จับนายทุนบุกรุกป่าสงวนฯเลย ทำไม้หวงห้าม ของกลางเพียบ ค่าเสียหายกว่า 5 ล้าน พบหลักฐานเอี่ยว ‘อัยการ’ เพชรบูรณ์

ความคืบหน้ากรณีคณะเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานนำโดย พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ หัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศปป.4 กอ.รมน. ภายใต้การอำนวยการของ พล.ท.ผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข ผอ.ศปป.4 กอ.รมน., นายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ และนายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า ลงพื้นที่ตรวจสอบการบุกรุกป่า บริเวณบ้านน้ำพุง หมู่ 3 ตำบลโป่ง อ.ด่านซ้าย จ.เลย กระทั่งพบนายทุนมีการตัดถนนบุกรุกเข้าไปในป่าและยังพบการทำไม้หวงห้ามเป็นจำนวนมาก กระทั่งมีการตรวจยึดไว้และทำการสอบปากคำและรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อจะดำเนินคดีเอาผิดกับผู้กระทำผิดและนายทุนที่อยู่เบื้องหลัง โดยเฉพาะมีหลักฐานพาดพิงนายทุนรายนี้เป็นข้าราชการผู้ใหญ่ใน จ.เพชรบูรณ์

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 00.01 น.วันที่ 23 มีนาคม นายบัณฑิต วงศ์อรินทร์ เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลย.2 (ด่านซ้าย) เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.ด่านซ้าย จ.เลย เพื่อให้ดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลและนายทุนที่กระทำผิดกฎหมายในฐานความผิดมีไม้แปรรูปหวงห้ามเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานบุกรุกก่นสร้างแผ้วถางหรือเผาป่าหรือทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าหรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ (พ.ร.บ.) พ.ศ.2484 และยังกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 โดยการยึดถือครอบครองทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ หรือทำด้วยประการใดอันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2561 เวลา 10.00 น. คณะพนักงานเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน นำโดย พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ หัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศปป.4 กอ.รมน. ภายใต้การอำนวยการของ พล.ท.ผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข ผอ.ศปป.4 กอ.รมน., นายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ และนายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า บูรณาการหน่วยงานประกอบด้วยศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กอ.รมน., กอ.รมน. จังหวัดเลย., กรมทหารพรานที่ 21 (ร้อย 2108), ฝ่ายปกครองอำเภอด่านซ้าย, หน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) กรมป่าไม้, ส่วนป้องกันและปราบปรามที่ 2 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) กรมป่าไม้ และหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลย.2 (ด่านซ้าย) ได้ออกปฏิบัติการตรวจสอบการกระทำความผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นการบูรณาการปฏิบัติงานตามนโยบายพลิกฟื้นผืนป่า สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาล

ซึ่งเป็นการปฏิบัติการต่อเนื่องจากตรวจยึดไม้แปรรูป เลื่อยโซ่ยนต์ และอาวุธปืน ตามคดีอาญาที่ 36/2561 ปจว.ข้อ 1 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2561 และจากข้อมูลการสอบปากคำผู้นำชุมชนและราษฎรในท้องที่บ้านน้ำพุง หมู่ 3 ต.โป่ง อ.ด่านซ้าย จ.เลย ระหว่างวันที่ 20-21 มี.ค.61 ซึ่งเมื่อคณะเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบสภาพพื้นที่ในจุดเกิดเหตุพบว่า บริเวณดังกล่าวมีลักษณะการบุกรุกพื้นที่ทำการเกษตรและสร้างรั้วแสดงขอบเขตพื้นที่บางส่วนมีการปรับพื้นที่เป็นเส้นทางลำลอง (ถนนดิน) กว้างประมาณ 6 เมตร ยาวประมาณ 800 เมตร เชื่อมต่อจากทางหลวงหมายเลข 21 ตัดผ่านพื้นที่และยาวไปถึงพื้นที่ด้านบน ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นพื้นที่ทำการเกษตรปลูกกล้วย อายุไม่เกิน 1 ปี และพื้นที่บางส่วนเป็นป่าเสื่อมโทรมซึ่งปรากฏต้นไม้หวงห้ามถูกตัดฟันโค่นล้มและถูกแปรรูปกระจัดกระจายในพื้นที่ และพื้นที่บางส่วนมีลักษณะถูกปรับเรียบ

