แนวโน้มปัญหาสุขภาพ ‘โรคซึมเศร้า’ รั้งอันดับ 2 รอง ‘หัวใจขาดเลือด’ ภาคเหนือสถิติฆ่าตัวตายสูงสุด

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 นายแพทย์ปริทรรศ ศิลปกิจ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลสวนปรุง จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เนื่องในวันที่ 1-7 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประกอบกับองค์การอนามัยโลก และธนาคารโลกได้วิเคราะห์ประเมินว่าปี พศ.2564 การเจ็บป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับสอง รองจากโรคหัวใจขาดเลือด กรมสุขภาพจิตจึงได้กำหนดแนวคิดในการลดสถิติการเจ็บป่วยและฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากโรคดังกล่าว ภายใต้หัวข้อ “ซึมเศร้า.. เราคุยกันได้” เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้เรื่องโรคซึมเศร้า เข้าใจ และช่วยเหลือดูแลจิตใจผู้ป่วย หรือผู้ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าให้เข้าถึงการรักษา

นายแพทย์ปริทรรศ กล่าวว่า ผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวจะมาด้วยอาการเบื่อหน่ายทางอารมณ์ หดหู่ รู้สึกเซ็ง ไม่มีความสุข แม้แต่งานอดิเรกที่เคยชอบก็ไม่อยากทำ มักเก็บตัวไม่อยากออกไปไหน กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้สูงอายุ แต่ขณะนี้วัยรุ่นก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเครียดจากการเรียน เรื่องเพื่อนและผู้ปกครอง จึงอยากขอให้เข้ามาคัดกรองที่โรงพยาบาลที่ดูแลด้านสุขภาพจิต

หากรู้ตัวว่ามีภาวะที่เข้าข่ายป่วยเป็นโรคซึมเศร้าดังกล่าว เนื่องจากโรคนี้รักษาได้ ค่ารักษาไม่แพง สามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม สิทธิข้าราชการ หรือแม้จะไม่มีสิทธิใดๆเราก็ทำการรักษา เบื้องต้นแพทย์จะทำการคัดกรองอาการและให้ยาไปรับประทาน 1-2 สัปดาห์ก็จะดีขึ้น ถ้ารายที่เป็นหนัก ก็อาจจะให้พักนอนที่โรงพยาบาลสักพัก

Advertisement

“อยากให้มาตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาล เนื่องจากโรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุสำคัญของการฆ่าตัวตาย ขณะนี้สถิติการฆ่าตัวตายของภาคเหนือตอนบน คือ ลำพูน เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แพร่ น่าน และพะเยา ถือเป็นแชมป์ของประเทศ มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเกิน 10 ต่อแสนประชากร ขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่เพียง 6 ต่อแสนประชากร ยิ่งไปบวกกับปัญหาสุรา ดื่มสุรา+เศร้า ยิ่งฆ่าตัวตายกันมากขึ้น ขอรณรงค์ให้ผู้ซึมเศร้าได้เข้ามาคัดกรองและรับการรักษา”

นายแพทย์ปริทรรศ กล่าวอีกว่า ผลเสียของการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หนักที่สุดคือการฆ่าตัวตาย เบาลงมาก็อาจเสียการเสียงาน เหมือนคนขี้เกียจ บ้างก็ถูกด่าถูกตำหนิ สุดท้ายโดนมากๆก็ไปฆ่าตัวตาย ทั้งที่หากคนรอบข้างใส่ใจสอบถาม เห็นอกเห็นใจ รับฟังผู้ป่วยก็จะดีขึ้น ปัจจุบันทั้งประเทศมีคนไทยที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแต่ยังไม่ได้เข้ารับการรักษาประมาณ 40% ส่วนอีก 60%เข้ารับการรักษาแล้ว ส่วนที่จังหวัดเชียงใหม่คนรุ่นใหม่เดินเข้ามาขอรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลสวนปรุงกันมากขึ้น มีทั้งพระสงฆ์ นักศึกษา รวมถึงนักเรียนมัธยม คนกลุ่มนี้ต้องการเข้ามารับการรักษา เนื่องจากใช้วิธีคัดกรองอาการของตัวเองเบื้องต้นผ่านทางการตอบแบบทดสอบทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี

“โรคนี้รักษาให้หายได้ ไม่ใช่โรคบ้า แต่เกิดจากสมองล้ามันและเพลีย เพราะความเครียด และมีปัจจัยต่าง ๆที่ทำให้สมองเสียสมดุล สารเคมีบางตัวจึงหลั่งออกมาน้อยเกินไป เลยทำให้อารมณ์ไม่เบิกบานไม่สดชื่น การให้ยาเข้าไป จะช่วยกระตุ้นให้เกิดสมดุลในส่วนนี้ อย่างไรก็ตามการพูดคุย ให้กำลังใจ รวมทั้งหลักทางศาสนาก็จะช่วยประคับประคองจิตใจให้ดีขึ้น”

Advertisement

นายแพทย์ปริทรรศ กล่าวทิ้งท้ายว่า หากพบว่าตัวเองหรือคนในครอบครัวมีอาการเข้าข่ายมีภาวะเครียดซึมเศร้า หากเป็นไปได้ควรถามเขาถึงการฆ่าตัวตาย อาจถามว่ามันแย่ถึงขนาดอยากนอนหลับไปตลอด หรือไม่อยากอยู่อยากตายแล้วหรือไม่ แล้วได้เตรียมตัว หรือมีแผนไว้หรือยัง แต่ต้องถามด้วยท่าทีที่เห็นอกเห็นใจห่วงใยเมตตา ไม่ใช่ไปคาดคั้น กดดันหรือท้าทายเขา ซึ่งการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ระบายอาจช่วยลดสถิติการฆ่าตัวตายให้ลดลงได้

ในวันที่ 3-5 พฤศจิกายน 2560 เวลา 10.00 – 20.00 น. ขอเชิญชวนประชาชนทุกกลุ่มวัย ร่วมงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2560 “ซึมเศร้า.. เราคุยกันได้” ซึ่งจะจัดขึ้นที่โซน B1 อุทยานการค้ากาดสวนแก้วเชียงใหม่ สอบถามเพิ่มเติม ได้ที่ งานประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลสวนปรุง 053- 908500 (เวลาราชการ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image