ศาลฏีกายืนจำคุก 8 ปี”หมอสุพัฒน์”จ่ายสินไหม 9 แสน คดีค้ามนุษย์ ทนายชี้เป็นกรณีศึกษา

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 27 มิถุนายน ศาลจังหวัดเพชรบุรี นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำที่ อ 473/2556 คดีหมายเลขแดงที่ 4330/2557 โดยพนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรี เป็นโจทก์ มีนายสรพงษ์ หรือ กะลา (ไม่มีชื่อสกุล) หรือ นายสรพงษ์ ใจขัน โจทก์ร่วมที่ 1 นางผ่อนหรือพร (ไม่มีชื่อสกุล) โจทก์ร่วมที่ 2 นายตะแง (ไม่มีชื่อสกุล) โจทก์ร่วมที่ 3 และ พ.ต.อ.นพ.สุพัฒน์ เลาหะวัฒนะ อดีตอายุรแพทย์ โรงพยาบาลตำรวจ เป็นจำเลย ในความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่มีนายตะแง โจทก์ร่วมที่ 3 พ.ต.ท.ประสงค์ กุลจิตติปราณี รอง ผกก.ป.สภ.ท่ายาง นายสรไกร ศรศรี น.ส.ศิริวรรณ ว่องเกียรติไพศาล ทนายความ จากสภาทนายความ และน.ส.สุทธิมาศ สังข์อ๋อง เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครอง สำนักงานคุ้มครองและป้องกันการค้ามนุษย์ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ร่วมรับฟัง ส่วน พ.ต.อ.นพ.สุพัฒน์ ก่อนหน้านี้ต้องโทษประหารชีวิต คดีฆ่าแรงงานพม่า คดีอยู่ระหว่างฎีกา ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำบางขวาง กรุงเทพฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำคำสั่งศาลฏีกาไปอ่านให้ฟังที่เรือนจำดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีดังกล่าว โจทก์และโจทก์ร่วม ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรมหลายวาระ กล่าวคือ ให้ที่พักพิงซ่อนเร้นและช่วยเหลือนายสรพงษ์หรือกะลา และนางผ่อนหรือพร ชาวพม่าที่หลบหนีเข้าเมืองให้พ้นจากการจับกุม โดยรู้อยู่แล้วว่านายสรพงษ์และนางผ่อนไม่มีใบอนุญาตทำงาน และจำเลยยังแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ด้วยการใช้กำลังข่มขู่บังคับ ขู่เข็ญ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หน่วงเหนี่ยวกักขังนายสรพงษ์และนางผ่อน บังคับใช้แรงงาน ข่มขืนใจให้ทำงาน ทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ แก่นายสรพงษ์นางผ่อนและ ด.ญ.มะเหมี่ยว ด.ช.มะขาม บุตรของนายสรพงษ์และนางผ่อน บังคับให้ทำงานเป็นกรรมกรในไร่ของจำเลยโดยไม่ได้รับค่าจ้าง เป็นการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ และบังคับขู่เข็ญ กักขัง นายตาแงและข่มขืนใจให้ทำงาน โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ บังคับให้ทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างอันเป็นการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์
ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 เป็นเงิน 1,356,200 บาท โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นเงิน 756,200บาท โจทก์ร่วมที่ 3 เป็นเงิน 234,000 บาท ลงโทษความผิดตามพ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ โดยลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด รวมจำคุก 8 ปี 42 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพฐานให้ที่พักพิงซ่อนเร้นให้พ้นจากการจับกุม ศาลพิจารณาลดโทษกระทงละกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 8 ปี 33 เดือน ให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 เป็นเงิน 600,000 บาท ชำระค่าสินไหมให้แก่โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นเงิน 300,000 บาท ชำระค่าสินไหมโจทก์ร่วมที่ 3 เป็นเงิน 100,000 บาท
