นักวิจัย พบแมลงสาบทะเล ชนิดใหม่ของโลก พื้นที่จ.ภูเก็ต กลุ่มเดียว กุ้ง – ปู

ดร.เอกนรินทร์ รอดเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ Dr. Niel Bruce ประเทศออสเตรเลีย และ รศ.ดร. พรศิลป์ ผลพันธิน ภาควิชาชีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ค้นพบแมลงสาบทะเลชนิดใหม่ของโลกในฝั่งทะเลอันดามัน เป็นตัวชี้วัดระบบนิเวศน์และเป็นห่วงโซ่อาหารให้สัตว์น้ำอื่นไอโซพอด (Isopod) หรือแมลงสาบทะเลคือ สัตว์กลุ่มเดียวกับพวกกุ้ง ปู (Crustacean) ส่วนใหญ่ขนาดลำตัวมีความยาวประมาณ 0.5-2.0 ซม. อาศัยอยู่ตามพื้นท้องทะเล โดยพบได้ทั่วไปตั้งแต่เขตน้ำขึ้นน้ำลง จนถึงทะเลลึก มักออกหากินในตอนกลางคืน สัตว์กลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศทางทะเลมาก คือเป็นฐานอาหารลำดับต้นๆ ในห่วงโซ่อาหารให้กับสัตว์น้ำต่างๆ และยังเป็นตัวช่วยย่อยสลายซากสัตว์ในทะเล แต่หากบริเวณใดที่มีน้ำเสียมากๆ จะไม่พบสัตว์กลุ่มนี้ เพราะมันจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในบริเวณที่เกิดมลพิษทางน้ำ

สำหรับแมลงสาบทะเลชนิดใหม่ของโลกที่ถูกค้นพบในครั้งนี้ แพร่กระจายตามแนวชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย แต่ถูกพบครั้งแรกที่ จังหวัดภูเก็ต จึงได้ให้ชื่อว่า Cirolana phuketensis ตามสถานที่ค้นพบครั้งแรก และได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่บทความระดับนานาชาติในวารสาร ZooKeys

 

Advertisement

ปัจจุบันพบว่าประเทศไทย รวมถึงประเทศแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีการศึกษาสัตว์กลุ่มนี้อยู่น้อย โดยเฉพาะการศึกษาทางด้านอนุกรมวิธานและการจัดระบบความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ผู้วิจัยเริ่มศึกษากลุ่มนี้อย่างจริงจังในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมา และได้มีรายงานแมลงสาบทะเลชนิดใหม่ของโลก ที่พบในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่นี้ จะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ ไม่ว่าในการศึกษาต่อยอดด้านอื่นๆ หรือใช้เป็นเครื่องมือการประเมินความหลากหลายชีวภาพทางทะเลในน่านน้ำไทย ตลอดจนการอธิบายการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติทางชีวภูมิศาสตร์ของแถบอินโด-แปซิฟิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image