‘สับปะรด’ ราคาตก-ล้นตลาด แนะเกษตรกรรวมกลุ่มปลูกแปลงใหญ่-แปรรูป-ขายผลสดมากกว่าส่งโรงงาน

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลาเอนกประสงค์ อ.บ้านคา จ.ราชบุรี นายภคพัส ส่งวัฒนายุทธ นายอำเภอบ้านคา กล่าวเปิดโครงการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำและล้นตลาด

โดยมีนายสมศักดิ์ คงลออ เกษตรอำเภอบ้านคา นายเมธัสสิทธิ์ ลักคนทินวงศ์ หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรจังหวัด นายฉัตรชัย ประดิษฐ์วัฒนา ผู้อำนวยการสำนักงาน ธกส. จังหวัดราชบุรี นายวิชิต พันธ์เพียร ประธานสภาเกษตรกรจังหวัด นายสันชาย หนุนกระโทก ผู้จัดการโรงงานสับปะรดกระป๋อง วี แอนด์ เค จำกัด ผู้แทนเกษตรและสหกรณ์จังหวัด และเกษตรกรจากอำเภอบ้านคา อำเภอปากท่อ อำเภอสวนผึ้ง อำเภอจอมบึงเข้าร่วมประชุมหาแนวทางแก้ไขปัญหา

นายวิชิต พันธ์เพียร ประธานสภาเกษตรกรจังหวัด เปิดเผยว่า สับปะรดเป็นพืชที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ มีการส่งออกสับปะรดและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สับปะรดผลสด สับปะรดอบแห้ง สับปะรดกวน น้ำสับปะรด สับปะรดกระป๋อง หรือเศษเหลือของสับปะรดยังใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ได้ ซึ่งไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรดเข้มข้นรายใหญ่ของโลก โดยราชบุรีมีสับปะรดที่มีผลผลิตที่ขึ้นชื่อของจังหวัด มีโรงงานแปรรูปอยู่ในพื้นที่ ปัจจุบันมีการปลูกมากในพื้นที่ อ.บ้านคา สวนผึ้ง ปากท่อ และจอมบึง

สถานการณ์ราคาสับปะรดในปัจจุบันขณะนี้มีราคาตกต่ำ เนื่องจากราคาสับปะรดในประเทศไทยช่วงปี 2558-2559 สูงขึ้น ต่อเนื่อง เกิดเเรงจูงใจของเกษตรกรรายเก่าและรายใหม่ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น อีกทั้งตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 ถึงปัจจุบัน สภาพอากาศมีความเหมาะสม เกษตรกรบำรุงต้นสับปะรดดี ส่งผลให้ผลผลิตรวมทั้งประเทศเพิ่มมากขึ้น คาดว่าระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม จะเป็นช่วงที่มีผลผลิตพร้อมเก็บเกี่ยวอีกจำนวนมาก อาจส่งผลให้ราคาตกต่ำลงไปอีก สภาเกษตรกรจังหวัดจึงได้บูรณาการร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธกส. จัดโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำ ซึ่งจะได้วางแผนกำหนดแนวทางการบริหารจัดการผลผลิตสับปะรดที่มากเกินความต้องการของตลาด

Advertisement

นายฉัตรชัย ประดิษฐ์วัฒนา ผู้อำนวยการสำนักงาน ธกส. จังหวัดราชบุรี กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาทราบว่ามีการปลูกในพื้นที่กว่า 1 แสนไร่ โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอบ้านคาปลูกมากที่สุด มีการบริโภคผลสดอยู่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ อีก 80 เปอร์เซ็นต์จะส่งโรงงาน ปัญหาในพื้นที่ราชบุรีหากเป็นส่วนของการบริโภคผลสดจะไม่มีปัญหา เนื่องจากสับปะรดบ้านคาจะมีเอกลักษณ์จุดเด่น คือ ไม่กัดลิ้น มีรสชาติหวานหอมกว่าพื้นที่อื่นๆ ไม่มีปัญหาเนื่องจากมีห้างสรรพสินค้าและตลาดสดใหญ่ๆได้รับไปจำหน่าย ราคาต่ำสุดอยู่ประมาณ 7-8 บาทขึ้นไป แต่หากไปถึงมือผู้บริโภคอาจจะถึงกิโลกรัมละ 20 บาท แต่ส่วนปัญหาที่พบขณะนี้เป็นส่วนของสับปะรดส่งโรงงานที่มีราคาตกต่ำลดลง

