ดราม่าบูรณะถ้ำเขาหลวง ช่างเมืองเพชรข้องใจ กรมศิลป์ ‘อนุรักษ์’ หรือ ‘ทำลาย’ !!

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม จากกรณีที่กรมศิลปากร ดำเนินการบูรณะโบราณสถานโบราณวัตถุที่ได้ขึ้นทะเบียนเอาไว้ใน จ.เพชรบุรี ได้รับเสียงสะท้อนกลับในทางลบมาโดยตลอด ผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบและคอยดูแลการทำงานซ่อมแซมของกรมศิลปากรโดยการทำงานของบริษัทผู้รับเหมา คือ ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว

อ.ล้อมกล่าวว่า งานบูรณะโบราณสถานของกรมศิลปากรในพื้นที่ จ.เพชรบุรี แต่ละงานไม่เคยบอกเล่าให้ประชาชนทราบเลยว่าจะมาทำอะไร มีรายละเอียดอย่างไร พอลงมือทำแล้ว ตนและกลุ่มช่างเมืองเพชร หากมีโอกาสเข้าไปตรวจสอบ พบว่าไม่มีรูปแบบรายการที่เกี่ยวกับการบูรณะหรือเนื้อหาในสัญญาจ้างมาให้ดู ขอก็ไม่ยอมให้ดู ไม่ยอมเปิดเผยอะไรใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อไม่ยอมให้ดู พวกเราก็ต้องลุยไปตรวจสอบเอง โวยวายเอง ไปสอบถามจากผู้รับเหมาบ้าง จากคนที่ไปรู้ไปเห็นบ้าง การบูรณะเสาหอไตรที่วัดพระพุทธไสยาสน์ (วัดพระนอน) หรือเสาไม้สักที่วัดใหญ่สุวรรณาราม ซึ่งอยู่ในตัว อ.เมือง จ.เพชรบุรี แทบไม่เคยเจอคนคุมงานที่เป็นตัวแทนของกรมศิลปากรเลย ปล่อยให้ผู้รับเหมาทำกันไปตามใจชอบ ส่วนการสั่งเปลี่ยนเสาหอไตรที่วัดพระนอนไป 5 ต้น เป็นเสาที่หอไตรชำรุด เก่ามาก กรมศิลปากรเอาช่างมาจากไหนก็ไม่รู้ ไร้ฝีมือเชิงช่าง ของดีเมืองเพชรถูกทำลายโดยฝีมือของผู้มีหน้าที่ดูแลโดยตรง มันเสียความรู้สึกจริงๆ

อ.ล้อมกล่าวอีกว่า สำหรับกรณีโครงการบูรณะ “ถ้ำเขาหลวง” ต.ธงชัย อ.เมือง จ.เพชรบุรี ขึ้นป้ายว่าใช้งบการบูรณะเกือบ 17 ล้านบาท แถมป้ายการบูรณะของกรมศิลป์ที่หน้าทางเข้าถ้ำยังขึ้นว่า “ถ้ำเขาหลวง จ.ราชบุรี” ชุ่ยตั้งแต่ขึ้นป้ายเลย

Advertisement

“ไม่ใช่ชุ่ยเพียงเท่านี้นะ ภาพถ้ำเขาหลวงตรงบริเวณทางเข้าห้องอธิบดีกรมศิลปากร มีข้อความใต้ภาพว่า “ถ้ำเขาหลวง จ.ราชบุรี” ช่างภาพสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งไปสัมภาษณ์อธิบดีฯเห็นเข้าก็ถ่ายมาให้ดู อธิบดีฯเดินผ่านภาพนี้ทุกวัน เขาเอามาแชร์กันสนุกในโซเชียลมีเดีย งานระดับกรมศิลปากรทำไมบกพร่องได้ขนาดนี้” อ.ล้อมกล่าว