Advertisement

โดยเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันนับจำนวนและตรวจวัดไม้แปรรูปและไม้ท่อนที่ถูกตัดทอน ปรากฏพบไม้แปรรูป จำนวน 25 แผ่น/เหลี่ยม รวมปริมาตร 0.448 ลูกบาศก์เมตร และยังพบไม้ท่อน จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันตรวจวัดพื้นที่ถูกบุกรุกดังกล่าวบริเวณพื้นที่จุดที่ 1 และจุดที่ 2 รวมทั้งเส้นทางเชื่อมต่อ โดยใช้เครื่องมือหาค่าพิกัดด้วยสัญญาณดาวเทียม (จีพีเอส) คำนวณพื้นที่ถูกบุกรุกเนื้อที่ 83-0-34 ไร่ โดยพื้นที่ถูกบุกรุกอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าภูเปือย ป่าภูขี้เถ้า และป่าภูเรือ และเป็นพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1เอ ตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศปี พ.ศ.2545 ปรากฏว่า พื้นที่บุกรุกส่วนใหญ่มีสภาพเป็นพื้นที่ป่า ซึ่งปรากฏร่องรอยพื้นที่เกษตรกรรมบางส่วน จุดเกิดเหตุตั้งอยู่ท้องที่บ้านน้ำพุง หมู่ 3 ตำบลโป่ง อ.ด่านซ้าย จ.เลย โดยในช่วงเวลาที่คณะเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบจุดเกิดเหตุไม่พบบุคคลใดในบริเวณดังกล่าว

ทั้งนี้ จากการสอบปากคำผู้นำชุมชนและราษฎรท้องถิ่น ระหว่างวันที่ 20-21 มี.ค.61 ได้ให้ข้อมูลตรงกัน และยังพาดพิงว่าพื้นที่บุกรุกเป็นของข้าราชการอัยการรายหนึ่งใน จ.เพชรบูรณ์ โดยมีพยานรายหนึ่งระบุว่า ที่ดินแปลงนี้นายทุนซึ่งเป็นข้าราชการอัยการใน จ.เพชรบูรณ์ รายหนึ่ง โดยซื้อต่อมาจากชาวบ้านเมื่อราวปลายปี 2560 ราคา 200,000 บาท และมีหญิงสาวรายหนึ่งเป็นนอมินีโดยอ้างเป็นผู้ครอบครอบที่ดินแปลงนี้และช่วยดูแลที่ดินแปลงดังกล่าว ในขณะที่พยานอีกปากแจ้งว่า บริเวณจุดเกิดเหตุซึ่งมีการตัดฟันต้นไม้ เนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ เป็นพื้นที่ครอบครอง เป็นของข้าราชการอัยการไม่ทราบชื่อ แต่ยังมีที่ดินของชาวบ้านปะปนอยู่ และบริเวณดังกล่าวไม่มีเอกสารสิทธิใดๆ

Advertisement

คณะเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันพิจารณาและมีความเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ดังนี้ ความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48, มาตรา 73 “ฐานมีไม้แปรรูปหวงห้ามเกิน 0.20 ลบ.ม. ไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต”, มาตรา 54, มาตรา 72 ตรี “ฐานกันก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าหรือเข้ายึดถือครอบครองป่า เพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต”, ความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, มาตรา 31 “ฐานยึดถือครอบครองทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ หรือทำด้วยประการใดอันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต”

นอกจากนี้ ทางคณะเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจยึดไม้และพื้นที่บุกรุก ดังนี้ ไม้ประดู่แปรรูปจำนวน 25 แผ่น/เหลี่ยม รวมปริมาตร 0.448 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นค่าเสียหายของรัฐ 29,750 บาท (สองหมื่นเก้าพันเจ็ดร้อยห้าสิบบาทถ้วน), ตรวจยึดไม้ท่อน จำนวน 44 ท่อน รวมปริมาตร 4.422 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นค่าเสียหายของรัฐรวมจำนวน 119,150 บาท (หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นเก้าพันหนึ่งร้อยห้าสิบบาทถ้วน) แยกเป็น ไม้ประดู่ท่อน 23 ท่อน ปริมาตร 2.89 ลบ.ม. และไม้แดงท่อน 21 ท่อน ปริมาตร 1.53 ลบ.ม., ตรวจยึดพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก ก่นสร้าง แผ้วถาง ยึดถือครอบครอง รวมพื้นที่ จำนวน 83-0-34 ไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายของรัฐ เป็นเงิน 5,664,270.26 บาท (ห้าล้านหกแสนหกหมื่นสี่พันสองร้อยเจ็ดสิบบาทยี่สิบหกสตางค์) สำหรับมูลค่าความเสียหายทางด้านสิ่งแวดล้อมโดยละเอียด ทางผู้ชำนาญการจะทำการประเมินมูลค่าความเสียหายต่อไป

อ่านข่าว – กรมป่าไม้แจ้งความจับอัยการ รุกป่า ทำไม้เถื่อน (ชมคลิป)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image