่า รุกล้ำเข้าไปในเขตสวนป่าห้วยจันทน์ จำนวนทั้งสิ้น 100 ราย พื้นที่ 1,900 ไร่ และเป็นสวนยางพาราที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ตนจึงได้รับคำสั่งให้มาทำการยึดคืนพื้นที่ป่าเป็นของทางราชการ ซึ่งกรณีที่มีการคัดค้านและต่อต้านนี้ ตนจะได้นำเรื่องนี้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เพื่อจะได้นำเรื่องนี้นำเข้าหารือในที่ประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการทำลายทรัพยากรป่าไม้ระดับจังหวัด เพื่อพิจารณาต่อไป และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีปัญหากับกลุ่มชาวบ้านที่ต่อต้าน ตนจึงได้สั่งการทางวิทยุสื่อสารให้เจ้าหน้าที่ทุกคนกลับไปประจำที่ตั้งตามปกติ เพื่อรอคำสั่งจากหน่วยเหนือว่าจะสั่งการให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังจากที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ทั้งหมดออกไปจากสวนป่าห้วยจันทน์แล้ว ชาวบ้านที่รวมกลุ่มคัดค้านก็ได้พากันสลายตัว และได้จัดเวรยามเฝ้ารักษารอบสวนยางพาราที่ปลูกไว้ที่บริเวณสวนป่าห้วยจันทน์ ทั้งนี้ เนื่องจากเกรงว่าอาจจะมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาลักลอบตัดโค่นต้นยางพาราที่ชาวบ้านปลูกเอาไว้จำนวนหลายร้อยไร่