ฮือฮา! จนท.พบ ‘ไอ้ด่าง ช้างแม่แปรก’ ผู้ดูแลปกป้องช้างในโขลง หากินในสวนป่าทองผาภูมิ

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 นายเสด็จ ฮุยอวน หัวหน้าสวนป่าทองผาภูมิ หมู่ 6 ต.ห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่สวนป่าตรวจพบช้างป่าอพยพเข้ามาอาศัยหากินในสวนป่าทองผาภูมิซึ่งปลูกขึ้นทดแทนพื้นที่เสื่อมโทรม ผลจากผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ตามหลักวนวัฒน์วิทยา มีความใกล้เคียงป่าธรรมชาติ

นายเสด็จเปิดเผยว่า สวนป่าทองผาภูมิเป็นสวนป่าในสังกัดองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคกลาง องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการตามภารกิจในการปลูกสร้างสวนป่าทดแทนในพื้นที่เสื่อมโทรมหลังการสัมปทานทำไม้สิ้นสุดลง โดยได้เริ่มปลูกสร้างสวนป่าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2521-2539 มีพื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่ ปลูกไม้สักประมาณ 15,000 ไร่ ที่เหลือเป็นไม้ดีมีค่า เช่น แดง ยางนา ประดู่ ตะเคียนทอง

ภายหลังจากการปลูกสร้างสวนป่าแล้วได้รับมอบพื้นที่ในส่วนที่ไม่อยู่ในเขตอนุรักษ์ (พื้นที่เศรษฐกิจ โซน E) จากกรมป่าไม้มาดูแลรักษาตามมติ ครม.เมื่อปี พ.ศ.2533 และเมื่อปี พ.ศ.2538 กรมป่าไม้ได้อนุญาตให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ใช้ประโยชน์ไม้ที่ปลูกได้ และปลูกทดแทนโดยใช้งบประมาณขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เอง

สวนป่าทองผาภูมิจึงได้นำไม้ที่ปลูกออกมาใช้ประโยชน์ โดยการตัดสางขยายระยะและตัดหมดเมื่อไม้ครบอายุตัดฟัน พร้อมปลูกทดแทนทันที ทำให้มีแปลงปลูกป่าที่หลากหลายอายุ เกิดการหมุนเวียนของทรัพยากรตลอด การดำเนินตามแนวนโยบายด้านการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานสากลของ อ.อ.ป. เน้นความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม

Advertisement

ทำให้ภายในเขตสวนป่ามีความอุดมสมบูรณ์จากการอนุรักษ์พื้นที่มีคุณค่าสูง เช่น พื้นที่สองฝั่งลำห้วย พื้นที่แหล่งน้ำ พื้นที่ป่าพุ ตาน้ำผุด ต้นไม้ธรรมชาติดั้งเดิม กระจายครอบคลุมทั่วพื้นที่ ทำให้สภาพของพื้นที่สวนป่าที่ปลูกมีความใกล้เคียงกับป่าธรรมชาติมาก การดำเนินการจัดการสวนป่าตามหลักวนวัฒน์วิทยาในแปลงที่มีอายุของไม้ต่างกัน ทำให้มีการทดแทนของวัชพืชจำพวกหญ้า ไม้พื้นล่างมีความหลากหลาย เกิดความต่อเนื่องเหมาะสมที่จะสามารถเป็นอาหารของสัตว์ได้

ด้วยความอุดมสมบูรณ์นี้ จึงทำให้มีช้างป่าที่อาศัยในเขตอนุรักษ์ที่มีพื้นที่แนวเขตติดต่อกับสวนป่าอพยพเข้ามาอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่สวนป่าทองผาภูมิ โดยการอพยพออกมาของช้างป่าก็มีผลกระทบต่อชุมชนรอบๆ สวนป่า

เนื่องจากช้างขยายพื้นที่หากินและชอบพืชผลทางการเกษตร การแก้ไขปัญหาเรื่องช้างป่ากับชุนชนจึงเป็นเรื่องใหญ่และต้องมีแผนการจัดการระยะยาว จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ซึ่งหลายๆ ที่ในประเทศไทยก็ประสบปัญหาช้างป่าเช่นกัน คงต้องนำแนวทางที่สามารถแก้ไขปัญหาหรือลดผลกระทบความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างมาปรับใช้กับพื้นที่ของตำบลห้วยเขย่งต่อไป

Advertisement

สำหรับช้างป่าที่มีอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ที่คอยเฝ้าติดตามดูพฤติกรรมมาโดยตลอด พบว่ามีช้างป่าตัวเมีย อายุค่อนข้างมาก และเป็นช้างป่าที่ตัวใหญ่ที่สุดในโขลง เจ้าหน้าที่ของเราเรียกมันว่า “ไอ้ด่าง” โดยจากการสังเกตพฤติกรรมของช้างป่าตัวดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของเราคาดว่าน่าจะเป็นผู้นำโขลงช้าง หรือจ่าฝูง หรือ “ช้างแม่แปรก”

คำว่า “ช้างแม่แปรก” นั้นประชาชนทั่วไปอาจจะไม่คุ้นหูหรือไม่เคยได้ยินคำคำนี้มาก่อน ซึ่งทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้อธิบายเอาไว้ว่า “แม่แปรก” หรือช้างแม่หนัก เป็นช้างพังที่มีความเก่งกล้ามากจนได้รับหน้าที่นำโขลง

ช้างไทยนั้นจะอยู่รวมกันเป็นโขลง ในโขลงนั้นประกอบไปด้วยช้างเต็มวัยและลูกช้าง จำนวนเฉลี่ย 7-8 ตัวต่อ 1 โขลง ซึ่งช้างเต็มวัยทุกตัวในโขลงนั้นจะเป็นช้างตัวเมียทั้งหมด “แม่แปรก” หรือช้างแม่หนักที่กล่าวมาจะคอยนำทางหาแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ดูแล ปกป้องช้างทุกตัวในโขลงเสมือนเป็นลูกของตัวเอง และเมื่อมีภัยคุกคามเกิดขึ้น “แม่แปรก” จะปกป้องลูกช้างในโขลงอย่างสุดกำลัง แม้จะแลกด้วยชีวิตก็ตาม ดังนั้น จากพฤติกรรมของ “ไอ้ด่าง” จึงเชื่อได้ว่ามันคือ “ช้างแม่แปรก” ที่คอยนำทางหาแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ดูแล ปกป้องช้างทุกตัวในโขลงที่อาศัยอยู่ในสวนป่าทองผาภูมิเสมือนเป็นลูกของตัวเองนั่นเอง

นายเสด็จ ฮุยอวน (ซ้าย) หัวหน้าสวนป่าทองผาภูมิ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image