ผู้ว่าฯหนองบัวลำภูเยี่ยมผู้ป่วยหนังเน่า เชื่อเหตุสารเคมีในการเกษตร แนะทำเกษตรอินทรีย์แทน

ผวจ.หนองบัวลำภู เยี่ยมผู้ป่วยหนังเน่า แนะเกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์แทนลดการใช้สารเคมีในไร่นา จะช่วยดูแลสุขภาพความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ขณะที่อดีตผู้ป่วยหนังเน่ารักษาตัวมาแล้ว 5 ปี เชื่อว่าสารเคมีทำให้ผิวหนังอ่อนแอเสี่ยงต่อการเกิดโรคหนังเน่า วอนหน่วยงานภาครัฐอย่าใช้งบประมาณ สนับสนุนการซื้อสารเคมีแจกเกษตรกร ควรเพิ่มสัดส่วนงบสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้น

เมื่อวันที่ 13 กันยายน นายธนากร อึ้งจิตรไพศาล ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู พร้อมด้วย นพ.สมชาย เชื้อนานนท์ ผอ.รพ.หนองบัวลำภู นพ.ไพฑูรย์ ใบลีประเสริฐ รอง ผอ.ฝ่ายการ รพ.หนองบัวลำภู แพทย์ประจำผู้ป่วยและนายวิพัฒน์ วงชาลี ประธานเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ได้เข้าเยี่ยมผู้ป่วยจากอาการป่วยของโรคหนังเน่า ที่โรงพยาบาลหนองบัวลำภู ซึ่งผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเข้ารักษาตัวในช่วงนี้ เนื่องจากมีอาการติดเชื้อจากเชื้อแบคทีเรีย จากการมีบาดแผลที่แขนและเท้าเป็นส่วนมาก ซึ่งผู้ป่วยจะต้องมีการผ่าตัดเอาเนื้อเน่าออกและเมื่อแผลหายแล้วก็จะต้องมีการผ่าตัดเอาเนื้อจากส่วนอื่นมาปิดบาดแผล โดยจากการสอบถามประวัติผู้ป่วยส่วนมากจะพบว่า ในพื้นที่ที่ไปทำงานก่อนจะมีอาการเจ็บป่วยนั้น พบว่ามีการใช้สารเคมีหลายชนิดในพื้นที่ของตนเองและพื้นที่บริเวณใกล้เคียง ทำให้ตัวเกษตรกรที่มีการใช้สารเคมีและชาวบ้านเชื่อว่าส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากสารเคมีที่เกษตรกรมีการใช้ในไร่นาของตนเองและพื้นที่ข้างเคียง

ทางด้าน นายธนากร อึ้งจิตรไพศาล ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า ผู้ป่วยที่เข้ารักษาจากการสอบถามทางแพทย์แล้วมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนที่เกษตรกรและชาวบ้านเชื่อว่าสาเหตุหนึ่งน่าจะมีส่วนมาจากสารเคมีนั้น ตอนนี้ทางจังหวัดก็ได้มีการร่วมกับเครือข่ายกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีหนองบัวลำภู ให้มาเป็นพี่เลี้ยงในการส่งเสริมเกษตรกรให้หันมาทำการเกษตรอินทรีย์ที่จะมีการลดการใช้สารเคมีลง ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่มีขั้นตอนการผลิตที่ทำให้ต้องใช้สารเคมี พร้อมทั้งได้มีการสนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรอินทรีย์ ทั้งการส่งเสริมให้มีการเจาะบ่อบาดาลนำน้ำใต้ดินที่ปลอดภัยจากสารเคมีขึ้นมาใช้ ลดต้นทุนด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทดแทน

ส่วนการบังคับใช้กฎหมายกับการใช้สารเคมีในพื้นที่ของเกษตรกรนั้น ยังไม่สามารถดำเนินการได้ คงจะต้องเป็นนโยบายในระดับประเทศ และต่อไปจะได้มอบหมายให้กับทางกรมวิชาการเกษตรให้เข้ามาดูแลในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

Advertisement

ทางด้านผู้ป่วยรายหนึ่งอายุ 55 ปี อยู่ ต.ลำภู อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู กล่าวว่า ก่อนจะป่วยเป็นโรคหนังเน่าเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตอนนี้ก็ยังต้องรักษาทำการล้างบาดแผลอยู่ เกิดจากการไปตัดหญ้าแล้วถูกหนามแทงเป็นแผลเล็กน้อยและกลายเป็นโรคดังกล่าว จนต้องผ่าตัดถึงสามครั้งและหมดเงินไปเป็นล้านบาท หมอเคยบอกว่าสารเคมีมีส่วนทำให้ผิวหนังอ่อนแอและเกิดโรคได้ง่าย โดยเฉพาะกลุ่มคนดื่มสุราก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ร่างกายอ่อนแอ จึงอยากให้มีการรณรงค์เรื่องของผลกระทบจากการใช้สารเคมีอย่างจริงจัง ไม่ใช่ปล่อยให้คนได้รับผลกระทบอย่างมากถึงจะมีการแก้ไข

“เรื่องของเกษตรอินทรีย์ น่าจะมีการรณรงค์อย่างจริงจัง เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่ทำเกษตรอินทรีย์ที่ต้องใช้ต้นทุนสูง เช่นการทำเกษตรอินทรีย์ใช้เงินลงทุน 30,000 บาท แต่การทำเกษตรที่ใช้สารเคมีใช้เงินลงทุนเพียง 5,000 บาท มันแตกต่างกันมาก และอยากให้หน่วยงานภาครัฐลดการส่งเสริมสนับสนุนนำงบประมาณภาครัฐที่แต่ละจังหวัดได้รับไปจัดซื้อสารเคมีมาแจกจ่ายให้กับเกษตรกร ซึ่งบางจังหวัดในภาคอีสานมีการใช้เงินซื้อสารเคมีจำนวนมาก แต่สนับสนุนกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image