บึงกาฬรวมใจ ใช้ “ใบยาง” จัดทำ “ดอกไม้จันทน์”

จังหวัดบึงกาฬได้ประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดพิธีถวายดอกไม้จันทน์ จังหวัดบึงกาฬขึ้น โดยมีนายพิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬเป็นประธานในการประชุม ณ ศาลากลางจังหวัดบึงกาฬ เมื่อเร็วๆ นี้

การจัดประชุมในครั้งนั้นเป็นการเตรียมความพร้อมในพิธีถวายดอกไม้จันทน์ของประชาชนในจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งคาดว่าจะมีการวางดอกไม้จันทน์จำนวน 210,500 ดอก โดยใช้วัสดุจากธรรมชาติในการผลิต ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ดอกไม้จันทน์สำหรับเป็นตัวแทนจังหวัดและอำเภอ จำนวน 878 ช่อ จัดส่งไปร่วมกับส่วนกลางที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง และส่วนที่ 2 ดอกไม้จันทน์สำหรับประชาชนร่วมถวายดอกไม้จันทน์ในพื้นที่

กระทรวงมหาดไทยมอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชนรับผิดชอบในการออกแบบและจัดทำดอกไม้จันทน์ของจังหวัดและอำเภอ รวมทั้งสนับสนุนการฝึกสอนการทำดอกไม้จันทน์สำหรับประชาชน

Advertisement

ทั้งนี้ดอกไม้จันทน์ที่จัดไว้สำหรับเป็นตัวแทนจังหวัดและอำเภอ ได้กำหนดให้จังหวัดออกแบบและจัดทำดอกไม้จันทน์โดยมีต้นแบบเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดที่มีความเหมาะสม เช่น จังหวัดบึงกาฬใช้ดอกสิรินธรวัลลี กำหนดขนาดความกว้าง 21-24 ซม. และสูง 35-45 ซม. พร้อมป้ายชื่ออำเภอ/จังหวัด

เน้นการใช้วัสดุธรรมชาติที่มีในพื้นที่ หรือวัสดุดัดแปลงตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่น เปลือกข้าวโพด ผักตบชวา ใบตองแห้ง ใบยางพารา หรือกระดาษสา ประกอบกับจังหวัดบึงกาฬมีการปลูกยางพาราเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านไร่ สามารถใช้ใบยางพาราในการผลิตดอกไม้จันทน์ได้ตามแบบที่ส่วนกลางกำหนด 7 แบบด้วยกัน คือ 1.ดอกดารารัตน์ 2.ดอกกุหลาบ 3.ดอกพุดตาน 4.ดอกลิลลี่ 5.ดอกกล้วยไม้ 6.ดอกชบาทิพย์ 7.ดอกชบาหนู และจะใช้ดอกไม้ประจำจังหวัดคือดอกสิรินธรวัลลีเป็นแบบในการผลิตดอกไม้จันทน์อีก 1 แบบ

พ.อ.ธวัชชัย ปัญญะวิก สัสดีจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า การนำใบยางพารามาแปรรูปทำดอกไม้จันทน์เพื่อใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เกิดจากการประชุมที่จังหวัด ในที่ประชุมได้หารือกับทุกภาคส่วนของจังหวัดบึงกาฬถึงวัสดุจัดทำดอกไม้จันทน์ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้ถามว่าพอจะใช้ใบยางพาราที่มีอยู่ได้ไหม

Advertisement

“ผมชี้แจงกลับไปว่าใบยางพาราในสวนนั้นมีมาก สามารถตัดลงมาได้ หลังจากนั้นผมกลับไปที่สวนยาง เรียกประชุมลูกน้อง 30 ครอบครัวที่รับจ้างกรีดยาง บอกกับพวกเขาว่าทางจังหวัดบึงกาฬต้องการใบยางเพื่อนำไปจัดทำดอกไม้จันทน์ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 พอวันรุ่งขึ้นทุกคนก็ลงมือดำเนินการ โดยกลุ่มหนึ่งตัดกิ่งใหญ่ๆ ของยางลงมาประมาณ 200-300 ต้น อีกกลุ่มหนึ่งเด็ดยอดละ 3 ใบ ใส่ถุงอย่างเดียว ทำอยู่ 2 วัน ได้ใบยางทั้งหมด 16 ถุงใหญ่”

พ.อ.ธวัชชัยกล่าวว่า เมื่อได้ใบยางมาได้นำไปแช่น้ำประมาณ 25 วัน และนัดกันไปล้างใบยาง ใช้คนประมาณ 100 คน ทั้งทหารกองหนุน ชาวบ้าน ข้าราชการสัสดีอำเภอและจังหวัดลงไปล้าง การล้างใบยางยากมาก เพราะต้องใช้แหล่งน้ำที่จะล้าง ถ้าน้ำไม่หมุน หรือน้ำไม่แรงพอ คลอโรฟิลล์ก็จะออกไม่หมด

แต่เราทำได้ภายในวันเดียว ล้างหมด 16 ถุงใหญ่

หลังจากนั้นนำใบยางทยอยมาคัดแยกส่วน เอาส่วนดีไปแช่ไฮเตอร์จากสีคล้ำๆ จะขาว พอแช่เสร็จ ใช้เวลาประมาณ 25-30 นาที นำขึ้นมาล้างน้ำ 3 น้ำ เพื่อล้างไฮเตอร์ออกให้หมดแล้วนำไปผึ่งแดดในที่ร่มให้แห้ง พอแห้งก็นำมาบรรจุถุง นับโดยการชั่ง 1 ถุง ขนาด 1 ขีดต่อใบยาง 2,000 ใบ 2 ขีด ต่อใบยาง 4,000 ใบ ทำได้ทั้งหมด 270,000 กว่าใบ

