วิกฤติแล้งทำลำน้ำอูนไม่ไหลเวียน ปลากระชังทยอยน็อกน้ำตาย

DCIM100MEDIADJI_0030.JPG

 

วันที่ 31 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม สถานการณ์ภัยแล้ง เริ่มส่งผลกระทบรุนแรง ทำให้ลำน้ำสาขาแม่น้ำโขงสายหลักเริ่มลดระดับลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะลำน้ำอูนที่ไหลมาจากเขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ไหลผ่านพื้นที่ จ.นครพนม ลงสู่แม่น้ำสงคราม ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง ล่าสุดได้ลดระดับอย่างรวดเร็ว หลังจากทางเขื่อนน้ำอูนได้มีการปิดเขื่อนเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง ส่งผลกระทบต่อลำน้ำอูนลดระดับรวดเร็ว บางจุดมีประมาณแต่ 1-2 เมตร จากระดับน้ำ 4-5 เมตร สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร ในพื้นที่ ต.นาคูณใหญ่ อ.นาหว้า จ.นครพนม ที่ประกอบอาชีพเลี้ยงปลากระชังขาย กว่า 20 ราย ทำให้น้ำไม่หมุนเวียนและมีออกซิเจนในน้ำต่ำ ส่งผลให้ปลากระชังของเกษตรกร เริ่มทยอยตาย โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีปลากระชังของเกษตรกร น็อกน้ำตาย ประมาณ 2 ตัน เกษตรกรจึงต้องนำปลาเร่งขายก่อนกำหนด เพราะเกรงว่าปลาจะตาย เกิดปัญหาขาดทุนหนัก พร้อมงดเลี้ยงชั่วคราว เนื่องจากปัญหาภัยแล้งยังเหลือเวลาอีกหลายเดือน เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อปลากระชัง เพราะในช่วงหน้าแล้ง หากระดับน้ำในลำน้ำอูนไม่หมุนเวียน จะส่งผลต่อการเลี้ยงปลานิลแปลงเพศ เจริญเติบโตช้า และมีโอกาสเกิดโรคระบาดตายสูง บางรายต้องขาดทุนปีละ 2-3 แสนบาท

201603311052443-20111216140823

นายลักษณ์ มหาวงค์ อายุ 48 ปี เกษตรกรเลี้ยงปลากระชัง บ้านนาคูณน้อย ต.นาคูณใหญ่ อ.นาหว้า จ.นครพนม กล่าวว่า ในปีนี้เกษตรกรกว่า 20 ราย ในพื้นที่ ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากภัยแล้งมาก เนื่องจากลำน้ำอูน ที่เกษตรกรเลี้ยงปลากระชัง เป็นปลานิลแปลงเพศแห้งเร็วกกว่าทุกปี บวกกับทางเขื่อนน้ำอูนพื้นที่ต้นน้ำ จ.สกลนคร มีการกักน้ำ ทำให้น้ำแห้ง ไม่หมุนเวียน ออกซิเจนต่ำ และมีอุณหภูมิสูง ทำให้ปลาในกระชังเกิดปัญหาขาดออกซิเจน ตายจำนวนมาก ช่วงนี้เกษตรกรกว่า 20 ราย เลี้ยงปลากระชัง คนละประมาณ 20,000-30,000 ตัว ต้องพากันเร่งนำปลากระชัง ที่เลี้ยงไว้ขายก่อนกำหนด ปกติจะขายเมื่อปลาน้ำหนักตัวละประมาณ 1 กิโลกรัม ซึ่งใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 4 เดือน แต่ปีนี้มีปัญหาเรื่องภัยแล้ง น้ำน้อย กระทบต่อการเลี้ยงปลาโตช้า ไม่กินอาหาร ใช้เวลาเลี้ยงนานกว่าปกติ ยาวถึง 5-6 เดือน เพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายและในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ปลาน็อกน้ำตายอีกกว่า 2 ตัน ขาดทุน 2-3 แสนบาท เพราะจะขายในราคากิโลกรัมละ 60 บาท ทำให้ช่วงนี้ยอมขายขาดทุนก่อนกำหนดในราคากิโลกรัมละ 30-40 บาท เพื่อระบายปลาออก และงดเลี้ยงชั่วคราว ฝากวิงวอนไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้อง ให้มาดูแลช่วยเหลือพิจารณาจัดสรรน้ำในลำน้ำอูน ให้หมุนเวียน ที่จะทำให้เกษตรกรเลี้ยงปลา สร้างรายได้ตลอดปี หรือสร้างระบบชลประทานกักน้ำแก้ไขปัญหาระยะยาว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image