เห็นแย้ง! ฉลามครีบดำ หรือ ปลาสาก กันแน่? กัด นทท. ขาเหวอะที่ภูเก็ต

จากกรณีเมื่อเวลาประมาณ 12.30 น.วันที่16 สิงหาคม 2560เจ้าหน้าที่หน่วยฉุกเฉิน กู้ชีพกมลา ได้รับแจ้งว่ามีนักท่องเที่ยว ถูกปลาไม่ทราบสายพันธุ์กัด บริเวณหน้าหาดกมลา จุดหน้าสภ.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต จึงเดินทางไปตรวจสอบและให้การช่วยเหลือ

เบื้องต้นที่เกิดเหตุพบนักท่องเที่ยวชายชาวญี่ปุ่น 1 ราย ทราบชื่อในภายหลังคือ MR.KAITA KOSHTGOE อายุ 37 ปี มีบาดแผลฉีกขาดหลายแผลบริเวณเท้าซ้ายลักษณะเป็นรอยบาดยาวคล้ายโดนของมีคม 3 แผล เเละรอยกัดเหวอะตรงส้นเท้าอีก1แผล จึงทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เเละนักท่องเที่ยวมีความประสงค์จะไปโรงพยาบาลด้วยตนเอง จึงให้เดินทางไปเอง โดยนทท.คนดังกล่าว ได้ไปทำแผลที่รพ.กรุงเทพภูเก็ต หลังเย็บแผลแล้วหมอให้กลับที่พัก

สอบถามทราบว่านักท่องเที่ยวคนดังกล่าวได้มาเล่นกระดานโต้คลื่นอยู่ที่หน้าชายหาดห่างจากฝั่งไปหลาย 10 เมตรกระทั่งถูกสัตว์ทะเลไม่ทราบชนิดดังกล่าวกัด จึงรีบขึ้นมาบนชายฝั่งเพื่อขอความช่วยเหลือก่อนที่จะมีผู้แจ้งเจ้าหน้าที่

ทั้งนี้หลังเกิดเหตุชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงได้เดินทางที่มาดูเหตุการณ์ ส่วนใหญ่ระบุว่าจากรอยฟันน่าจะเป็นฝีมือของปลาสาก เพราะเป็นปลาที่มีฟันแหลมคม ซึ่งผ่านมาพบว่าอาศัยอยู่ในแนวปะการังหน้าชายหาดเป็นจำนวนมาก

Advertisement

ด้านดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน กล่าวว่า จากการตรวจสอบลักษณะบาดแผล เชื่อว่าเป็นฝีมือของBlacktip Reef Shark หรือ ฉลามหูดำ หรือฉลามครีบดำ ซึ่งพบว่ามีแหล่งอาศัยอยู่ทั่วไปในแนวปะการังใกล้ชายฝั่งทั้งทะเลทั้งอ่าวไทยเเละอันดามัน โดยฉลามชนิดนี้เมื่อโตเต็มวัย ลำตัวประมาณ 1 ถึง 2 เมตร มีนิสัยไม่ดุร้าย ชอบกินปลาขนาดเล็กเป็นอาหาร แต่ในรายนี้คาดว่าขณะที่นักท่องเที่ยวเล่นกระดานโต้คลื่นห่างจากชายฝั่งทำให้คิดว่าเป็นเหยื่อจึงพุ่งเข้างับ

ดร.ก้องเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น คล้ายกับที่เกิดขึ้นที่ชายหาดกะรนเมื่อสองปีที่ผ่านมา คือนทท. ถูกสัตว์ทะเลกัดที่ขาขณะลงเล่นน้ำที่หน้าชายหาด ซึ่งครั้งนั้นผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นฝีมือของ Bull Shark หรือ ฉลามหัวบาตร ซึ่งมีความดุร้าย บางส่วนก็เชื่อว่าเป็นฝีมือของปลาปักเป้า แต่ความจริงแล้วมันน่าจะเป็นฝีมือของฉลามหูดำเช่นเดียวกัน ซึ่งพบได้บ่อยครั้งกว่าในทะเลอันดามัน จึงไม่น่ากังวลเพราะโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดยังเป็นการสันนิษฐานเนื่องจากไม่มีผู้ที่เห็นตัวปลาชัดเจนว่าเป็นชนิดใดจึงไม่ควรตื่นตระหนก

