ตระการตากาชาดราชบุรี ประกวด ‘บอนไซ’ แพงสุด ‘1.5 ล้าน’ ปธ.ชมรมเผย 50 ล้านยังมีที่เมืองนอก

เกษตรจังหวัดราชบุรี ร่วมกับประธานชมรมบอนไซ จ.ราชบุรี จัดประกวดบอนไซไม้เงินล้าน ที่บริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัดหลังเก่า ในงานท่องเที่ยวราชบุรีของดีเมืองโอ่งและงานกาชาดราชบุรีประจำปี 2561 มีการนำไม้บอนไซทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ รูปทรงแปลกตาเข้าประกวด บางต้นราคากว่า 1 ล้านบาท เป็นอาชีพเสริมของเกษตรกรที่สร้างรายได้อย่างงาม

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่บริเวณสนามหญ้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีหลังเก่า ได้มีการจัดกิจกรรมประกวดบอนไซ ภายในงานท่องเที่ยวราชบุรี ของดีเมืองโอ่ง และงานกาชาด ประจำปี 2561 ซึ่งทางสำนักงานเกษตรจังหวัด โดยนายพินิจ เจริญเร็ว เกษตรจังหวัดราชบุรี ได้ร่วมกับนายประกอบ เจริญภักดี ประธานชมรมบอนไซจังหวัดราชบุรี และสมาชิกร่วมกันจัดขึ้นเป็นปีแรก ชิงถ้วยรางวัลและประกาศนียบัตรจาก นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี มีต้นบอนไซไม้ดัดที่ส่งประกวดรวม 141 ต้น มีทั้งรางวัลบอนไซยอดเยี่ยม ประเภท “ ไม้เก่า ” รางวัลบอนไซยอดเยี่ยมประเภท “ ไม้ต่างประเทศ ” รางวัลบอนไซยอดเยี่ยมประเภท “ น้องใหม่ ” รางวัลบอนไซประเภท “ ไม้จิ๋ว ” รางวัลบอนไซยอดเยี่ยมประเภท “ ชวนชม ” มีลักษณะรูปทรงแปลกตา มีหลากหลายพันธุ์ไม้ เช่น ต้นโมก ต้นไทร ต้นมะขาม ต้นข่อย ต้นหนามพรม ต้นตะโก ต้นกระจง เป็นต้น นำมาเพาะเลี้ยงใส่ภาชนะให้รากเกาะหินตามรูปแบบทรงต่าง ๆ ดูสวยงามยิ่ง

นายพินิจ เจริญเร็ว เกษตรจังหวัด เปิดเผยว่า สำหรับการประกวดบอนไซในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีแรกของการจัดงานท่องเที่ยวราชบุรี ของดีเมืองโอ่งและงานกาชาดราชบุรี โดยเฉพาะนายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ให้ความสนใจและให้ความสำคัญ เนื่องจากราชบุรีเป็นแหล่งผลิตบอนไซที่มีชื่อเสียงของประเทศ จึงอยากให้ชาวบ้าน เกษตรกรได้จากการประกอบอาชีพมีรายได้จากการประกวดวันนี้เกิดขึ้น อย่างวันนี้ได้นำบอนไซมาโชว์และประกวด มีหลายราคา ทั้งราคาหลักหมื่นบาทไปจนถึงหลักล้านบาทที่ได้นำมาจัดแสดงโชว์ให้นักท่องเที่ยวที่สนใจได้ชมกัน

Advertisement

นายประกอบ เจริญภักดี ประธานชมรมบอนไซจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า ส่วนขั้นตอนการตัดสินจะต้องดูความเรียบร้อยของพันธุ์ไม้ว่ามีความพร้อม ความสะอาดของกระถาง อย่างช่วงนี้จะใช้หินปูพื้นรอบโคนแทนเพื่อดูแลความเรียบร้อย สำหรับเรื่องราคาของแต่ละต้นพันธุ์นั้นขึ้นอยู่ระหว่างคนรักชอบกับคนขาย ซึ่งถ้าเจ้าของที่ชอบเสนอราคาแพง ส่วนคนที่จะซื้อหากชอบด้วยก็จะสู้ราคากัน สำหรับการดูแลไม่ยากแต่ต้องใส่ใจ เช่น ดูเรื่องระบบน้ำ ดิน เวลาได้ช่วงก็จะต้องเปลี่ยนดินให้เมื่อถึงระยะเวลาของต้นบอนไซ ทำให้ผู้เลี้ยงเกิดอารมณ์เพลิดเพลิน มีความสุข ใจเย็นมากขึ้น เนื่องจากแต่ละต้นจะต้องใช้เวลาอายุการเลี้ยงเป็นเดือนเป็นปีเป็นสิบปีกว่าจะได้บอนไซออกมาในรูปทรงที่สวยงามสมบูรณ์มีราคาแพง อย่างเช่น ไม้บอนไซจากอเมริกาซื้อจากญี่ปุ่น 1- 2 ต้น มีราคาประมาณ 40-50 ล้านบาท แต่มีข้อแม้ว่าห้ามขายออกนอกประเทศ ซึ่งญี่ปุ่นจะไม่ให้ขายออกนอกประเทศ เว้นแต่เป็นการขายระหว่างประเทศเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีต่อกัน ไม้บอนไซที่มีอายุเกิน 50 ปี ขึ้นไปจะห้ามขายออกนอกประเทศและจะต้องมีการจดทะเบียนด้วย

