รมช.พาณิชย์เผยนายกฯห่วงแล้ง ขอให้เชียงใหม่ทำงานเชิงรุก แนะใช้หลักประชารัฐสกัดนอมินีต่างชาติ

วันที่ 14 มีนาคม เมื่อเวลา 09.30 น. นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมการติดตามสถานการณ์ หารือแนวทางการบริหารจัดการด้านการตลาดผลไม้และปัญหาภัยแล้ง ที่ห้องประชุมชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยมี น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นายประวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นางนิยดา หมื่นอนันต์ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมและรายงานสถานการณ์ในพื้นที่

นายประวิณ ได้รายงานว่า ปี 2559 เชียงใหม่ประสบปัญหาภัยแล้งพอสมควรแม้จะเป็นพื้นที่ต้นน้ำ แต่ระบบชลประทานกลับครอบคลุมพื้นที่เพียง 16.7% ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรจำนวนมาก ในขณะที่ในแง่ปัญหาการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพบว่าพื้นที่ป่าถูกทำลายเป็นเขาหัวโล้น และมีปัญหาหมอกควันทุกปี ในขณะที่การพัฒนาทางการท่องเที่ยวเริ่มมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีปัญหาเรื่องคุณภาพนักท่องเที่ยว จึงกังวลว่าจะเกิดปัญหาแบบเดียวกับพัทยาและภูเก็ต ซึ่งการท่องเที่ยวไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้ไม่สมบูรณ์ รวมทั้งไม่มีด้านการค้าถาวรแนวชายแดนทั้งที่มีภูมิประเทศติดกับประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนผู้แทนจากสำนักชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า ระดับน้ำในเขื่อนสองแห่งคงเหลือ 15% โดยเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลคงเหลือน้ำ 53 ล้านลบ.ม. หรือ 30% มีเกษตรกรปลูกพืชเกินแผนเล็กน้อย ส่วนเขื่อนแม่กวงอุดมธาราเหลือ 29.6 ล้านลบ.ม. หรือ 11% งดการจ่ายน้ำให้เกษตรกร ในขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 12 แห่ง คงเหลือน้ำ 17% ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 115 แห่ง คงเหลือน้ำ 20% แต่ยังคงมีน้ำเพื่อการบริโภค-อุปโภคและผลิตน้ำประปาไปจนถึงปลายเดือนมิถุนายน 2559 รวมทั้งการปลูกพืชใช้น้ำน้อย

สำหรับผู้แทนเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ รายงานว่า ผลผลิตลำไยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยเกษตรกรหันกลับมาปลูกลำไยทั้งในและนอกฤดูกาล เนื่องจากราคาผลผลิตไม่ต่างกันมากนัก จากพื้นที่เพาะปลูกกว่า 300,000 ไร่ และให้ผลผลิตประมาณ 277,000 ตัน ส่วนฤดูกาลนี้ลำไยเริ่มติดดอกเพราะเดือนกุมภาพันธ์อากาศยังคงหนาวเย็น จึงต้องรอประเมินแนวโน้มของการติดผลไปอีกระยะ

Advertisement

นายสุวิทย์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยปัญหาภัยแล้งและขอให้เร่งเตรียมการรับมือให้ดี โดยขอให้ทำงานในเชิงรุก ปัญหาปากท้องประชาชน ราคาสินค้าทำอย่างไร และการกระจายกันช่วยบรรเทาภัยแล้งให้กับประชาชน โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ที่มีผลกระทบกับผลผลิตลำไย ในฐานะที่เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง เป็นพื้นที่เพาะปลูกสำคัญด้านการเกษตรแต่กำลังเผชิญภัยแล้งรุนแรง

“รวมทั้งการบริหารจัดการในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่มีทุนต่างชาติเข้ามาเกี่ยวพันส่งผลต่อการค้าปลีกค้าส่ง และทำอย่างไรไม่ให้เกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบ จึงอยากให้เกิดความมีส่วนร่วมแบบประชารัฐ ด้วยการหารือและวางแผนแก้ปัญหาระยะยาว เพื่อสกัดกั้นการลุกลามของธุรกิจนอมินี (Nominee) หลังเกิดกรณีนักธุรกิจชาวต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในไทย โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว บริการโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ล้งผลไม้ และค้าปลีกค้าส่ง และใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง ดำเนินธุรกิจหลีกเลี่ยงกฎหมายสร้างผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของไทยอย่างมาก” นายสุวิทย์ กล่าว

นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจ เดินหน้าทำความเข้าใจคนไทยไม่ให้หลงเชื่อและยินยอม หากถูกเชื้อเชิญจากนักธุรกิจต่างชาตินำชื่อไปเป็นผู้ถือหุ้นแทน หรือนอมินี ซึ่งก็มีการตื่นตัวและพร้อมร่วมมือดี รวมทั้งประสานกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมการท่องเที่ยว และดีเอสไอ ลงพื้นที่ตรวจสอบธุรกิจอย่างต่อเนื่องในจังหวัดท่องเที่ยวที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง อาทิ ชลบุรี สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ เชียงใหม่ และภูเก็ต ซึ่งในอนาคตจะขยายพื้นที่ไปยังจังหวัดในเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย เพื่อครอบคลุมพื้นที่สำคัญที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหานอมินี

Advertisement

201603141132051-20021028190355

อย่างไรก็ตาม นายมานพ จินานะ ประธานสมาพันธ์ ผู้ปลูกลำไยคุณภาพเพื่อการส่งออกภาคเหนือ ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือแนวทางแก้ไขปัญหาลำไยต่อนายสุวิทย์ ระบุให้บรรจุข้อความลงในรัฐธรรมนูญว่า รัฐจะสนับสนุนพัฒนา วิจัย วางแผนการผลิตให้สมดุลกับตลาด และหาปัจจัยสนับสนุนการผลิต วางแผนจัดการอย่างมีระบบ สำรวจตลาดความต้องการทั้งในและต่างประเทศ ผลิตลำไยดีมีคุณภาพตรงความต้องการของตลาด พร้อมระบุว่าลำไยมี 2 ประเภท คือลำไยวัฒนธรรมที่ออกตามธรรมชาติไม่ได้คุณภาพ และลำไยธุรกิจ แต่ปัจจุบันการขนส่งจากเชียงใหม่ไปแหลมฉบังเพื่อออกไปตลาดใหญ่ที่กวางโจว ต้องใช้เวลา 15 วัน ต้นทุนจึงสูงถึง 30 บาทต่อกิโลกรัม หากลดต้นทุนการขนส่งลงได้ก็จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมแสดงความกังวลว่าไม่เกิน 20 ปี อาชีพการผลิตลำไยจะหมดไปจากภาคเหนือเพราะปัจจุบันเกษตรกรอายุมากเฉลี่ย 50 ปี และมีแนวโน้มเลิกผลิต

ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการประชุมในช่วงบ่าย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จะเแถลงข่าวผลการหารือร่วมกับทุกฝ่ายอย่างเป็นทางการอีกครั้งในเวลา 15.00 น.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image