ยางใต้โต้นายกฯให้ลดพื้นที่ปลูก ซัดรอบข้างรายงานผิด ท้ากนย.ดีเบต ชี้นโยบายล้มเหลวสิ้นดี

ออกโรงโต้นายกฯลดพื้นที่ปลูกผลไม้ รอบข้างรายงานผิด ท้า กนย.ดีเบตทั่วประเทศ 20 ก.ค.นี้

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 11 กรกฎาคม ที่ อ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางและปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่นายกฯสั่งหน่วยราชการใช้ยางพาราในประเทศ แนะชาวสวนปลูกผลไม้ทดแทนว่า อย่าเสียเวลาให้รองโฆษกมาแถลงข่าว วันนี้นายกฯไม่เคยฟังชาวสวนยาง ฟังแต่ข้าราชการ กยท. พ่อค้า ถามว่ากองทุนพัฒนาสร้างเสถียรภาพเป็นโครงการที่ทาง กนย.ร่วมกับพ่อค้า ใช้งบ 1,200 ล้านบาท เพื่อเข้าแทรกแซงราคายางพาราวันละ 6.7 แสนตัน ท้ายสุดขายยางขาดทุนทุกวัน ต้นหายกำไรหด ถามว่าทำแบบนี้ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง หรือช่วยพ่อค้านายทุนกันแน่

“ในปี 2537-38 ช่วงนั้นยางราคาตก รัฐบาลสมัยนายชวน หลีกภัย แนะให้เกษตรกรปลูกไม้ผลในสวนยางแบบ พล.อ.ประยุทธ์ เจ๊งกันทั่วประเทศ สนับสนุนให้ชาวสวนยางโค่นยางปลูกลองกอง มังคุด เสริมสวนยาง ปรากฏว่ามังคุด กก.ละ 5 บาท ลองกอง 2.50 บาท แบบนี้ดีได้อย่างไร วันนี้บริบทในภาคใต้ ปล่อยให้ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชาวบ้านขึ้นมาแนะนำ อย่านำความรู้จากวิชาการมารุมสุม ถามว่าทำไม่แนะนำให้ปลูกไม้โตเร็วในสวนยาง ให้ตรงกับความต้องการของญี่ปุ่น ที่ต้องการถ่ายชีวมวลอัดเม็ด เพื่อต้องการลดพลังงานนิวคลียร์ วันที่เค้าเชิญตัวแทนจากประเทศไทยไปพูดคุย ทำไมตัวแทนจากประเทศไทยตอบเค้าไปว่า ประเทศไทยสนับสนุนให้ปลูกไม้ในสวนยางไร่ละ 15 ต้น ตอบไปได้อย่างไร ระดับตัวแทนจากประเทศไทย พื้นที่ปลูกยางกว่า 3 ล้านไร่ ไม่อับอายขายหน้าบ้างเชียวหรือ”

นายทศพลกล่าว นโยบายลดพื้นที่ 3 ล้านไร่ ปลูกปาล์ม 1 ล้านไร่ หยุดพูดได้แล้ว อย่าเอาเรื่องเท็จไปรายงานใส่หูนายกรัฐมนตรี เอาเรื่องไปบอกแล้วให้นายกรัฐมนตรีพูดตาม ผมว่าไม่รู้ใครโง่กันแน่ ชาวสวนยางไม่โง่แน่ วันนี้ผมกล้าท้าขอดีเบตกับ กยท. หรือจะดีเบตกับนายกรัฐมนตรี ให้ตัวแทนเกษตรกรขึ้นคุยสดๆ กันเลยถึงโครงการ หรือนโยบาย กยท.ที่ออกมา ล้วนล้มเหลวสิ้นดี และว่าวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ ตนจะตั้งคณะทำงานขึ้นมารับฟังคำตอบจากรัฐบาล คสช. พร้อมเสนอให้ รบ.ใช้ ม.44 ปลดผู้ว่าการ กยท.ออกจากการปฏิบัติหน้าที่

Advertisement

“ที่ผ่านมาชาวสวนยางไม่เคยเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่องราคายางพารา แต่เรียกร้องให้รัฐบาลทุกยุคแก้ไขปัญหาเรื่องกระบวนการบริหารจัดการเรื่องยางพารา ตรงนี้ต่างหากที่เป็นปัญหา แต่ กยท.ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาไม่ได้แก้ปัญหาให้เกษตรกร แก้ปัญหา เรื่องเงินโบนัส เรื่องตำแหน่ง และเงินส่วนต่างจากการขายยางของพ่อค้า นี่คือ กยท.ที่บริหารงานโยบายทุน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image