ภูเวียงระดมทุกส่วน หาน้ำประปาบรรเทาปัญหาแล้ง

(19 ม.ค.59) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากในปี 58 ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำฝนสะสมที่ตกลงมาในพื้นที่ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น มีเพียง 478 มม. จากปกติเคยมีปริมาณฝนเฉลี่ยประมาณ 1,500 – 2,000 มม. และส่วนใหญ่จะเป็นการตกในเขตพื้นที่ชมชน ทำให้น้ำไม่ไหลสะสมในสถานที่รับน้ำประเภท อ่างเก็บน้ำ ห้วย หนอง ทำให้ภาคการเกษตรของชาวบ้าน รวมทั้งการนำน้ำดิบไปผลิตเป็นน้ำประปาสะอาด ต้องใช้น้ำต้นทุนที่มีอยู่โดยไม่มีน้ำใหม่เข้ามาเติม อ่างเก็บน้ำโสกขุมปูน เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เนื้อที่ 80 ไร่ ซึ่งทาง สนง.ประปาส่วนภูมิภาค หนองเรือ สาขาย่อยภูเวียง นำน้ำภายในอ่างซึ่งเรียกว่าน้ำดิบ มาผลิตเป็นน้ำประปาป้อนให้ประชาชนในเขตบริการ จำนวนกว่า 3,000 ครัวเรือน โดยการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมาจะมีการสูบน้ำ จากลำห้วยบอง ที่รับน้ำจากเทือกเขาภูเวียง มาเก็บไว้ภายในอ่างเก็บน้ำโสกขุมปูน และสูบเอาน้ำภายในอ่างไปผลิตเป็นน้ำประปา แต่จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นทำให้ไม่มีน้ำจากเทือกเขาภูเวียง ไหลผ่านลำห้วยบอง ทำให้เจ้าหน้าที่การประปาไม่สามารถสูบน้ำมากักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำโสกขุมปูนได้เหมือนทุกปี และต้องใช้น้ำภายในอ่างเท่านั้นผลิตประปาแจกจ่ายให้กับประชาชน จนเมื่อปลายปี 58 ที่ผ่านมา น้ำในอ่างเก็บน้ำโสกขุมปูนได้หมดและแห้งลงจนเห็นเพียงพื้นดินในอ่างเก็บน้ำ นั่นหมายความว่าทางการประปาไม่มีน้ำดิบจากอ่างแห่งนี้ ผลิตเป็นน้ำประปาได้ ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบ 40 ปี ของ อ.ภูเวียง

นายไพบูลย์ ละครชัย พนักงานผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค หนองเรือ สาขาย่อยภูเวียง กล่าวว่า วิกฤติการณ์ขาดแคลนน้ำดิบสำหรับผลิตเป็นน้ำประปาให้กับประชาชน ตนก็พึ่งเคยประสบพบเจอนับตั้งแต่มาปฎิบัติหน้าที่ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปี แนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำประปาใช้เบื้องต้น ได้มีการทำหนังสือขอความอนุเคราะห์จากชลประทานโสกลวก อ.ภูเวียง ขอใช้น้ำที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำ วิธีการคือจะนำรถยนต์บรรทุกน้ำของทางสำนักงานประปาทั้งหมด 6 คัน บรรทุกน้ำจากชลประทานโสกลวก จำนวน 60 เที่ยว เฉลี่ยวันละ 480,000 ลิตร ต่อวัน มาใส่ไว้ในอ่างพักตะกอนภายในสำนักงานฯ ก่อนทำการสูบเข้าเครื่องผลิตน้ำประปา ป้อนเข้าท่อส่งให้ประชาชนจำนวนกว่า 3,000 ครัวเรือน ได้พอมีน้ำสะอาดใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นยังนำน้ำประปาอีกส่วนหนึ่ง บรรทุกใส่รถบรรทุกน้ำ ไปเติมลงในภาชนะกลาง ที่ติดตั้งไว้ตามชุมชนที่กำลังส่งน้ำประปาไปไม่ถึงเนื่องจากมีแรงดันต่ำ รวม 30 จุด แต่ละจุดมีถังรับน้ำ 2 ถังถังละ 2,000 ลิตร เพื่อให้ชาวบ้านได้มีน้ำประปาสะอาดใช้ ซึ่งวิธีการขนน้ำดิบมาผลิตประปานี้ยังไม่รู้ว่า จะทำได้อีกนานเพียงใด เนื่องจากทางชลประทานก็ต้องมีการบริหารจัดการน้ำไปในด้านอื่นๆเช่นกัน

201601191800584-20150622173355

ด้านนายฉิน วรปัญญาสถิต นายกเทศมนตรีตำบลภูเวียง กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น จนส่งผลกระทบในส่วนของน้ำดิบสำหรับผลิตประปาขาดแคลน ตนเองและผู้บริหารของเทศบาล ต.ภูเวียง ทุกคน ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้มีการจัดรถบรรทุกน้ำของเทศบาล นำน้ำสะอาดออกแจกจ่ายให้กับประชาชน ในพื้นที่ชุมชน ตลาดสด ห้างร้านต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจของ อ.ภูเวียง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตขั้นพื้นฐานของประชาชนนอกจากนั้นทางเทศบาลได้มีการวางแผนการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำระยะยาว ด้วยการขุดบ่อบาดาลขึ้นจำนวน 7 บ่อ เพื่อนำน้ำบาดาลขึ้นมาให้ประชาชนตามชุมชนได้มีน้ำในการปฏิบัติภารกิจชีวิตประจำวันของประชาชน

Advertisement

ขณะที่นายเฉลิมชัย ชละธาร นายอำเภอภูเวียง กล่าวว่า ผลกระทบภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตำบลภูเวียง นับเป็นวิกฤติที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนให้กับประชาชนโดยเฉพาะในเขตชุมชนขนาดใหญ่และย่านเศรษฐกิจ โดยมีการจัดหาน้ำดิบมาผลิตเป็นน้ำประปาสะอาด แจกจ่ายให้กับประชาชนในช่วงเวลาเย็นครั้งเดียวใช้เวลาในการปล่อยน้ำ 4 ชั่วโมง ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้น ทางการประปาส่วนภูมิภาคได้จัดสรรงบประมาณกว่า 40 ล้านบาท ในการวางท่อส่งน้ำ โดยคิดไว้เป็น 2 แนวทาง คือส่งน้ำดิบหรือน้ำประปาสะอาดที่ทำการผลิตแล้ว จากตำบลดอนโมง อ.หนองเรือ ระยะทางยาว 25 กิโลเมตร มาบริการประชาชน ซึ่งน้ำดิบที่ได้คือน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับจากนี้ ซึ่งถ้าโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์ก็จะสามารถช่วยประชาชนใน อ.ภูเวียง ในส่วนของน้ำประปาสะอาด เพื่อการอุปโภค-บริโภค ได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

สำหรับปัญหาแหล่งน้ำดิบสำหรับการผลิตประปาแห้งขอด นับเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่ทุกคนไม่เฉพาะหน่วยงานผู้เกี่ยวข้องต้องหันกลับมาดูถึงต้นเหตุที่เกิดขึ้น นั่นคือการที่มนุษย์ทำลายความสมบูรณ์ของป่าไม้ ที่ในอนาคตจะเกิดเป็นห่วงโซ่ของความรุนแรง คือการไม่มีป่าไม้ ไม่มีน้ำ ให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image