จึงเสนอแนวทางขอให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกสับปะรดส่งโรงงานมาเป็นปลูกเพื่อขายผลสดให้มากขึ้น ซึ่งอาจจะเพิ่มการดูแลรักษามากขึ้นกว่าเดิมแต่ได้ราคาผลตอบแทนที่ดีกว่า จะทำให้สับปะรดที่ส่งโรงงานลดลง อีกเรื่องคืออยากให้มีการจัดการบริหารจัดการข้อปลูกสับปะรดว่าช่วงไหนมีผลผลิตมาก ช่วงไหนมีผลผลิตน้อย การวางแผนการกระจายผลผลิตออกสู่ตลาดให้กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ไม่ให้กระจุกอยู่ช่วงหนึ่งช่วงใด จากการดูข้อมูลของเกษตรอำเภอบ้านคาทราบว่าส่วนใหญ่ผลผลิตจะออกช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ประมาณ 40- 50 เปอร์เซ็นต์ ทั้งปีจะหนักอยู่ 2 เดือน ขอเสนอให้กระจายผลผลิตไปยังเดือนอื่นๆที่เหลือด้วย และอาจจะประสานกับโรงงานแปรรูป หรือจุดรับซื้อให้สอดคล้องกันในการรับซื้อในแต่ละช่วง

ปัจจุบันตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องการให้เกษตรกรรวมกลุ่มกัน เป็นการผลิตพืชหรือสัตว์ ลักษณะแปลงใหญ่ ในส่วนนี้อาจมีส่วนที่นำมาใช้ในการเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาบางส่วนได้ตามสมควร ส่วนการผลิตในรูปของแปลงใหญ่จุดประสงค์ของรัฐบาลคือ การรวมกันซื้อ ถ้าเกษตรกรรวมตัวปลูกกันเป็นแปลงใหญ่ขึ้นมา ปริมาณ ปัจจัยการผลิต ปุ๋ย ยา และเรื่องต่างๆสามารถรวมกันได้ สามารถที่จะต่อรองกับผู้จำหน่ายได้ อาจจะมีส่วนหนึ่งจะทำให้ราคาปัจจัยการผลิตถูกลง เป็นการช่วยลดต้นทุนส่วนหนึ่ง

Advertisement

ถ้ารวมกันได้เป็นแปลงใหญ่แล้ว ก็สามารถใช้นโยบายรวมกันขายได้ เช่น เจ้าของโรงงานสามารถไปซื้อผลผลิต ณ จุดเดียวกันได้จะทำให้ต้นทุนการซื้อต่ำลง อาจจะให้ราคาเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้อยากเสนอเรื่องการแปรรูป ยกตัวอย่างที่อำเภอโพธารามที่มีการเลี้ยงวัวนม มีการตั้งสหกรณ์โคนมหนองโพ จำกัด ผลผลิตจากเกษตรกรที่ผลิตนมดิบขึ้นมาก็จัดส่งเข้าโรงงานแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ สามารถเก็บรักษาได้นาน เป็นส่วนช่วยอีกเรื่องอาจจะมาช่วยสนับสนุนการยกระดับราคาให้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตามบรรยากาศการขายสับปะรดตามริมถนนสายบ้านคา – ราชบุรี ของพ่อค้า แม่ค้า ค่อนข้างซบเซา แต่ละร้านมีการติดป้ายราคาไว้ขายแก่นักท่องเที่ยวและประชาชนที่ผ่านไปมา เช่น ร้านของนายตี๋ น่วมปฐม อายุ 66 ปี อยู่บ้านเลขที่ 69/ 1 หมู่ 2 ต.บ้านคา อ.บ้านคา ซึ่งปลูกสับปะรดไว้ประมาณ 30 ไร่ ใช้เงินลงทุนไปจำนวน 3 แสนบาท หลังสับปะรดมีราคาตกต่ำมากกว่าปีแล้วมากซึ่งเคยขายผลสดได้ราคากิโลกรัมละ 18-20 บาท มาปีนี้เพิ่งขายผลผลิตได้เงินแล้วจำนวน 1 แสนบาท ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายอื่นอีก จำเป็นต้องขายราคาราคาถูกเหลือ 7-8 กิโลกรัมขาย 100 บาท ส่วนบางร้านจะขายกิโลกรัมละ 12-13 บาท ขึ้นอยู่กับเนื้อสับปะรดที่จะมีราคาแตกต่างกัน ยังไม่รู้ว่าปีนี้จะขายได้เงินคุ้มกับที่ได้ลงทุนไว้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image