เรื่องบูรณะถ้ำเขาหลวง อ.ล้อมอธิบายว่า มีการบูรณะในถ้ำ 2 ตอน คือ ตอนใน กับตอนนอก ตอนในคือส่วนของความมืดแล้วไปต่อเนื่องกับด้านหลัง มีกำแพงกั้นกลางอยู่ ปูกระเบื้องหน้าวัวตรงหน้าพระพุทธรูปฉลองพระองค์ ร.4 และพระราชโอรส ส่วนตอนนอกพื้นจะปูกระเบื้องหน้าวัว (กระเบื้องดินเผา) จาก จ.สงขลา ทั้งหมด แต่ปรากฏว่าผู้รับเหมาของกรมศิลป์จะรื้อพื้นทั้งหมด 100% ไม่รู้จะรื้อทำไม เพราะกระเบื้องโบราณบางส่วนก็ยังแข็งแรงดีอยู่ ส่วนที่เป็นกระเบื้องหน้าวัวก็ยังไม่ชำรุด ส่วนอิฐสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ชาวเมืองเพชรเรียกว่า “อิฐห้าร้อยฉิบหาย” บางแผ่นกร่อน ส่วนแผ่นที่ดีก็มีอยู่เยอะ แต่จะรื้อทิ้งทั้งหมด ในเว็บไซต์กรมศิลป์ที่เป็นคำกล่าวของอธิบดีบอกว่า “ในส่วนของอิฐที่มีการรื้อถอนนั้น เป็นอิฐที่เกิดจากการขุดแต่งทางโบราณคดี และอิฐที่ชำรุดเปื่อยยุ่ย” คำว่า “ยุ่ย” คือ กร่อนหลุด เอาเล็บไปขูดออกก็หลุดติดมือ ถึงจะเรียกว่ายุ่ย แต่อิฐนี่ไม่มีก้อนไหนถึงขนาดเปื่อยยุ่ยเลย กร่อนก็มีบ้าง แตกก็มี หลุดบางก้อนก็มี แต่ที่แข็งก็มีไม่น้อย อ้างว่าเปื่อยยุ่ยมีความชื้นสูงต้องรื้อออก บอกว่าเปลี่ยนตามหลักการบูรณะทั่วไป นี่อธิบดีกรมศิลป์บอกเอง แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเห็นชัดเจนว่า ผู้รับเหมาใช้วิธีรื้อจนหักพังทลายหมดเลย เสร็จแล้วแทนที่เวลาปูกระเบื้องหน้าวัว ซึ่งเป็นกระเบื้องดินเผารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสลงในที่เดิม กลับเอาอิฐห้าร้อยฉิบหายไปปูแทนเต็มพื้นที่ ส่วนที่เป็นกระเบื้องหน้าวัวในส่วนที่เดิมปูชิดกำแพง ซึ่งโบกติดผนังกำแพงเพื่อความแน่นหนามาแต่เดิม เคาะเอาไม่ออก ก็ทุบให้มันหัก ยังมีรอยคาอยู่เลย

Advertisement

“พื้นถ้ำใหญ่ที่เป็นกระเบื้องหน้าวัวจาก จ.สงขลา ช่างรับเหมาบอกว่าต้องรื้อออกทั้งหมด พอพวกเราโวย ก็เลยระงับไว้ก่อน อธิบดีฯก็ส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจ แล้วชี้ให้แบ่งเป็นโซน ๆ โซนไหนชำรุดกี่แผ่น จะเอาออกเฉพาะส่วนที่ชำรุด ส่วนไหนที่ระดับมันไม่ได้ ก็จะทำระดับขึ้นมาตามเดิม เพิ่งจะส่งคนมาสำรวจใหม่หลังจากที่เราโวยแล้วนะ ตอนนี้ก็ยังคาราคาซังอยู่ ผมไม่เข้าใจกรมศิลปากร โดยเนื้องานของกรมศิลป์ฯอะไรที่อยู่ใต้ดิน นักโบราณคดีที่เขาไปขุดไปเจาะไปหาเก็บเอามาอธิบาย ถือเป็นสิ่งมีคุณค่าที่ค้นพบ ให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ แต่พื้นอิฐและกระเบื้องในถ้ำเขาหลวงอยู่บนพื้นดินแท้ ๆ มีประวัติศาสตร์ชัดเจน กลับรื้อทิ้งมรดกเก่าแก่ ผมว่าแบบนี้ไม่เรียกว่าการบูรณะ แต่เป็นการทำลายคุณค่าของเก่ามากกว่า”

