‘ม.ล.ปนัดดา’ติงโฆษณาในโลกโซเชียลแฝงสร้างความแตกแยก เรียก บ.น้ำดื่มโวเกินจริง คุย สคบ.

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ที่ โรงแรมธรรมรินทร์ ธนา จ.ตรัง หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นประธานและร่วมในพิธีเปิดโครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ แนวทางการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น  โดยมีเจ้าหน้าที่ สคบ.จังหวัด สคบ.เขต 4 จังหวัดสุราษฎรานี สคบ.เขต 5 จังหวัดสงขลา รวมทั้งผู้บริหาร เจ้าหน้าที่จากเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดตรัง รวม 500 คนร่วมประชุม  แะบรรยายพิเศษ เรื่อง ทิศทางการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนภูมิภาค

ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า  การประชุมในวันนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างศักยภาพการปฏิบัติงานการคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นเพิ่มขีดความสามารถ ทักษะ ความรู้ความเข้าใจ และเสริมสร้างความเข้มแข็งในการปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งเร่งรัดติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับจังหวัดและเขตพื้นที่ในการรับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภค การตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจและการส่งเสริมและสนับสนุนเครือข่ายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ม.ล.ปนัดดา กล่าวอีกว่า รัฐบาลอยากเห็นคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเริ่มจากทำงานในส่วนกลาง ซึ่งเข้มแข็งในระดับหนึ่งแล้ว ยังมีความจำเป็นในการที่จะเพิ่มอัตรากำลังหรือจำนวนเจ้าหน้าที่ ที่ยังมีไม่เพียงพอ ซึ่งการเดินทางมาจังหวัดตรัง เป็นการเชื่อมโยงการทำงาน ระหว่างส่วนกลาง ภูมิภาค รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะมีการเชื่อมโยงกับส่วนกลางได้อย่างไรเพื่อให้การทำงานรวดเร็วขึ้น  รวมถึงการร่วมกับรับฟังข้อมูลข่าวสารที่เป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค เพื่อให้ข่าวดังกล่าวมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น  ในส่วนของการดำเนินผ่านทาง สคบ. ระดับจังหวัดที่เกิดความล่าช้านั้น ผู้ร้องเรียนก็สามารถร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งต้องยอมรับว่าจะต้องเร่งรัดปรับปรุงกันพอสมควร

“ในส่วนที่มีการโฆษณาผ่านทางสื่อโทรทัศน์ ที่มีการโฆษณาเกิดความจริงนั้น นอกจากจะรับฟังจากประชาชน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องคอยสุ่มสำรวจ ซึ่ง 2 วันที่ผ่านมามีการร้องเรียนเข้ามาว่า มีการโฆษณาที่ใช้คำว่าสุดโต่ง เกินเลยความจริง ก็ต้องเชิญผู้บริหารของบริษัทนั้นมาชี้แจงไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่กำลังโฆษณาอยู่ในขณะนี้ก็ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีการโฆษณาชวนเชื่อผ่านทางโลกโซเซียล อาทิ อินเตอร์เน็ต โดยการที่จะแชร์อะไรกันต่อไปนั้น เป็นการโฆษณาชวนเชื่อเสียมาก  เป็นการสร้างความเข้าใจที่มีข้อบกพร่อง ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาสินค้า ให้แนวคิดในทางสังคม การเมือง การปกครอง กลายเป็นความขัดแย้ง ความแตกแยกซึ่งไม่สมควรที่จะเกิดขึ้น  การเล่นโซเซียล เน็ตเวิร์ค โลกออนไลน์ โดยวัตถุประสงค์จริงๆเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ รวมถึงการสร้างความสมัครสมานสามัคคี รวมถึงการโฆษณาสินค้าที่จะก่อให้เกิดคุณประโยชน์ ไม่ใช่กลับกลายเป็นสร้างความแตกแยก อันตรายต่อต่อการดำรงชีวิตที่เป็นปกติสุข” ม.ล.ปนัดดา กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image