Advertisement

ซึ่งล่าสุดวันนี้( 17 ส.ค.60) นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตได้เปิดเผยภายหลังสอบถามข้อมูลจากนายทัศพล กระจ่างดารา นักวิชาการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งทะเลอันดามันภูเก็ต ซึ่งสันนิศฐานตามลักษณะของบาดแผลและพื้นทีเกิดเหตุว่า ปลาที่กัดนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นนั้นเป็นปลาบารากรูด้า ซึ่งภาษาถิ่นเรียกว่า ปลาน้ำดอกไม้หรือปลาสาก ปลาชนิดนี้มีรูปร่างลักษณะตัวยาว มีฟันแหลมคมมาก ชอบกินลูกปลาที่อยู่บริเวณผิวน้ำเป็นอาหาร และสันนิฐานว่าขณะนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นรายดังกล่าวกำลังเล่นกระดานโต้คลื่นอยู่นั้นก็เกิดมีฟองอากาศเหนือผิวน้ำและปลาสากตัวดังกล่าวอยู่บริเวณนั้นพอดีจึงคิดว่าเป็นลูกปลาที่เคยกินเป็นอาการจึงได้กัดเข้าที่เท้าของชาวญี่ปุ่น

นอกจากนี้จากการสอบถามกำนันผู้ใหญ่บ้านและผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ตซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุนั้นต่างยืนยันว่าในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาชาวบ้าน ชาวประมง ผู้ประกอบการรวมไปถึงนักท่องเที่ยวไม่เคยพบเห็นปลาฉลามในละแวกนี้ ส่วนปลาสากนั้นชาวประมงจับขึ้นมาได้เป็นประจำโดยส่วนใหญ่นำมาทำเป็นลูกชิ้นปลาและปลาสากนี้ก็มีรอบๆอาศัยอยู่จำนวนมากในรอบๆน่านน้ำเกาะภูเก็ตจึงมีความน่าเชื่อสูงว่ากลาที่กัดนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นนั้นเป็นปลาสากไม่ใช่ปลาฉลามตามที่มีกระแสข่าว

นอกจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตยังกล่าวถึงการลงเล่นน้ำของนักท่องเที่ยวในพื้นที่หาด กมลาว่า สามารถลงเล่นน้ำทำกิจกรรมชายหาดได้ตามปกติ ซึ่งวันนี้เองยังพบว่านักท่องเที่ยวและประชาชนก็ไม่ได้ตระหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังคงใช้ชีวิตบริเวณชายหาดแบบปกติเหมือนทุกวันและยังลงเล่นน้ำทะเลได้ตามปกติแต่ได้ฝากให้ผู้ประกอบการชายหาดประชาสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวไม่ให้ออกเล่นน้ำห่างชายหาดมากเกินไป และได้มีเจ้าหน้าที่กู้ภัย ไลฟ์การ์ดอยู่ในพื้นที่อย่างใกล้ชิดเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นรวมไปถึงได้ส่งหน่วยลาดตระเวณชายฝั่งเข้าตรวจสอบพื้นที่เป็นระยะด้วย

อย่างไรก็ตามในส่วนความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ทั้งสองฝ่าย ทั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน หรือ ศวทม. เเละศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต)หรือ ศวปม. ที่มีความเห็นไม่ตรงกันนั้น ไม่ใช่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เเต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา ช่วงที่เกิดเหตุการณ์สัตว์ทะเลกัดขานักท่องเที่ยวสาวออสเตรเลียที่ชายหาดกะรน อ.เมืองภูเก็ต นักวิชาการของศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน โดย ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ และผู้เชี่ยวชาญฉลามชาวต่างชาติได้ให้ความเห็นว่าเป็นฝีมือของฉลาม Bull Shark หรือฉลามหัวบาตร ขณะที่นายทัศพล กระจ่างดารา นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานสำรวจและวิเคราะห์สภาวะทรัพยากรและประมง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต)เเย้งว่าไม่ใช่ฉลามกัดอย่างแน่นอน แต่น่าจะถูกสัตว์ในกลุ่มขากรรไกรแข็ง เช่น ปลาวัว ปลานกแก้ว และปลาปักเป้า เป็นต้น และในที่สุดก็ไม่มีการยืนยันชัดเจนจากทั้งสองฝ่ายเนื่องจากไม่พบสัตว์ต้องสงสัยในบริเวณที่นักท่องเที่ยวถูกกัด และในครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งที่สองที่นักวิชาการทั้งสองหน่วยงานต่างให้ความเห็นไม่ตรงกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image