เชียงรายเจอหนักสุดในรอบ 30 ปี ชาวดอยสะโง๊ะต่อคิวตักน้ำเช้าจรดค่ำ สั่งทุนจีนหยุดสูบน้ำเข้าสวนกล้วย

วันที่ 25 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ภัยแล้งในจ.เชียงราย ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายพื้นที่ อย่างเช่น ชาวบ้านบ้านดอยสะโง๊ะบน หมู่ 7 ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ขาดแคลนอย่างหนัก ถึงขั้นต้องจัดคิวในการตักน้ำจากบ่อน้ำจำนวน 3 บ่อ ที่อยู่ท้ายหมู่บ้าน เพื่อนำไปอุปโภคบริโภคในแต่ละวัน โดยการตักน้ำนั้นจะต้องนั่งรอให้น้ำเพิ่มปริมาณขึ้นมาจากตาน้ำ จากก้นบ่อ โดยตักน้ำขึ้นมาทีละปริมาณน้อย ถึงจะตักขึ้นมาบรรจุในถังน้ำหรือขวดน้ำได้ บางคนรอเป็นชั่วโมงถึงจะได้น้ำบรรจุในขวดจำนวน 10 ขวด รวมทั้งคนที่จะนำน้ำไปอาบด้วยเช่นกัน ทั้งนี้บ่อน้ำของหมู่บ้านดอยสะโง๊ะบน ปัจจุบันแทบที่จะไม่มีน้ำในบ่อต้องรอเวลาถึงจะได้น้ำไป ซึ่งการมาจัดคิวตักน้ำนั้นจะเริ่มตั้งแต่เช้ามืดจนถึงค่ำ ใครมาก่อนจะได้คิวก่อน และไล่เรียงกันไป
201603251216081-20021028190531
นางปูแยะ สะโง๊ะ ชาวบ้านดอยสะโง๊ะบน ที่มานั่งรอตักน้ำกล่าวว่า บ่อน้ำทั้ง 3 บ่อนั้นชาวบ้านจะมาตักน้ำไปอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี เพราะน้ำที่ออกมาจากตาน้ำนั้นใสสะอาด และปริมาณน้ำจะเพียงพอต่อจำนวนประชากรในหมู่บ้าน ในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาว น้ำจะมีมากและเต็มบ่อ ส่วนฤดูแล้ง น้ำจะแห้งลงแต่ไม่มาก มาปีนี้ยอมรับว่าน้ำแห้งจนน่ากลัว เหลือเพียงก้นบ่อต้องรอเวลาตักน้ำไปใช้ และไม่เคยเจอมาในรอบ 30 ปีที่บ่อน้ำแห่งนี้จะแห้งมากขนาดนี้ โดยช่วงเดือนที่แล้ว บ่อน้ำเริ่มแห้งนั้นเริ่มมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ น้ำในบ่อแห้งลงอย่างรวดเร็ว และชาวบ้านก็ต้องมานั่งรอตักน้ำเช่นนี้ ใครไม่มาตักน้ำก็ไม่ได้ใช้น้ำ เพราะประปาหมู่บ้านก็ไม่สามารถสูบน้ำจากแหล่งน้ำขึ้นไปใช้ได้ เพราะไม่มีน้ำเช่นกัน
ส่วนบ่อน้ำของหมู่บ้านดอยสะโง๊ะบน ถือว่าเป็นบ่อน้ำบนเขา ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 700 เมตร เป็นบ่อน้ำธรรมชาติ และชาวบ้านดอยสะโง๊ะบน จะใช้น้ำจากบ่อน้ำนี้ด้วยวิธีการตักน้ำไปใช้ แต่มาปีนี้น้ำถือว่าแห้งกว่าทุกปี โดยหมู่บ้านดอยสะโง๊ะบน มีบ้านเรือนประชาชน 14 หลังคาเรือน ประชากร 100 คน ทุกคนต้องใช้น้ำจากบ่อน้ำแห่งนี้
201603251214344-20021028190531

ขณะที่ นายประจญ ปรัชญ์สกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวระหว่างเป็นประธานปล่อยขบวนโครงการเดินรณรงค์ประหยัดน้ำช่วยชาติ โดยกล่าวว่า จังหวัดเชียงรายมีมาตรการควบคุมการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งหลายมาตรการ เช่น บริหารจัดการน้ำ รักษาระบบนิเวศน์ กำหนดช่วงรอบเวรการรับน้ำและรักษาระบบนิเวศน์ในแม่น้ำกกแต่ละจุดอย่างเหมาะสม เพื่อรักษาเสถียรภาพของคุณภาพน้ำ ควบคุมการปิดกั้นทางน้ำ ฯลฯ แต่เพื่อให้มีความมั่นใจว่าจะสามารถผ่านพ้นวิกฤติภัยแล้งไปให้ได้จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้ใช้น้ำอย่างประหยัด และขอเชิญชวนประชาชนรดน้ำดำหัวแทนการเล่นสาดน้ำช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำและยังสืบสานวัฒนธรรมที่มีมาแต่โบราณด้วย

นายประจญ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันนั้นทางจังหวัดยังไม่มีการประกาศเป็นเขตภัยพิบัติจากภัยแล้ง แต่อยู่ระหว่างให้ทั้ง 18 อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งได้ร่วมกันสำรวจเพื่อแจ้งข้อมูลเข้าไปอยู่ กระนั้นก็ขอให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดโดยในภาคการเกษตรขอให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ล่าสุดที่ อ.พญาเม็งราย ได้มีกลุ่มทุนปลูกสวนกล้วยกว้างหลายพันไร่และสูบน้ำจากแม่น้ำอิงไปใช้ ทำให้ประชาชนที่ใช้น้ำเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจึงร้องเรียนไปที่ว่าการอำเภอ ล่าสุดทางนายอำเภอได้เข้าไปแก้ไขปัญหาด้วยการให้เอกชนหยุดสูบน้ำและหันไปเจาะบ่อบาดาลแทนแล้ว
รายงานข่าวระบุว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้เกิดปัญหาการใช้น้ำขึ้นโดยมีชาวบ้านจาก ต.พญาเม็งราย เข้าร้องเรียนต่อฝ่ายปกครองว่าได้มีเอกชนจีนเข้าไปเช่าพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ เพื่อปลูกกล้วยหอมส่งประเทศจีนแต่มีการสูบน้ำจากแม่น้ำอิง ทางอำเภอจึงไปตรวจสอบพบมีการสูบจริงจึงได้ใช้คำสั่งศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้ยุติการสูบน้ำและแนะนำให้ขุดบ่อบาดาลแทน ล่าสุดเอกชนรายดังกล่าวได้เริ่มขุดบ่อบาดาลแทนแล้ว ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า ในปัจจุบันมีเอกชนจีนที่ไปลงทุนปลูกกล้วยในแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ตรงกันข้าม อ.เชียงของ จ.เชียงราย ถูกทางแขวงบ่อแก้วแจ้งให้ยุติกิจการเพื่อใช้สารเคมีจึงเกรงจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตชาวลาว ทำให้มีการย้ายฐานการปลูกไปยังแขวงอุดมไชยแทน และส่วนหนึ่งเข้าไปเช่าที่ดินใน จ.เชียงราย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image