นักการศึกษาระบุผิดหวังแต่งตั้งขรก.นั่งศึกษาธิการภาค แนะเปิดกว้างให้มากเพื่อได้ตัวจริงแก้ไข

วันที่ 24 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และอดีตประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมาเขต 7 ได้กล่าวถึงกรณีที่ รมต.ศธ.ได้กล่าวถึงการแต่งตั้งข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ ศึกษาธิการภาค และรองศึกษาธิการภาค ว่า ไม่ผิดจากที่คาดหมาย เพราะในภาวะเร่งด่วนต้องเอาคนใกล้ตัวคือ ผู้ตรวจราชการ หรือผู้บริหารระดับสูงระดับกลางในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้อำนวยการเขตพื้นที่ที่เคยผ่านงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการมาดำรงตำแหน่งมาทำงาน  ซึ่งโดยส่วนตัวรู้สึกผิดหวังเพราะต้องการบุคคลที่มีความสามารถในการบริหารการเปลี่ยนแปลงจริงๆ เข้ามาทำงาน ควรจะมีวิธีการสรรหาและเปิดกว้างในการรับตัวบุคคลให้มากกว่านี้ แต่ก็น่าเห็นใจว่าเป็นเรื่องด่วน และเป็นการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ไปก่อนที่จะมีตัวจริง คงต้องรอว่าภายหลังจากการกำหนดมาตรฐานตำแหน่งของศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัดรวมทั้งโครงสร้างของสำนักงานศึกษาธิการภาคและจังหวัด เสร็จเรียบร้อย ปลัดกระทรวงจะสร้างระบบและกลไกในการสรรหาบุคคลดังกล่าวให้ได้คนที่มีคุณธรรม มีความรู้ความสามารถได้อย่างไร 

นายอดิศรกล่าวว่า โดยส่วนตัวอยากให้เปิดกว้าง มีวาระในการดำรงตำแหน่ง มีการกำหนดเงื่อนไขการจ้างหรือ ทีโออาร์ ที่ชัดเจน แต่ปกติในระบบราชการไทยหากตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ไปแล้วก็จะแต่งตั้งให้เป็นตัวจริงไปเลย ยกเว้นเกษียณอายุราชการไปก่อน ซึ่งต้องวัดใจความกล้าหาญของปลัด ศธ.ว่า จะกล้าจัดการเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการศึกษาที่กล่าวอ้างหรือไม่ นอกจากนี้ สิ่งที่ตนเป็นห่วงคือ การตั้ง กศจ.ในส่วนผู้แทน สพฐ. สอศ. สกอ. สช. กคศ. และ กศน. ผู้แทนภาคประชาชน 2 คน ผู้แทนข้าราชการครู 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 3 คน รวมทั้ง อกศจ.ในส่วนของ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาหรือ ผอ.สถานศึกษา 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่เกิน 3 คน ที่จะมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการในส่วนของ กศจ.ก็ยิ่งน่าเป็นห่วงเพราะดำเนินการในกรอบเวลาที่จำกัด เพราะถูกบีบในภาระงานที่ อ.ก.ค.ศ.อยู่ในระหว่างดำเนินการไม่เสร็จ เช่น การพิจารณาความดีความชอบ การสอบบรรจุครูทำให้เกิดความเสี่ยงในการดำเนินการมาก 

ผมเข้าใจเจตนาดีในการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในครั้งนี้มาก  แต่สิ่งที่กังวลคือทุกอย่างเร่งรีบไปหมด การปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องละเอียดรอบคอบมากกว่านี้ คงจำบทเรียนจาก 9 อรหันต์ในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศได้ ก่อนจะมาเป็น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ใช้เวลาตั้งหลายปียังเกิดปัญหาตามมามากมาย ครั้งนี้เร่งรีบจริง ๆ และการเร่งรีบจะทำให้เสียผล  ผมเข้าใจในความปรารถนาดีของ รมว.ศธ.อยากให้ท่านรับฟังความเห็นเยอะๆ โดยเฉพาะความเห็นต่าง ทั้งจากคนที่คิดต่าง คนในภาครัฐและเอกชนอื่นๆ เพราะดูแล้วคล้ายๆ กับเป็นความเห็นของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่อยากให้ความปรารถนาดีกลายเป็นการสร้างตราบาปโดยไม่ได้ตั้งใจให้กับบ้านเมือง ผมหวั่นๆ อยู่นะ แต่ก็ให้กำลังใจ” นายอดิศรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image