มทร.อีสาน เดินหน้าเปิดสูตรใหม่-ศูนย์วิจัย ตอบโจทย์รองรับระบบรถราง

วันที่ 26 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.วิโรจน์  ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) นครราชสีมา เปิดเผยว่า นับเป็นนิมิตหมายที่ดี โดยรัฐบาลได้ข้อยุติการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง มทร.อีสาน ซึ่งมีศักยภาพด้านบุคลากรการเรียนการสอนแบบครบวงจรที่เกี่ยวข้องกับระบบราง ทั้งสาขาบริหารธุรกิจและวิศวกรรม จึงได้เตรียมพร้อมเปิดหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อผลิตบุคลากรรองรับการพัฒนาระบบขนส่งทางรางและเตรียมลงนามบันทึกข้อตกลงกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพื่อร่วมจัดทำหลักสูตรให้สอดคล้องกับนวัตกรรมระบบขนส่งทางราง โดยพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษาแบบสหกิจ ซึ่งเน้นการเรียนรู้ด้วยการทำงานจริง

ล่าสุด มทร.อีสาน ได้เปิดหลักสูตรพร้อมจัดตั้งหน่วยงานขับเคลื่อนระบบขนส่งทางราง ได้แก่ ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมระบบขนส่งทางรางแห่งอาเซียน เน้นด้านล้อเลื่อนและการบริหารจัดการรถ และศูนย์วิจัยและฝึกอบรมระบบขนส่งทางราง เน้นระบบอาณัติสัญญาณและงานโยธา เพื่อพัฒนาแบบคู่ขนาน ในอนาคตจะยกระดับให้เป็นวิทยาลัยระบบขนส่งทางรางแห่งอาเซียน ประมาณปี 2560 ทั้ง 9 วิทยาเขต ในสังกัด มทร.อีสาน จะเปิดหลักสูตรวิชาเอกวิศวกรรมระบบราง ในสาขาเครื่องกล ไฟฟ้าและโยธา ซึ่งมีวุฒิปริญญารองรับ สามารถประกอบวิชาชีพได้ทันที

“ที่ผ่านมา ภาครัฐไม่สามารถสนับสนุนงบประมาณได้เพียงพอ มทร.อีสาน จึงใช้งบประมาณตัวเองดำเนินการผลิตบุคลากร ในฐานะที่ มทร.อีสาน เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ และเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เราน่าจะได้รับการเอาใจใส่และสนับสนุนตามที่ร้องขอ” ผศ.ดร.วิโรจน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image