ลงพื้นที่จัดโซนนิ่งภูทับเบิกตามแผน 3-8-8 ฟ้องแพ่ง 16 รีสอร์ตหลังให้ออกจากพื้นที่

วันที่ 16 มี.ค.59 เมื่อเวลา 10.00 น.ายชลธิศ สุรัสสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ นายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ นายณรงค์ คงคำ ผู้อำนวยการกองอำนวยการแก้ไขปัญหาภูทับเบิก พร้อมเจ้าหน้าที่ป่าไม้และชุดพยัคฆ์ไพร ลงพื้นที่ภูทับเบิก บริเวณเนิน 360 องศา ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ เพื่อสำรวจสภาพพื้นที่ตามร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการการใช้พื้นที่(Zoning)ภูทับเบิก ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) ได้จัดทำเสนอทางคณะทำงานพิจารณาโดยมีผู้ช่วยศาสตรจารย์นพปฎล สุวัจนานนท์ กลางแผนที่พร้อมชี้แจงถึงขอบเขตการจัดวางผังที่ดินบริเวณส่วนต่างๆ จากนั้นนายชลลิศขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อบินสำรวจสภาพพื้นที่ทางอากาศอีกด้วย

นายชลธิศกล่าวว่า การเข้ามาในครั้งนี้ เนื่องจากมองว่าพื้นที่บริเวณนี้มีศักยภาพไม่ว่าจะเป็นด้านเกษตรกรรมหรือการท่องเที่ยว โดยเข้าใจว่าการท่องเที่ยวต้องพัฒนาต่อไปแต่ต้องไม่ทิ้งจุดยืนเกี่ยวกับการรักษาระบบนิเวศ เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ชั้น 2 ทั้งหมด ในการทำงานตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาจึงมีการตกลงกันว่าจะทำการสำรวจในพื้นที่บริเวณ 13,000 ไร่ โดยเฉพาะในบริเวณที่เข้าไปทำประโยชน์ในลักษณะอาคารพาณิชย์ประมาณราว 200 ไร่เศษ ในจำนวนทั้งหมดมีข้อตกลงในเบื้องต้นว่า จะอนุญาตให้คนที่ได้รับสิทธิตามกฎหมายเดิมก็คือกลุ่มชาวม้งที่ได้ถูกกำหนดว่าจะได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่บริเวณนี้

“ตรงนี้ในสถานประกอบการทั้งหมดประมาณ 90 กว่าแห่งพบว่ามีราว 30 กว่าแห่งเป็นกลุ่มบุคคลเดิม นอกนั้นจะเป็นกลุ่มคนเมืองหรือชาวไทยภูเขาจากพื้นที่อื่น ในการที่กรมป่าไม้จำเป็นต้องดำเนินคดีกับผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิเดิมที่ผ่านมาประมาณราว 30 กว่าคดีและในจำนวนมี 18 คดีที่ศาลมีคำตัดสินให้ออกจากพื้นที่แล้ว ในกรณีพื้นที่ที่เหลือหากตรวจคุณสมบัติแล้วไม่สอดคล้องตามเจตนารมณ์กรมป่าไม้จะดำเนินคดีในโอกาสต่อไป” นายชลธิศ กล่าว

นายชลธิศยังกล่าวถึงหลังจากบังคับให้เจ้าของ 16 รีสอร์ตออกจากพื้นที่แล้ว จะจัดการกับพื้นที่อย่างไรก็ตามเพราะศาลไม่มีคำสั่งให้รื้อถอนว่า เป็นส่วนที่จะดำเนินการฟ้องร้องต่อไป โดยที่ดินบริเวณนี้เป็นพื้นที่ป่าไม้ตามพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มีแตกต่างจากที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ในกรณีนี้จึงต้องดำเนินการ 2 รอบๆแรกฟ้องแพ่งให้ออกและอีกรอบฟ้องแพ่งชดเชยค่าเสียหาย สิ่งที่เราทำมุ่งสู่ความสำเร็จในเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่ อะไรที่ไม่ควรจะอยู่ก็ไม่จะอยู่ อะไรที่อยู่ได้ก็จะให้อยู่ตามกรอบกติกาของสังคม

Advertisement

ต่อข้อซักถามถึงที่ดิน 16 รีสอร์ตหลังถูกบังคับให้ออกแล้วจะนำที่ดินมาจัดสรรให้ราษฎรรายอื่นหรือไม่นั้น นายชลธิศกล่าวว่า ก็ขึ้นอยู่กับผังการใช้ประโยชน์ที่ดินรวมบริเวณนั้นที่มีการออกแบบไว้แล้ว ส่วนจะจัดใครลงจะเป็นคนใดก็ต้องขึ้นอยู่กับคุณสมบัติ ซึ่งจะการพิจารณาในเงื่อนไข อย่างไรก็ตามผู้ที่จะมาลงก็ต้องเป็นคนที่เหมาะสมและตามแนวนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะในเรื่องประชารัฐให้ความสำคัญกับผู้ยากไร้