คำกล่าวของอธิบดีกรมศิลปากรในเว็บไซต์ยังมีอีกว่า “ต้องบูรณะให้คงทนถาวรไว้รองรับการท่องเที่ยว” อ.ล้อมชี้ว่า ขนาดเพิ่งปูของใหม่ ยังไม่ทันได้ตรวจรับ ก็มีบางส่วนหักกลางไปแล้วหลายก้อน กรมศิลป์อ้างว่า เพราะมีคนเข้าไปเที่ยวในถ้ำมากจึงชำรุดเร็ว ก็ต้องถามว่าอิฐใหม่กระเบื้องใหม่ที่เอาไปปูมันไม่ได้คุณภาพใช่หรือไม่ มันถึงหักกลาง เดินเหยียบไม่กี่ทีก็หักกลางแล้ว ตนให้นักข่าวบันทึกภาพวีดีโอเป็นหลักฐานไว้หมดแล้ว ที่อธิบดีฯอกว่าคงทนถาวร มันไม่จริง เพราะอิฐและกระเบื้องโบราณที่เขาทำไว้มีอายุยาวนานกว่า 150 ปี ตั้งแต่ปี 2406 มันพิสูจน์ได้ว่าส่วนหนึ่งมันยังแข็งแรง ยังไม่เสียหาย ยังอยู่ได้ ส่วนของใหม่ที่อธิบดีบอกว่าจะให้อยู่คงทนถาวร ตอบได้ไหมว่าจะอยู่นานถึง 150 ปี เพิ่งปูก็เหยียบหักกันแล้ว ยังไม่ทันตรวจรับเลย และที่อธิบดีบอกว่า “ได้ทำตามหลักวิชาทุกประการ แต่ถ้าจะกระทบบ้าง ก็คงกระทบความรู้สึกของบางคน” บางคนที่อธิบดีเอ่ยน่าจะหมายถึงตนกระมัง ตนเชื่อว่าการบูรณะถ้ำเขาหลวงคราวนี้ไม่ได้ทำตามรูปแบบรายการ แต่ทำกันแบบง่ายๆ เข้าไว้ เสียดายตอนที่ไปตรวจสอบก็มีการรื้อพื้นถ้ำไปเกือบ 100% แล้ว

อ.ล้อมกล่าวว่า ประเด็นหนึ่งของการบูรณะถ้ำเขาหลวง คือพระพุทธรูปในถ้ำ ซึ่งพระพุทธรูปในถ้ำมีมากนับหลายร้อยองค์ สร้างมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 4 การบูรณะที่ดีจะต้องมีการไปสำรวจก่อนว่าองค์ไหนชำรุดแค่ไหน อย่างไร แล้วทำเป็นรายละเอียดออกมาให้หมดก่อน แต่ผู้รับเหมาได้ทารักดำและปิดทอง ซึ่งตามประวัติเดิมสมัยรัชกาลที่ 4 เขาใช้รักที่ทำจาก อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี แล้วให้ไปเบิกทองจากคลังหลวงมาปิด บางองค์เขาใช้วิธีบุทองด้วยซ้ำไป คือทำทองแผ่นโตๆ ปิดหุ้มเข้าไปที่องค์พระ การจะบูรณะองค์พระพุทธรูปคราวนี้ก็จำต้องขูดทองเก่าออก ทั้งทองทั้งรัก จำนวนหนึ่งมีการขูดออกไปแล้ว เอาไปไว้ไหน ทองใหม่ดูมันวาวๆ ชอบกล ไม่เหมือนของเดิม ไม่รู้ว่าเป็นทองเกรดไหน ระดับไหน เอาทองอะไรมาปิด ไม่สามารถตรวจสอบเปรียบเทียบได้ แต่เชื่อว่าไม่ใช่ทองชนิดคัดพิเศษ ทองคำเปลวมีประมาณ 30 กว่าเบอร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม ในประเด็นบูรณะถ้ำเขาหลวงครั้งนี้ นางฉัตรพร ราษฎร์ดุษดี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อให้ประสานงานกับกรมศิลปากร โดยมี ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว และกลุ่มช่างศิลปินเมืองเพชร ร่วมเป็นกรรมการ ในที่ประชุมได้เรียกร้องขอให้กรมศิลปากรเอารูปแบบรายการบูรณะถ้ำเขาหลวงมาให้ดู แต่ตัวแทนกรมศิลปากรยืนยันให้ดูไม่ได้ อ้างต้องมีขั้นตอนการขออนุญาต

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ รอง ผวจ.เพชรบุรี ที่เข้าร่วมประชุมด้วยแจ้งว่า ให้ตัวแทนกรมศิลปากรเอาเอกสารสัญญาจ้างพร้อมรูปแบบการบูรณะมาให้จังหวัดได้รับทราบข้อมูลโดยเร่งด่วน ตนจะขอรับผิดชอบเอง

อ.ล้อมกล่าวว่า การบูรณะถ้ำเขาหลวงคราวนี้เหมือนอยู่ในแดนสนธยา จนกว่าจะได้รายละเอียดของข้อสัญญาที่แท้จริงแล้วตรวจสอบกันอย่างจริงจังอีกครั้ง เรื่องนี้ช่างเมืองเพชรไม่ปล่อยให้ทำกันอย่างชุ่ยๆ อีกต่อไปแน่ เพราะการบูรณะคือการอนุรักษ์ มิใช่การทำลายให้คุณค่าของความเก่าแก่หมดไป!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image