สงขลาโอด ราคายางดิ่งต่อเนื่อง โวยรัฐพูดหลายปี ใช้ยางทำถนน ยังเป็นรูปธรรมน้อยมาก

แฟ้มภาพ

ราคายางในตลาดท้องถิ่นยังคงปรับตัวลดลง ในขณะที่สหกรณ์กองทุนสวนยางบางแห่งเริ่มปรับตัว ด้วยการซื้อและขายน้ำยางสด แทนการแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน ลดความเสี่ยงขาดทุน

รายงานข่าวจากจังหวัดสงขลาเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ว่า สถานการณ์ราคายางพาราในตลาดท้องถิ่นยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทำให้ชาวสวนยางยังคงมีความกังวล เนื่องจากยังไม่ชัดเจนว่าราคาจะหยุดที่กิโลกรัมละเท่าไหร่ หลังจากราคาร่วงลงมาต่อเนื่องตลอด 2 สัปดาห์ จากราคากิโลกรัมละ 70 บาทเศษเหลือเพียงกิโลกรัมละ 50 บาทเศษ และในวันนี้ ราคาน้ำยางสดในตลาดท้องถิ่น ปรับลดลงมาเหลือกิโลกรัมละ 47-48 บาทเท่านั้น ทำให้รายได้ของชาวสวนยางหายไปจำนวนมาก ในขณะที่ยังคงมีภาระค่าครองชีพเท่าเดิม

ทั้งนี้ ในส่วนของสหกรณ์กองทุนสวนยางหลายแห่ง ซึ่งก่อนหน้านี้เคยรับซื้อน้ำยางสดจากสมาชิก เพื่อนำไปแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน เพื่อเพิ่มมูลค่า แต่เมื่อราคา น้ำยางสดกับยางแผ่นรมควันมีราคาต่างกันไม่ถึง 5 บาท จึงจำเป็นต้องปรับตัว อย่างเช่น สหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด นายกิตติธัช ณ วาโย ผู้ช่วยผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด บอกว่า ในขณะนี้ได้ปรับตัวด้วยการรับซื้อน้ำยางสดจากสมาชิกแล้ว นำน้ำยางไปส่งจำหน่ายต่อทันที เพื่อลดความเสี่ยงในการขาดทุนจากการแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน แต่แม้จะจำหน่ายน้ำยางสดในขณะนี้ก็คือว่าขาดทุน เนื่องจากสหกรณ์จะรับซื้อน้ำยางสดจากสมาชิกในราคาสูงกว่าตลาดท้องถิ่น เฉลี่ยกิโลกรัมละ 2 บาท

นายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว ประธานสมาพันธ์เกษตรกรจังหวัดสงขลา ระบุว่า ในวันจันทร์นี้ ทางสมาพันธ์มีกำหนดที่จะนัดคณะทำงาน มาหารือ เพื่อกำหนดแนวทางในการเคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้องให้รัฐเข้ามาแก้ปัญหาราคายางพาราให้มีความเสถียร มากกว่าที่เป็นอยู่ และขอให้รัฐมีการทบทวน โครงการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการมา แต่กลับไม่ได้ผล อาทิ การทุ่มทุนในนิคมอุตสาหกรรมยางพารา หรือเมืองยาง หรือรับเบอร์ ซิตี้ ในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ แต่ก็ยังทำให้ราคายางดิ่งตัวลงอย่างมาก เพื่อปรับปรุง ทำให้ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่ามากขึ้น

Advertisement

นายสมพงษ์ ราชสุวรรณ ประธานสหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอนาทวี กล่าวว่า ราคายางที่ตกต่ำต่อเนื่องโดยเฉพาะในตลาดท้องถิ่น สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวสวนยางอย่างมาก โดยแม้ราคาจะตกต่ำลง แต่ชาวสวนยางก็ยังคงต้องกรีดยางเพราะถือเป็นอาชีพหลัก หากไม่กรีดก็จะไม่มีรายได้เลย โดยราคาที่ลดต่ำต่อเนื่องมา 2 สัปดาห์ในครั้งนี้นั้น ยังไม่มีผู้ออกมาบอกถึงสาเหตุที่แท้จริง ทำให้เกษตรกรมีความกังวล ทั้งนี้ เครือข่ายชาวสวนยางหลายกลุ่มได้มีการยื่นข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลเพื่อให้เข้ามาดูแลแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นของการนำยางพารามาใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น อาทิ การใช้ทำถนน แม้จะมีการพูดต่อเนื่องกันมาหลายปี แต่ในทางรูปธรรมนั้น มีการนำมาใช้จริงน้อยมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image