201603111749441-20021028190322

“ฉะนั้นผู้ที่จะมาใช้ประโยชน์ในที่ดินจะเป็นนายทุนหรือมีที่ดินอยู่แล้วคงไม่สามารถทำได้ อย่าลืมว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นป่าลุ่มน้ำและต้นน้ำ ประชาชนที่อยู่ในพื้นล่างจะร่วมใช้ประโยชน์ในทางอ้อม ถ้าพื้นที่ต้นน้ำบริเวณไม่ถูกบริหารจัดการต่อให้มีเขื่อนหรือมีการบริหารจัดด้านวิสกรรมมากมายขนาดไหนก็ไม่มีประโยชน์” นายชลธิศ กล่าว

Advertisement

นายชลลิศ ยังกล่าวอีกว่า ไม่มีการเลือกปฎิบัติแต่เรียนตามตรงว่าที่เราจะดำเนินคดีช้าหรือเร็ว ก็เป็นเรื่องของขั้นตอนตามกฎหมาย สำคัญที่สุดเมื่อก่อนเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ก่อนจะลงทำงานในตอนนั้นยังไม่มีแนวทางที่จะบอกว่า จะต้องมีการคัดกรองคน แต่วันนี้แน่นอนที่สุดเราจะไม่ดำเนินคดีกับคนที่ต่อเติมเก่าแต่วันนี้เรารู้แล้วว่าเขาคือใคร ดังนั้นเราจะไม่เลือกว่าเป็นคนเก่าคนใหม่

“ตอนแรกเราตกลงว่าถ้าไม่บุกรุกใหม่ไม่ต่อเติมใหม่ก็จะรอผลการพิจารณา แต่วันนี้ทางพม.ได้คัดกรองบุคคลเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นแนวทางใน 3-4 หน่วยงานไม่ว่าจะเป็นกระทรวง ทส. พม.และมท.เรามุ่งมั่นจะแก้ไขปัญหาให้กับประเทศชาติให้ความยุติธรรมกับทุกภาคส่วน ส่วนพี่น้องประชาชนที่มีสิทธิดั้งเดิมก็ควรจะได้รับสิทธิต่อไป” นายชลธิศ กล่าว

ต่อมาเวลา 11.00 น.ที่ผ่านมา ที่กองอำนวยการแก้ไขปัญหาภูทับเบิก นายชลธิศและนายบัณฑิตพร้อมนายณรงค์ ได้ร่วมประชุมกับคณะทำงานแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิก โดยมีภาคีเครือข่ายในจังหวัดเพชรบูรณ์เข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาภูทับเบิกตามนโยบาย 3-8-8 คือ 3 หน่วยงานหลักได้แก่ กระทรวง พม. กระทรวง ทส.และจังหวัดเพชรบูรณ์ ในการขับเคลื่อน 8 ยุทธการให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือน ทั้งนี้แต่ละหน่วยงานหลักได้รายงานถึงภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ในขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์นพปฎลได้รายงานและนำเสนอถึงกรอบแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ภูทับเบิกตามร่างแผนแม่บท เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและเสนอแนะให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่และข้อมูลซึ่งเป็นปัจจุบันอย่างรอบด้านอีกด้วย

นายชลธิศ ได้กล่าวในที่ประชุมว่า มีการวางแผนว่าหลังการตรวจสอบพื้นที่ ในช่วงกลางเดือนและปลายเดือนจะลงมาคุยกับเจ้าของพื้นที่อีกครั้ง ถึงรูปแบบที่จะออกแบบภูทับเบิกออกมาใหม่ จากนั้นก็จะนำเรื่องไปรายงานให้ทางครม.เพื่อที่จะทราบและขั้นตอนสุดท้ายก็คือการขอใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้ เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1,2 ความละเอียดอ่อนขอการอนุญาตก็ต้องมีความชัดเจนว่า ตรงบริเวณไหนจะมีการใช้ประโยชน์ในประเภทใด

ขณะที่นายณรงค์ กล่าวว่า จากการสำรวจในวันนี้มีราษฎรชาวเขาไปประกอบกิจการที่ผิดวัตถุประสงค์ไม่กี่ครอบครัว เพราะฉะนั้นไม่กี่ครอบครัวก็ต้องเสียสละหากจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแก้ไข เพื่อให้คนส่วนใหญ่อีกกว่า 4000 คน ได้อยู่อย่างปกติสุขเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า ก่อนเริ่มการประชุมได้มีผู้ประกอบการเจ้าของรีสอร์ตจำนวน 16 ราย ซึ่งล่าสุดศาลจังหวัดหล่มสักสั่งบังคับคดีให้ออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายชลธิศ สุรัสสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ เพื่อขอให้ช่วยพิจารณาชะลอการออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีนายพัชรพล ทรงศักดิ์ปริญญาวงศ์ ผู้ประกอบการอีกรายที่อ้างว่า พื้นที่เพเป็นราษฎรชาวเขาในพื้นที่ภูทับเบิกแต่ถูกบังคับคดีเช่นเดียวกัน ซึ่งนายชลธิศรับหนังสือไว้และรับปากว่า จะนำเรื่องไปทบทวนว่ามีช่องทางทางกฎหมายระเบียบข้อปฎิบัติพอจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image