สนข.รับฟังความเห็นขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ ครั้งสุดท้าย ผุด ‘รฟฟ.รางเบา’ เตรียมเสนอ ครม.

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 สิงหาคม 2560 นายประจวบ กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 โครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้แนวคิด ‘รถไฟฟ้า มาหาสักที’ ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว อ.เมืองเชียงใหม่ โดยมีนางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รศ.ดร.บุญส่ง สัตโยภาส ผู้จัดการโครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคประชาชน ผู้นำชุมชน ธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชนกว่า 250 คน ร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำแผนแม่บทและการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ รองรับการเดินทางของประชาชนในเขตเมืองเชียงใหม่ และแก้ไขปัญหาการจราจรให้เกิดความยั่งยืนและเป็นรูปธรรม

นายประจวบ กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการพัฒนาของประเทศ เพราะมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวทางด้านศิลปวัฒนธรรม มีสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ เป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษา และการเดินทางเชื่อมโยงสู่พื้นที่ต่างๆ ในภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้าน มีความเจริญแบบก้าวกระโดดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อปัญหาด้านคมนาคมขนส่ง การจราจรที่แออัดคับคั่งในเขตเมือง เกิดความไม่สะดวกในการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยว การศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ของ สนข.จะช่วยทำให้เขตเมืองเชียงใหม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสมและตอบสนองความต้องการของประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ดียิ่งขึ้น

นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า จากการประชุมสัมมนาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีส่วนได้เสียรวม 7 ครั้ง และวิเคราะห์สภาพข้อเท็จจริงพบว่า ระบบขนส่งสาธารณะที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่เขตเมืองเชียงใหม่ คือ ระบบรถไฟฟ้ารางเบา หรือ Light Rail Transit System หรือ LRT ด้วยโครงข่ายเส้นทางที่เหมาะสม 2 ทางเลือก คือ โครงข่ายแบบ A ใช้ทางวิ่งบนดินและใต้ดิน ใน 3 เส้นทางหลัก และโครงข่ายแบบ B ใช้ทางวิ่งบนดินทั้งโครงข่าย ใน 3 เส้นทางหลัก ซึ่งหลังการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้เกี่ยวข้องในวันนี้ สนข.จะจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ฉบับสมบูรณ์ เพื่อส่งให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา และเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

Advertisement

รศ.ดร.บุญส่ง สัตโยภาส ผู้จัดการโครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า LRT โครงข่ายแบบ A ใช้ทางวิ่งบนดินและใต้ดิน มีมูลค่าการลงทุนสูงกว่าที่ 106,895 ล้านบาท ใน 3 เส้นทางหลัก คือ

1) เส้นทางสายสีแดง ระยะทาง 12 กิโลเมตร เริ่มจากโรงพยาบาลนครพิงค์-ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ และสนามกีฬา 700 ปี-ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ และเริ่มใช้ทางวิ่งใต้ดินที่แยกข่วงสิงห์-โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่-ท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนที่จะกลับไปใช้ทางวิ่งบนดินเพื่อสิ้นสุดที่ทางแยกแม่เหียะสมานสามัคคี (แยกบิ๊กซีหางดง)

2) เส้นทางสายสีเขียว ระยะทาง 11 กิโลเมตร จากแยกรวมโชค เข้าสู่เส้นทางวิ่งใต้ดินที่แยกแม่โจ้ (รพ.เทพปัญญา) -ตลาดวโรรส-เชียงใหม่ไนท์บาร์ซาร์-เซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่แอร์พอร์ต ก่อนไปสิ้นสุดที่ท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดเชียงใหม่

