เสียงครวญจากควาญช้าง หลังแสดงงานช้างสุรินทร์จบ วอนจังหวัดจ่ายค่าตัวเพิ่ม

สุรินทร์-เสียงครวญ จากควาญช้าง หลังแสดงช้างจบ วอนจังหวัดจ่ายค่าตัวช้างเพิ่ม..เพราะไม่คุ้ม..แต่ต้องมาด้วยใจ เพื่อชื่อเสียงของจังหวัด และอยากให้มีช้างเข้าร่วมแสดงช้างมากกว่านี้ อยากให้มีแท็กซี่ช้าง บริการนักท่องเที่ยวในเมืองเหมือนเดิม

สุรินทร์-วันนี้ (19 ต.ค.60) ผู้สื่อข่าวประจำ จ.สุรินทร์ รายงานว่า ที่บริเวณอัฒจันทร์ด้านทิศตะวันตกของ สนามแสดงช้าง จ.สุรินทร์ เมื่อเวลา 13.00 น.พบว่าบรรดาควาญช้างเจ้าของช้าง ต่างพากันยืนเข้าแถวต่อคิวจำนวนมาก เพื่อรอเบิกเงินค่าตัวช้างและค่าคิวการแสดงในแต่ละฉาก หลังบรรดาควาญช้างได้นำช้างของตนเอง มาเข้าร่วมงานแสดงช้าง ซึ่งจัดขึ้น 2 วัน ระหว่างวันที่ 18- 19 พ.ย.2560 ซึ่งพบว่ามีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเข้าร่วมชมนับหมื่นคนทั้ง 2 วัน ภายใต้ชื่องานมหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ ปลอดเหล้า ประจำปี 2560 จัดขึ้นโดย จ.สุรินทร์ ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานสุรินทร์,อบจ.สุรินทร์ ,อำเภอท่าตูม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยในปีนี้มีช้างเข้าร่วมงานแสดงช้างจำนวน 160 เชือก ได้ค่าตัวช้างตลอดการแสดง 2 วัน เชือกละ 4 พันบาท ซึ่งในปีนี้ถือว่าช้างได้ค่าตัวมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยปีที่แล้วช้างได้ค่าตัว 3,500 บาท และปีก่อนหน้านั้น ได้ค่าตัวเชือกละเพียง 2,500 บาทเท่านั้น นอกจากค่าใช้จ่ายที่ควาญช้างได้รับในส่วนนี้แล้ว ก็ไม่มีรายได้อื่น ในช่วงที่นำช้างเข้ามาร่วมแสดงในปีนี้ โดยควาญช้างเองจะต้องพาช้างเดินหารายได้ ด้วยการบริการนักท่องเที่ยวให้ขึ้นนั่งหลังช้าง คือแท็กซี่ช้างเอง ได้ค่าบริการครั้งละ 100-200 บาท แล้วแต่ระยะทาง แต่ก็ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวใช้บริการเหมือนในอดีต โดยควาญช้างเปิดเผยว่า ไม่มีผู้ที่ช่วยติดต่อพาทัวร์มาให้นั่งช้างเหมือนเดิม ควาญช้างจึงไม่มีรายในส่วนนี้ ประกอบกับช้างหลายเชือกที่เป็นช้างเล็กและช้างวัยรุ่นที่ตัวยังไม่โตมากนัก ก็ไม่สามารถให้บริการนักท่องเที่ยวได้ นอกจากนี้ควาญช้างหลายคนที่ไม่มีรถบรรทุกช้าง ก็ต้องว่าจ้างรถบรรทุกในราคาเที่ยวละ 3,500 บาท เพื่อบรรทุกช้างมาจากบ้านเข้ามาร่วมแสดงช้าง เมื่อหักลบค่าตัวแล้วไม่เหลืออะไร และขาดทุนด้วยซ้ำ แถมต้องมาปักหลักนอนเต้น ตามสถานที่ต่างๆก่อนวันแสดงจริง 4-5 วัน เพื่อจะต้องมาซ้อมการแสดงช้างก่อนวันจริง แต่ทุกคนต่างระบุเป็นเสียงเดียวกันว่า ตนเองมาด้วยใจ เพื่อชื่อเสียงของจังหวัดสุรินทร์บ้านเกิด และทำสืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย จนงานแสดงช้างล่วงเลยมาถึงปีที่ 57 แล้ว

นอกจากนี้การเข้าร่วมแสดงของช้างก็เริ่มลดน้อยลงกว่าปีที่ผ่านๆมา ที่ในแต่ละปีจะมีช้างเข้าร่วมแสดงจำนวนมากกว่า 250 เชือกขึ้นไป แต่ปีนี้ลดลงเหลือ 160 เชือก โดยทางผู้ที่เกี่ยวข้องจาก จ.สุรินทร์ ได้กำหนดจำนวนช้างไว้เพียงเท่านี้ อ้างว่างบประมาณไม่เพียงพอ ทำให้ช้างที่เข้าร่วมแสดงถูกจำกัดดังกล่าว ทั้งที่ควาญช้างอีกจำนวนมาก ต้องการเข้าร่วมงานของจังหวัดเพื่อความยิ่งใหญ่เหมือนในอดีต

