ลำปางช่วยชีวิตช้างมีสิ่งติดหลอดอาหาร พร้อมใช้วิธีเปลี่ยนถ่ายพลาสมาครั้งแรกในไทย

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน เวลา 10.00 น. ที่หอประชุมอาคารกัลยาณิวัฒนาการุณย์ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง นายภพปภพ ลรรพรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ พร้อมด้วย ผศ.นายสัตวแพทย์ ดร.วีรพงศ์ ตั้งจิตเจริญ , ผศ.นายสัตวแพทย์ ดร.ฉัตรโชติ ทิจางาม จากคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , นายสัตวแพทย์ทวีโภค อังควานิช คณะสัตวแพทย์สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปภัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จ.ลำปาง พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันแถลงถึงผลสำเร็จในการช่วยชีวิตช้างพลายบุญภัคร ช้างเพศผู้ อายุ 25 ปี ซึ่งเป็นช้างงายาว จากปางช้างใน จ.เชียงใหม่ ที่เกิดป่วย เนื่องจากมีเศษอาหารเป็นก้อนติดอยู่ภายในหลอดอาหาร ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้ช้างเกิดล้มตายลงได้ แต่ด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่าย และช้างยังได้รับการถ่ายพลาสมาเป็นเชือกแรกของประเทศไทยด้วย จึงทำให้ช้างเชือกนี้รอดชีวิตมาได้ด้วยฝีมือของคณะสัตวแพทย์ไทย

ช้างเชือกนี้ได้ถูกส่งมาทำการรักษาที่โรงพยาบาลช้างภายในศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา จึงได้มีการหารือร่วมกันหลายฝ่ายทั้งคณะสัตวแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มูลนิธิเพื่อนช้าง , คลินิกปางช้างแม่แตง , ธนาคารเลือด โรงพยาบาลลำปาง เป็นต้น ในการหารือร่วมกันในการช่วยเหลือชีวิตช้างเชือกนี้ เนื่องจากมีเศษอาหาร ซึ่งเป็นท่อนอ้อยอุดตันในทางเดินอาหารส่วนต้น หรือหลอดอาหาร บริเวณรอยต่อเข้ากระเพาะอาหาร ลึกประมาณ 1.8 เมตร โดยช้างมีอากาสำรอกอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถกินน้ำ และอาหารได้ ทางคณะทำงานร่วมกันจึงได้มีการพัฒนาอุปกรณ์ช่วยแก้ไขภาวะอุดตันใหม่ขึ้นมา เพื่อใช้ในการช่วยเหลือช้างเชือกนี้ที่เกิดภาวะมีสิ่งอุดตันในระบบทางเดินอาหาร จนในที่สุดก็เป็นผลสำเร็จ และสามารถนำสิ่งที่อุดตันออกมาได้ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา

ผศ.นายสัตวแพทย์ ดร.วีรพงศ์ ตั้งจิตเจริญ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาการรักษานานถึง 19 วัน ช้างพลายบุญภัครได้รับการดูแลสุขภาพ และเตรียมร่างกายให้พร้อมในการรักษา ซึ่งทางคณะทำงานได้ใช้การวางยาสลบไป 4 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งได้ให้สารน้ำ สารอาหาร และยา ผ่านทางเส้นเลือดดำ และทวารหนัก เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และพร้อมในการรักษา นอกจากนี้ ช้างเชือกนี้ถือว่ายังเป็นช้างเชือกแรกในประเทศไทย ที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายพลาสมา ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเลือด เพื่อเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันของร่างกาย และระดับโปรตีนในกระแสเลือด

Advertisement

สำหรับพลาสมานั้นได้รับบริจาคมาจากช้างที่มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงภายในศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และผ่านการตรวจสอบการเข้ากันได้ของเลือดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงทำให้ช้างเชือกนี้มีความแข็งแรงในการรักษามาโดยตลอด ซึ่งหากไม่ใช้วิธีดังกล่าวในการรักษา ช้างเชือกนี้อาจจะเกิดล้มตายลงไปก่อน เหมือนช้างที่เกิดป่วยที่ผ่านมานับ 10 เชือกที่เกิดล้มตายลง อย่างไรก็ตาม แนวทางการรักษาช้างด้วยวิธีการพลาสมานี้ทางคณะสัตวแพทย์จะนำมาใช้ในการรักษาช้างไทยต่อไป และจะมีการวิจัย และพัฒนา เพื่อต่อยอดความก้าวหน้า โดยเฉพาะการนำไปช่วยเหลือช้างน้อยที่ป่วยเป็นเชื้อโรคเฮอรฺปีส์ไวรัส EEHV ที่เป็นโรคที่น่ากลัว และคร่าชีวิตช้างน้อยไทยลงไปเป็นจำนวนมาก และที่ผ่านมายังไม่มีวัคซีนใดที่จะสามารถช่วยรักษาช้างที่ป่วยหลังได้รับเชื้อโรคนี้ไปได้ ดังนั้น การรักษาช้าง และทำพลาสมา จึงเป็นความหวังที่ทางคณะสัตวแพทย์จะได้นำมาใช้ เพื่อช่วยรักษาช้างไทยต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image