‘กาฬสินธุ์’เยียวยารอบใหม่ 2 หมู่บ้านโครงการ 9101

เมื่อวันที่ 30 มกราคม จากกรณีชาวบ้านพบความผิดปกติการซื้อปัจจัยการผลิตโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดในหลายพื้นที่ของ จ.กาฬสินธุ์ โดยเฉพาะ ต.บัวบาน อ.ยางตลาด และ อ.นาคู อ.กุฉินารายณ์ อ.ห้วยผึ้ง อ.เขาวง และ อ.สมเด็จ เนื่องจากมีการจัดซื้อปัจจัยการผลิตราคาสูงกว่าท้องตลาด จนชาวบ้านร้องทุกข์ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์ดำรงธรรมเรียกร้องให้ตรวจสอบ กระทั่งนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ล่าสุด พ.อ.มานพ ไขขุนทด รอง ผอ.รมน.กาฬสินธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบโครงการ 9101 จ.กาฬสินธุ์ พร้อมนายพิชัย ส่งสุขเลิศสันติ นายอำเภอกุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.กาฬสินธุ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเกษตรอำเภอ ประมงอำเภอ และผู้รับจ้างลงพื้นที่ประสานงาน นำพันธุ์ปลาดุก ปลาหมอเทศ และหัวอาหาร ไปมอบเพื่อเยียวยาชาวบ้านมะนาว ต.เหล่าใหญ่ และบ้านบุ่งคล้า ต.บัวขาว อ.กุฉินารายณ์ หลังชาวบ้านประสบปัญหาความเดือดร้อน เนื่องจากได้รับพันธุ์ปลาผิดสเปก มีขนาดเล็กและได้รับหัวอาหารผิดประเภทในการแจกจ่ายครั้งแรกตามโครงการ 9101 รวมทั้งขาดความรู้ในการเลี้ยงปลาทำให้ปลาที่ได้รับแจกจ่ายและนำมาเลี้ยงในกระชังตายจำนวนมาก หลายรายปลาตายยกกระชัง ไม่คุ้มค่ากับเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทสำหรับชาวบ้านบ้านมะนาว จะได้รับการเยียวยาเป็นพันธุ์ปลาดุก รายละ 500 ตัว ส่วนชาวบ้านที่ปลาตายบางส่วนได้รับการเยียวยารายละ 200 ตัว รวม 115 ราย ทั้งนี้ ทุกคนจะได้รับอาหารปลาเล็กเพิ่มคนละ 1 กระสอบ สำหรับเกษตรกรบ้านบุ่งคล้า ก่อนหน้านี้ต้องการพันธุ์ปลาหมอเทศมาเลี้ยงแต่กลับได้รับพันธุ์ปลาตะเพียน ครั้งนี้จะได้รับการเยียวยาเป็นพันธุ์ปลาหมอเทศ 19 รายตามที่ขอ และอีก 157 ราย จะได้รับหัวอาหารปลาขนาดเล็กเพิ่มคนละ 1 กระสอบ ทำให้ชาวบ้านดีใจเป็นอย่างมากและขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่เข้าช่วยเหลือในครั้งนี้ เนื่องจากจะได้เลี้ยงปลาอุปโภคและขาย สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือน พ.อ.มานพกล่าวว่า การลงพื้นที่เยียวยาครั้งนี้เป็นการเร่งให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากภัยน้ำท่วมและได้รับพันธุ์ปลามาเลี้ยงแต่ประสบปัญหาปลาตาย ตามนโยบายรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนโยบายของนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัด เนื่องจากที่ผ่านมาชาวบ้านได้รับการแจกจ่ายพันธุ์ปลาขนาดเล็ก หัวอาหารผิดประเภทอีกทั้งขาดความรู้ในการเลี้ยงปลา ทำให้ปลาตาย การเยียวยาครั้งนี้ยังควบคู่การตรวจสอบการดำเนินโครงการที่มีความผิดปกติด้วย เนื่องจากคณะกรรมการได้ตรวจสอบในเบื้องต้นพบข้อพิรุธ และความผิดปกติหลายกรณี โดยเฉพาะการจัดส่งปัจจัยการผลิตที่ไม่ได้ขนาดหรือผิดสเปก ผิดประเภท จัดซื้อในราคาที่สูง มีผู้รับจ้างจัดส่งปัจจัยการผลิต 39 โครงการ งบประมาณกว่า 23 ล้านบาทเพียงรายเดียว มีร้านเสนอราคาแข่งขัน แต่แพ้ทั้งหมดทุกโครงการมีร้านค้ารายเดียว “ที่สำคัญจากการตรวจสอบพบว่า พื้นที่อำเภอกุฉินารายณ์มีการดำเนินโครงการทั้งหมด 39 โครงการ รวมพื้นที่ 12 ตำบล 18 ชุมชน โดยแต่ละตำบลมีการจัดตั้งคณะกรรมการชุมชนขึ้นมาทำหน้าที่กำกับดูแลกลุ่มเกษตรกร แต่ประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตและมีความผิดปกติ คือ การนำเกษตรกรที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากอุทกภัยแต่ละหมู่บ้าน ตำบลมารวมกลุ่มเป็นกลุ่มใหญ่ทั้งตำบล บางพื้นที่มีการรวมกลุ่มกันประมาณ 200 คน และบางพื้นที่รวมกลุ่มมากถึง 300-360 คน มีการจัดตั้งประธาน คณะกรรมการ เลขานุการ เหรัญญิกขึ้นมาบริหารจัดการ
โดยเฉพาะการจัดซื้อปัจจัยการผลิตซึ่งไม่ได้ให้เกษตรกรที่รวมกลุ่มกันตามหมู่บ้านตั้งกลุ่มกันเองหรือบริหารการซื้อปัจจัยการผลิตเอง ลักษณะดังกล่าวค่อนข้างจะดูแลเกษตรกรไม่ทั่วถึง ตั้งข้อสังเกตว่าการรวมเกษตรกรเป็นกลุ่มใหญ่มีคนมากหลายร้อยคน จะเป็นการรวมงบประมาณให้มากที่สุด และอาจเป็นช่องทางให้แสวงหาผลประโยชน์ และง่ายต่อการทุจริตหรือไม่ คณะกรรมการจะเข้าตรวจสอบเอกสารทุกโครงการ รวมทั้งสอบคณะกรรมการจัดซื้อปัจจัยการผลิตว่าใช้หลักเกณฑ์ใดสืบราคา เหตุใดจึงต้องเป็นร้านค้าร้านเดียว มีการทำประชาคมสอบถามความต้องการของชาวบ้านที่ประสบภัยหรือไม่ และสาเหตุใดจึงต้องตั้งรวมเกษตรกรไว้หลายร้อยคนในกลุ่มเดียว”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image