ต่อมาได้ส่งมอบให้กับ นายพิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ส่งมอบให้กับหน่วยงานต่างๆ เช่น พัฒนาชุมชน, พัฒนาฝีมือแรงงาน, การศึกษานอกโรงเรียน, เขตพื้นที่การศึกษา, ท้องถิ่นจังหวัด, หอการค้า, องค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ เพื่อนำไปทำดอกไม้จันทน์ร่วมกับวิทยากรต้นแบบ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ในการจัดทำดอกไม้จันทน์ และให้ประชาชนจิตอาสาในแต่ละอำเภอใช้เวลาว่างในการจัดทำดอกไม้จันทน์ร่วมกัน

“แรงจูงใจในการทำใบยางครั้งนี้เกิดจากสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เราตั้งใจทำถวาย ชาวบ้านเองก็ร่วมบริจาคร่วมทำโดยไม่คิดค่าแรง ทำเพื่อถวายท่านทั้งหมด งานนี้

ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจให้กับชาวบ้าน” พ.อ.ธวัชชัยกล่าว และว่า การร่วมแรงร่วมใจกันครั้งนี้ถือว่ายิ่งใหญ่ เราไม่ได้หวังอะไรเลย หวังว่าเราทำถวายพระองค์ ทำเพื่อนำไปให้ชาวบ้านใช้จัดทำดอกไม้จันทน์

นายพงษ์ศักดิ์ เหมะธุลิน รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดบึงกาฬ ในนามตัวแทนที่รับผิดชอบเรื่องการจัดทำดอกไม้จันทน์ สรุปผลการจัดทำดอกไม้จันทน์จากประชาชนทุกภาคส่วนทั้ง 8 อำเภอแล้วจำนวน 350,175 ดอก และได้จัดพิธีนำดอกไม้จันทน์ตัวแทนของจังหวัดและอำเภอมาประกอบพิธีอธิษฐานจิต และนำดอกไม้จันทน์ตัวแทนของจังหวัดส่งมอบให้กระทรวงมหาดไทยแล้ว เพื่อรวบรวมให้กรุงเทพมหานครนำไปถวายที่หอเปลื้องพระเมรุมาศในวันที่ 26 ตุลาคม 2560

ด้าน นายพิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวินิจฉัยให้รัฐบาลดำเนินการก่อสร้างพระเมรุมาศจำลองทั่วประเทศ ด้วยทรงห่วงใยว่าประชาชนจำนวนมากจะไม่สามารถเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯได้ จึงมีพระราชประสงค์ให้ทุกคนมีโอกาสถวายความจงรักภักดีแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นครั้งสุดท้ายอย่างทั่วถึง โดยทรงพระกรุณาให้จัดสร้างพระเมรุมาศจำลองรวมจำนวน 85 แห่ง ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และในส่วนภูมิภาค จำนวน 76 จังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง

รวมทั้งจังหวัดบึงกาฬด้วย

จังหวัดบึงกาฬจัดทำซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ตามที่กรมศิลปากรออกแบบในทุกอำเภอทั้ง 8 อำเภอ ได้แก่ 1.อำเภอเมืองบึงกาฬร่วมกับจังหวัดบึงกาฬ จัดพิธีถวายดอกไม้จันทน์ที่บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองบึงกาฬ สามารถรองรับประชาชนได้ประมาณ 50,000 คน 2.อำเภอบุ่งคล้า จัดพิธีถวายดอกไม้จันทน์ที่บริเวณเมรุวัดบึงสาราษฏร์ สามารถรองรับประชาชนได้ประมาณ 7,000 คน 3.อำเภอบึงโขงหลง จัดพิธีถวายดอกไม้จันทน์ที่บริเวณเมรุวัดสว่างวารี สามารถรองรับประชาชนได้ประมาณ 18,700 คน 4.อำเภอเซกา จัดพิธีถวายดอกไม้จันทน์ที่บริเวณเมรุวัดไตรภูมิ สามารถรองรับประชาชนได้ประมาณ 43,100 คน

5.อำเภอพรเจริญ จัดพิธีถวายดอกไม้จันทน์ที่บริเวณเมรุวัดป่าวิเวกธรรมคุณ สามารถรองรับประชาชนได้ประมาณ 21,800 คน 6.อำเภอศรีวิไล จัดพิธีถวายดอกไม้จันทน์ที่บริเวณเมรุวัดอรัญญวิเวก สามารถรองรับประชาชนได้ประมาณ 20,000 คน 7.อำเภอโซ่พิสัย จัดพิธีถวายดอกไม้จันทน์ที่บริเวณเมรุวัดสุวรรณาราม สามารถรองรับประชาชนได้ประมาณ 36,200 คน และ 8.อำเภอปากคาด จัดพิธีถวายดอกไม้จันทน์ที่บริเวณเมรุวัดโพธิ์ศรีสร้อย สามารถรองรับประชาชนได้ประมาณ 17,700 คน

ทั้งหมดกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 15 ตุลาคมนี้

สำหรับชาวจังหวัดบึงกาฬสามารถร่วมพิธีถวายดอกไม้จันทน์ ณ พื้นที่ซึ่งทางอำเภอกำหนดไว้ตามความสมัครใจ โดยอำเภอได้จัดทำแผนอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่จะมาร่วมพิธีถวายดอกไม้จันทน์เอาไว้เรียบร้อยแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image