อ้างระเบียบไม่เปิด อจ.เพชรบูรณ์ปัดแจงบริษัทขุดแร่รุกป่า โยนให้ผู้ว่าฯเปิดข้อมูล

เมื่อวันที่ 20 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ดำเนินการจับกุมบริษัทสยามคอปเปอร์รีซอร์สเซสจำกัด หลังพบดำเนินการขุดเจาะสำรวจในเขตพื้นที่ป่าโดยไม่ได้อนุญาตว่า หลังเข้าพบนางไพรินทร์ กันทะวงษ์ อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อขอคำชี้แจงถึงขั้นตอนต่อไปที่จะต้องการดำเนินการกับบริษัทเหมืองแร่ ที่ทำผิดเงื่อนไขการอนุญาตสำรวจแร่ โดยนางไพรินทร์อ้างระเบียบทางราชการไม่สามารถให้คำชี้แจงหรือให้สัมภาษณ์กับสื่อได้ พร้อมโบ้ยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ชี้แจงเพราะรายงานให้จังหวัดไปเรียบร้อยแล้ว จากนั้นได้มอบเอกสารที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานเหมืองแร่ (กพร.) ชี้แจง พร้อมมอบเอกสารที่สำนักงานฯชี้แจงต่อชาวบ้านที่ผู้เป็นร้องคัดค้านการสำรวจแร่ดังกล่าว ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวยังติดต่อประสานไปยังตัวแทนบริษัทสยามฯได้รับคำชี้แจงว่า ขอปรึกษาหารือไปยังบริษัทใหญ่ก่อนเช่นกัน

สำหรับเอกสารชี้แจงของ กพร. ระบุว่า บริษัทสยามฯได้รับอาชญาบัตรสำรวจแร่พิเศษ จำนวน 15 แปลง ในหลายอำเภอของ จ.เพชรบูรณ์ ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.2558 ถึงวันที่ 29 ม.ค.2563 การเข้าพื้นที่สำรวจแร่ของผู้อื่นกรณีมีเอกสารสิทธิต้องได้รับความยินยอมก่อน หากเป็นพื้นที่ป่าไม้หรือพื้นที่ ส.ป.ก. ต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบก่อน หากบริษัทเข้าพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาตก็ถือเป็นความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ขณะนี้ กพร.อยู่ระหว่างตรวจสอบหากพบบริษัททำผิดกฎหมายเหมืองแร่ก็จะลงโทษตามกฎหมายแร่โดยทันที นอกจากนี้ กพร.ยังชี้แจงว่าบริษัทได้รับอนุญาตแค่สำรวจแร่เท่านั้น แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแต่อย่างใด ซึ่งการขอประทานบัตรเหมืองแร่ยังมีหลายขั้นตอน ทั้งต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วยังต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ก่อน

ส่วนหนังสือชี้แจงผู้ร้องคัดค้านนั้นนอกจากจะมีการชี้แจงในข้อกฎหมายและขบวนการขออนุญาตอาชญาบัตรแล้ว ยังชี้แจงกรณีการเปิดเวทีชี้แจงที่ อบต.ยางงาม อ.หนองไผ่ กระทั่งถูกชาวบ้านโจมตีถึงการขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยว่า ได้นำเสนอไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว จนมีการมอบหมายให้ กพร.ไปพิจารณาเพื่อกำหนดแนวทางปฎิบัติในการยื่นคำขอสำรวจแร่

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ชาวเพชรบูรณ์เกิดความสับสนถึงข้อมูลพื้นที่สำรวจแร่ที่บริษัทสยามฯและบริษัทอื่นๆ ซึ่งได้รับอนุญาตอาชญาบัตรสำรวจแร่ โดยเฉพาะปัญหาในบางพื้นที่ซึ่งไม่มีชื่อปรากฏในเอกสารของ กพร. แต่กลับอยู่ในเป้าหมายของบริษัทที่จะเข้าพื้นที่ดำเนินการสำรวจแร่ และเมื่อชาวบ้านได้สอบถามไปยังองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ดังกล่าว ก็ได้รับคำยืนยันว่ายังไม่ได้ได้รับหนังสือให้ช่วยชี้แจงประชาสัมพันธ์แต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีพื้นที่แปลงสำรวจแร่อีก 17 แปลง ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระบุว่า ทางบริษัทเหมืองแร่ได้เวนคืนอาชญาบัตรแล้ว แต่ยังไม่มีการชี้แจงหรือประชาสัมพันธ์ว่าอยู่ในบริเวณพื้นไหนเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image