Advertisement

นายละมูล รอดเคราะห์ อายุ 67 ปี  ชาว ต.ปากช่อง อ.จอมบึง เปิดเผยว่า ที่บ้านมีอาชีพทำนาอยู่ประมาณ 60 ไร่ และยังเลี้ยงวัวอยู่หลายตัว นอกจากนี้ก็ยังมีใจรักนำต้นพันธุ์ไม้มาปลูกเพาะเลี้ยงอยู่กว่า 100 ต้น อย่างเช่น ต้นหมากเล็กหมากน้อย ได้เลี้ยงมาประมาณกว่า 30 ปี ได้นำมาโชว์ในงาน และได้ตั้งราคาไว้ที่ 5-6 แสนบาท มีคนสอบถามราคาอยู่ต่อเนื่อง แต่ด้วยใจรักก็ยังไม่อยากขายตอนนี้ การเลี้ยงนำมาเกาะหินตั้งแต่ต้นยังเล็กๆทำให้มีรูปทรงออกมาสวยงามแปลกตา การเลี้ยงง่ายเพราะเป็นพันธุ์ไม้ป่าขึ้นอยู่ตามป่าตามเขา แต่กว่าจะได้รูปทรงขนาดนี้ต้องใช้เวลาการเลี้ยงดูแลหลายสิบปีกว่าจะได้ออกมาในรูปทรงที่สมบูรณ์แบบนี้จึงทำให้มีลูกค้าคนที่ชื่นชอบไม้บอนไซสนใจ ถือเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัวเป็นอย่างดี แต่ละปีเฉลี่ยการขายไม้บอนไซราคาตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักแสนบาท จะมีรายได้เข้ามาประมาณ 5-6 แสนบาทต่อปี เป็นรายได้เสริมร่วมกับการทำนาปลูกข้าวถือเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ทำแล้วไม่เหนื่อย ได้อยู่กับบ้านและทำให้เรามีความใจเย็นสงบ ยามว่างก็จะมานั่งดูแลต้นไม้ที่เลี้ยงไว้ทำให้เกิดความสงบใจเย็นขึ้น ที่สำคัญทำให้ตัวเองมีความสุขอยู่กับบ้านใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว

อย่างไรก็ตามในวันนี้มีสมาชิกเกษตรกรได้นำต้นพันธุ์ไม้บอนไซมาแสดงโชว์ภายในงานมีรูปทรงที่แปลกตาสวยงาม บางต้นย้อยลงมาจากกระถาง บางต้นลักษณะรูปทรงเล็กจิ๋ว และขนาดใหญ่ ส่วนการดูบอนไซที่ถูกต้องจะต้องดูฟอร์ม สรีระ รูปทรงลักษณะไม่มีตำหนิ ผิวพรรณของต้นและกิ่งก้านสาขาที่สวยงาม ส่วนราคาต้นบอนไซวันนี้ที่ได้นำมาแสดงโชว์ที่แพงที่สุดคือเป็นต้นไทรจีนที่มีการเลี้ยงไว้หลายสิบปีเป็นของของนายชัยชนะ แก้วอร่าม ได้ตั้งราคาไว้ประมาณ 1 ล้าน 5 แสนบาท ไว้เมื่อ 7 ปีที่แล้ว มีลูกค้ามาสอบถามแต่ก็ยังไม่ยอมขาย เพราะเจ้าของยังรักยังหวงอยู่ นอกจากนี้ก็ยังมีพันธุ์ไม้บอนไซอีกหลายชนิดที่นำมาโชว์ในงาน ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว และผู้รักและนิยมพันธุ์สอบถามราคากัน และยังมีการจำหน่ายไม้บอนไซจากเกษตรกรจากพื้นที่ต่างๆนำมาจำหน่าย ให้แก่ผู้ที่สนใจได้เลือกซื้อนำไปปลูกเลี้ยงในราคาที่ไม่แพงมีตั้งแต่หลักร้อยบาทไปจนถึงหลักพันบาทด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image