Advertisement

นายธีรพล หอมหวน อายุ 43 ปี ควาญเจ้าของช้าง พังน้องตั๊ก อายุ 33 ปี อยู่บ้านเลขที่ 24 ม.6 บ.กระสัง ต.นาหนองไผ่ อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ตนเองมีช้างอยู่ 1 เชือก ได้ค่าตัวเชือกละ 4 พันบาท ปีที่แล้วได้ 3,500 บาท จะถามว่าคุ้มหรือไม่นั้น มันก็ไม่คุ้มอยู่แล้ว งานจังหวัดเราจึงมาช่วยกัน ทำแบบนี้มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย เราจึงต้องมา เพื่อชื่อเสียงของจังหวัดสุรินทร์ ต้องนำช้างมาปักหลักรอก่อนแสดงจริงประมาณ 4 วัน มาร่วมงานก็ไม่มีรายอื่น จะให้นักท่องเที่ยวนั่งช้างก็ไม่ได้ เพราะช้างยังเล็กอยู่ ไหนจะต้องจ้างรถบรรทุกช้างมาอีก 3,000-3,500 บาทต่อเที่ยว ถึงไม่คุ้ม แต่เราต้องมาช่วยกันทำงานให้จังหวัดปีละครั้ง เป็นงานประจำปี ปีหนึ่งมีครั้งเดียว ถ้าไม่ช่วยกันงานก็ไปไม่ได้ อยากให้ทางจังหวัดช่วยดูแลค่าตัวช้างให้มากกว่านี้ ขั้นต่ำ 5-6 พัน ก็ยังดี พออยู่ได้ ตีค่ารถบรรทุกช้างไป 3 พันบาท ค่าข้าว 1 พัน เหลือกลับบ้าน 1 พันบาท ฝากให้ช่วยดูแลค่าตัว ค่ารถ ค่าอาหารให้ควาญช้างดีกว่านี้ด้วย ปีนี้เขากำหนดช้างมาร่วมแสดง 160 เชือก ก็มีควาญช้างที่ไม่ได้มาหลายคน เพราะมาแล้วก็ไม่มีรายได้ ใจจริงหากจังหวัดมีงบประมาณพอ ตนก็อยากให้เอาช้างมาร่วมงานทั้งหมดทุกเชือกเลย 400-500 เชือก ให้ค่าแรงมาตรฐานด้วย งานช้างจะได้ยิ่งใหญ่ แถมไกลจากบ้านอีก อากาศก็ร้อน เมื่อก่อนยังดีที่มีทัวร์ มีคนมาติดต่อให้ไปรับนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติที่โรงแรม เพื่อนั่งช้างมาที่งานหรือพาเที่ยวชมเมือง ควาญช้างก็พอมีรายได้ นอกจากค่าตัวแสดงช้าง แต่ปัจจุบันไม่มีใครติดต่อมาเลย อยากให้งานช้างกลับมาเป็นเหมือนเดิม มีช้างเดินในเมือง เพื่อบริการนักท่องเที่ยว

ด้านนายประไพ โมกหอม อายุ 47 ปี ควาญเจ้าของช้างฝาแฝดเพศผู้คู่แรกของโลก คือพลายทองคำและพลายทองแท่ง อยู่บ้านเลขที่ 152 ม.3 บ.ท่าลาด ต.ศรีณรงค์ อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ตนนำช้างมาร่วมแสดง 8 ปีแล้ว ได้ค่าตัวเชือกละ 4 พันบาท ค่ารถบรรทุกอีกเที่ยวละ 3 พันบาท ช้างตนยังเล็ก ไม่สามารถทำแท็กซี่ช้างได้ จึงไม่มีรายได้อื่นในช่วงที่นำช้างมาร่วมแสดงช้าง ปักหลักอยู่ 4-5 วัน ได้รางวัลน้ำใจจากนักท่องเที่ยวที่ขอถ่ายรูปบ้างเล็กๆน้อยๆ ก็อยากให้มีการเพิ่มค่าแรงช้างอย่างน้อยเชือกละ 5 พันบาทก็ยังดี ปีก่อนได้ค่าตัวเชือกละ 2,500-3,500 บาท ปีนี้เพิ่มขึ้น 500 บาท แต่จำนวนช้างที่มาแสดงลดลง ถึงแม่ค่าใช้จ่ายไม่พอไม่คุ้มทุกปี แต่ชาวช้างยังพาช้างมาร่วมแสดง เพราะว่าเป็นงานของจังหวัด เพื่อชื่อเสียงของจังหวัด ซึ่งจังหวัดขอความร่วมมือไป ทุกคนต่างมาด้วยใจ ตนนอนเต็นท์ที่ทางจังหวัดจัดเต็นท์ให้ ตนก็อยากให้ช้างมาร่วมมากๆทุกปี เพราะจะได้ช่วยดึงการท่องเที่ยวของจังหวัดด้วย เป็นหน้าเป็นตาให้จังหวัด ตนยากให้มีอัฒจันทร์วางไว้ตามจุดๆในสนามแสดงช้าง เพื่อให้นักเที่ยวพาลูกหลาน มาดูมาใช้บริการนั่งช้าง มาถ่ายรูปช้าง ช้างก็จะได้ติ๊บจากนักท่องเที่ยวที่เขาประทับใจ มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากแค่นำช้างมาร่วมแสดงให้คนดูการแสดงอย่างเดียว

 

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image