ขี้หมูผลิตก๊าซชีวภาพ ส่งให้ชุมชน93ครัวเรือนใช้ ลดค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่ง

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ฟาร์มเลี้ยงสุกรบ้านอัมพวัน หมู่ 8 ต.เตาปูน อ.สอง จ.แพร่ ใช้ของเหลือสิ่งปฏิกูลจากฟาร์มคือน้ำล้างคอกและมูลสุกร ผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ สามารถนำไปเป็นก๊าซหุงต้มและผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ได้อย่างน่าพอใจ

นายชาติชาย ปัทมะดิลกคะเวช ประธานกลุ่มผู้ใช้ก๊าซบ้านอัมพวัน ได้สาธิตการใช้แก๊ซจากมูลสุกรประกอบอาหาร และแสดงให้เห็นถึงการปั่นไฟฟ้าใช้ได้ในพื้นที่ 10 ไร่ และจ่ายก๊าซไปตามท่อให้กับชุมชนได้ถึง 93 ครอบครัว ได้อย่างเพียงพอและเหลือใช้

นายจำลอง ขัดมูล เจ้าของจำลองฟาร์มแห่งนี้ กล่าวว่า ตนรับจ้างเลี้ยงสุกร ในรอบปีจะเลี้ยงสุกรจำนวน 5 รุ่นจำนวนสุกรรวม 2,600 ตัว เป็นการเลี้ยงแบบฟาร์มปิด มีการล้างคอกลำเลียงของเสียออกไปพร้อมมูลสุกร ไหลลงบ่อหมักที่เป็นถุงยากขนาดใหญ่ สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้จำนวน 200 ลูกบาศก์เมตร / วัน ก๊าซที่ได้ ฟาร์มนำมาเข้าเครื่องยนต์เป็นเชื้อเพลิงสะอาดผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ก๊าซยังเหลืออีกมากต่อท่อลำเลียงไปยังหมู่บ้านส่งให้กับสมาชิกที่ต้องการใช้ได้ถึง 93 หลังคาเรือน ซึ่งปริมาณก๊าซยังมีเพียงพอต่อการใช้ในแต่ละวัน โดยเฉลี่ยครัวเรือนหนึ่งจะใช้ก๊าซหุงต้มเพียง 0.9 ลูกบาตรเมตรต่อวันเท่านั้น

กระแสไฟฟ้าและก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้จะหยุดการผลิตเมื่อจำหน่ายสุกรออกไปทั้งหมดในเดือนพฤษภาคมของทุกปี เพื่อพักคอกทำความสะอาดกำจัดเชื้อโรคที่จะเป็นอันตรายต่อสุกรที่จะนำเข้ามาเลี้ยงใหม่ เป็นเวลา 1 เดือน ก่อนเริ่มเลี้ยงต่อรุ่นใหม่ ซึ่งต้องหยุดการผลิตและจ่ายพลังงานให้กับชุมชน เพียง 30 วันเท่านั้น ซึ่งเป็นที่พอใจของผู้ใช้พลังงานชีวภาพดังกล่าว ซึ่งทำให้ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนในเรื่องพลังงานไปกว่าร้อยละ 50 โดยในฟาร์มที่มีค่าไฟฟ้าเดิมต้องจ่ายเดือนละ 60,000 บาทหลังทำก๊าซชีวภาพสามารถลดค่าไฟฟ้าไปได้ถึงเดือนละ 30,000 บาท เป็นต้น

Advertisement

นายนพดล สรวงประดิษฐ์ พลังงานจังหวัดแพร่ กล่าวว่า ทางกระทรวงแรงงานให้การสนับสนุนประชาชนหันมาให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานทางเลือกที่เหมาะสม และยินดีเป็นที่ปรึกษาในการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกทุกรูปแบบ ซึ่งที่จำลองฟาร์ม เป็นต้นแบบที่มีการพัฒนาของเหลือ สิ่งปฏิกุลในการทำการเกษตรมาเป็นพลังงานใช้ได้เป็นอย่างดี เกษตรกรในจังหวัดแพร่ยังมีสิ่งเหลือใช้ที่ต้องเผาทิ้งไปหรือทิ้งไว้ให้เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกมาก ยังไม่มีการพัฒนา ถ้าเกษตรกรรายได้ให้ความสนใจที่จะทำธุรกิจและลดรายจ่ายด้วยการพัฒนาพลังงานทางเลือกสามารถใช้เทคโนโลยีที่สำนักงานพลังงานจังหวัดแพร่ ไปใช้ได้พร้อมทั้งมีการประสานให้เกิดการลงทุนอย่างเหมาะสม ผู้ที่สนใจติดต่อได้ที่สำนักงานพลังงานจังหวัดแพร่ ตั้งอยู่ที่ชั้นล่างศาลากลางจังหวัดแพร่ได้ในวันเวลาราชการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image