3) เส้นทางสายสีน้ำเงิน ระยะทาง 12 กิโลเมตร เริ่มจากการวิ่งใต้ดินที่สวนสัตว์เชียงใหม่-มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา-มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เลี้ยวไปตามถนนคันคลองชลประทาน-แยกตลาดต้นพยอม-โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ พบจุดตัดกับสายสีแดง ผ่านใต้คูเมือง-จุดตัดสายสีเขียว บริเวณเชียงใหม่ไนท์บาร์ซาร์ และกลับใช้เส้นทางบนดินที่แยกหนองประทีป-ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ก่อนไปสิ้นสุดที่แยกศรีบัวเงินพัฒนา (แยกพรอมเมนาดา) ซึ่งหากได้รับการอนุมัติจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2563 เวลาในการก่อสร้าง 6 ปี ซึ่งจะมีความแน่นอน ตรงเวลา ด้วยความเร็ว 30-35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ปลอดภัยสูง ดึงดูดให้คนมาใช้ได้ 50% ไม่กระทบระบบการจราจรเดิม

ส่วนโครงข่ายแบบ B ใช้ทางวิ่งบนดินทั้งโครงข่าย มูลค่าการลงทุนต่ำกว่า 28,419 ล้านบาท ใน 3 เส้นทางหลัก คือ

1) เส้นทางสายสีแดง ระยะทาง 15.65 กิโลเมตร เริ่มจากโรงพยาบาลนครพิงค์-ศูนย์ราชการและสนามกีฬา 700 ปี-ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่-มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เชื่อมกับจุดเปลี่ยนสีน้ำเงินที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่-สนามบินนานาชาติเชียงใหม่ สิ้นสุกที่แยกเม่เหียะสมานสามัคคี

2) เส้นทางสายสีเขียว ระยะทาง 11.11 กิโลเมตร เริ่มจากสี่แยกรวมโชค-แยกแม่โจ้-เซ็นทรัลเฟสติวัล-ขนส่งอาเขต-กาดหลวง-เชียงใหม่ไนท์บาร์ซาร์-เซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่แอร์พอร์ต สิ้นสุดที่ท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดเชียงใหม่

3) เส้นทางสายสีน้ำเงิน ระยะทาง 13.81 กิโลเมตร เริ่มจากสวนสัตว์เชียงใหม่-มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา-มหาวิทยาลัยเชียงใหม่-จุดตัดระหว่างสายสีแดงที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่-คูเมืองด้านทิศใต้-สถานีรถไฟเชียงใหม่-บิ๊กซี และสิ้นสุดที่แยกศรีบัวเงินพัฒนา (พรอมเมนาดา) ซึ่งจะใช้เวลาในการก่อสร้างสั้นกว่าแบบ A คือ 3 ปี แต่เป็นการใช้ร่วมกันกับระบบจราจรเดิม เวลาจึงไม่แน่นอน ด้วยความเร็ว 15-20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดึงดูดคนมาใช้บริการ 25% และกระทบต่อสิ่งปลูกสร้างเดิม

“ทั้งนี้รูปแบบการลงทุนที่วางแผนไว้มี 3 ทาง คือ รัฐลงทุนแบบ 100% รัฐลงทุนระบบโยธา เอกชนลงทุนในเรื่องรถ LRT และรัฐท้องถิ่นร่วมกับเอกชนและระดมทุนมาดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งควรที่รัฐจะต้องเร่งตัดสินใจเพราะปัจจุบันเชียงใหม่รถติดทุกวัน เพราะคนและนักท่องเที่ยวมากขึ้น และการขยายถนนไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน แต่ควรสร้างระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพรองรับปริมาณการเดินทางเพื่อขนคนเข้าเมือง จะช่วยแก้ไขปัญหาจราจรได้ดีกว่า

“เชียงใหม่มีสภาพเป็นเมืองเก่ามีทางแยกมาก คนนิยมใช้รถส่วนตัวเพราะระบบขนส่งเดิมไม่ตอบโจทย์ ในขณะที่วินัยการจราจรหย่อนยานก่อให้เกิดอุบัติเหตุสูง จึงควรมีการพัฒนาระบบขนส่งที่ดีมีประสิทธิภาพขึ้นมารองรับ ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่าโครงข่ายแบบ A น่าจะเหมาะสมที่สุดแม้จะลงทุนสูงแต่ส่งผลดีในระยะยาวต่อเมืองเชียงใหม่” รศ.ดร.บุญส่ง กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image