ต่อมาจำเลยอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นว่าความผิดฐานให้ที่พักพิง ซ่อนเร้น และช่วยเหลือด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้น พ้นจากการจับกุม และความผิดฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงานโดยฝ่าฝืนต่อกฏหมาย คดีขาดอายุความแล้ว ให้ยกฟ้องในส่วนนี้ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ แต่ลงโทษจำเลยไม่ได้ พิพากษายกฟ้องในส่วนนี้ ส่วนอื่นให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เหลือจำคุก 8 ปี 9 เดือน และให้ชำระค่าสินไหมแก่โจทก์ร่วมที่ 1 เป็นเงิน 600,000 บาท ชำระค่าสินไหมโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นเงิน 300,000 บาท
และต่อมาจำเลยยื่นฏีกา และได้รับการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างฎีกา จากนั้นจำเลยหลบหนีไปซ่อนตัวที่ประเทศเมียนมานานกว่า 2 ปี กระทั่งถูกติดตามจับกุม นำตัวกลับมา ปัจจุบันควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำบางขวาง
ทั้งนี้ศาลจังหวัดเพชรบุรี อ่านคำพิพากษาศาลฏีกาคดีค้ามนุษย์ โดยพิเคราะห์ว่าหลักฐานของพยานโจทก์เป็นไปด้วยความสมเหตุสมผล เชื่อว่าจำเลยกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ คงจำคุกจำเลยเป็นเวลา 8 ปี 9 เดือน และให้ชำระค่าสินไหมแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และ โจทก์ร่วมที่ 2 ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์
นายสรไกร ศรศรี ทนายความจากสภาทนายความ เปิดเผยว่า คดีนี้นับเป็นคดีประวัติศาสตร์ของประเทศไทย สามารถเป็นกรณีศึกษาถึงคำนิยามในความหมายของคำว่า “ค้ามนุษย์” เป็นบรรทัดฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าการค้ามนุษย์ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นการคุมขัง หน่วงเหนี่ยว ล่ามโซ่ ทำร้ายทุบตี เนื่องจากคดีนี้เป็นการบังคับโดยวิธีที่คนทั่วไปมองไม่เห็น ไม่มีการล่ามโซ่ ไม่มีการกักขัง แต่ใช้ลูกเมียของผู้เสียหายเป็นตัวประกัน มีการยึดบัตร ยึดเอกสาร แจ้งความดำเนินคดีเพื่อใช้กระบวนการทางกฎหมายข่มขู่บังคับให้แรงงานจำเป็นต้องทำงานให้อย่างจำยอม ขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ตำรวจจังหวัดเพชรบุรีที่ใส่ใจและเข้าใจในความหมายของคำว่าค้ามนุษย์ ด้วยการติดตามช่วยเหลือดำเนินการทางกฎหมายจนสามารถดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดได้
สำหรับคดีนี้ สืบเนื่องจากการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของนายสามารถ นุ่มจุ้ย และ น.ส.อรษา เกิดทรัพย์ สองสามีภรรยาชาว ต.กลัดหลวง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ต่อมาปลายปี 2555 นายสุเทพ เลาหะวัฒนะ พี่ชาย พ.ต.อ.นพ.สุพัฒน์ ได้ชี้เบาะแสจนพบรถกระบะของคนทั้งสองในบ้านพัก พ.ต.อ.นพ.สุพัฒน์ ที่ จ.นนทบุรี และพบแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองในไร่ดังกล่าว ทั้งยังพบว่ามีการทารุณแรงงานชาวพม่าหลายคนที่ทํางานโดยมิได้รับค่าตอบแทน จากนั้นมีการขุดพบซากโครงกระดูกมนุษย์ 3 ซากภายในไร่ส่วนตัวของ พ.ต.อ.นพ.สุพัฒน์ ที่ ต.กลัดหลวง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ต่อมาตรวจพิสูจน์ทางดีเอ็นเอพบว่าเป็นโครงกระดูกของนายอิต้า แรงงานชาวพม่าที่สูญหายไป ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรีสั่งฟ้อง พ.ต.อ.นพ.สุพัฒน์ 3 ข้อหา 1.คดีลักทรัพย์และรับของโจร 2.ร่วมกันฆ่าคนตายโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน และ 3.คดีรับคนงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงาน, ให้ที่พักพิงซ่อนเร้นแก่คนงานต่างด้าวเพื่อให้พ้นการจับกุม และข้อหาค้ามนุษย์ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว และ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ซึ่งศาลฏีกาพิพากษาเป็นที่สิ้นสุดในวันนี้

(แฟ้มภาพ)

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image