ตรวจแผนฟื้นฟู กำจัดมลพิษคลิตี้ได้จริงหรือ?

ตรวจแผนฟื้นฟู
กำจัดมลพิษคลิตี้ž
ได้จริงหรือ?

หลังจากมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ให้กรมควบคุมมลพิษเริ่มกระบวนการในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ จ.กาญจนบุรี จากปัญหาพิษตะกั่วไม่ได้ถูกนำออกไปกำจัด แต่ล่าสุดมีเสียงร้องเรียนว่า ไม่ได้มีการดำเนินการตามกระบวนของคำพิพากษาของศาล

ทางผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนาร่วมกับชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง ได้ร้องเรียนว่าการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้โดยกรมควบคุมมลพิษไม่นำมาสู่ค่าสารตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ไม่เกินค่ามาตรฐานตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ ทางกรมควบคุมมลพิษเริ่มกระบวนการในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ หลังจากมีคำพิพากษาของศาลปกครองมากว่า 5 ปี ล่าช้าอย่างมาก สิ่งที่น่าเป็นห่วงในแผนการฟื้นฟูคือไม่มีการดูดตะกอนตะกั่วออกทั้งหมดในลำห้วย โดยดูดเพียงไม่กี่จุด ทั้งแหล่งกำเนิดมลพิษคือโรงแต่งแร่เดิมก็ไม่มีการเอาตะกั่วที่มีอยู่ออกทั้งหมด ดังนั้นแม้สิ้นสุดแผนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ในปี 2563 ลำห้วยคลิตี้และโรงแต่งแร่ก็ยังมีสารตะกั่วปนเปื้อน เป็นอันตรายต่อชาวบ้านและธรรมชาติ

Advertisement

ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 ให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ไหลมาจากป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและเป็นต้นน้ำของแม่น้ำแม่กลอง ให้กลับมาใช้ได้เหมือนเดิม รวมถึงการกำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟูตรวจและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ให้ครอบคลุมทุกฤดูกาลอย่างน้อยฤดูกาลละ 1 ครั้ง จนกว่าจะพบว่าค่าสารตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ไม่เกินค่ามาตรฐาน เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี รวมทั้งให้ชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คน เป็นผู้แทนของชาวบ้านคลิตี้เป็นเงินรายละ 177,199.55 บาท

นายสุรพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมมลพิษควรนำตะกั่วทั้งหมดที่ปนเปื้อนบริเวณโรงแต่งแร่ที่เป็นจุดกำเนิดมลพิษ และในลำห้วยคลิตี้ที่มีการปนเปื้อนออกทั้งหมด ด้วยการให้บริษัทรับกำจัดของเสียอุตสาหกรรมดำเนินการ จะมีการขนส่งไปสู่โรงงานเพื่อใช้กระบวนการกำจัดมลพิษเหล่านี้ให้มีสภาพไม่เป็นมลพิษ แล้วจึงฝังกลบในพื้นที่ของบริษัท กรมควบคุมมลพิษเคยใช้วิธีนี้กำจัดมลพิษที่ลำห้วยคลิตี้มาแล้วในหลุม 4 หลุมริมลำห้วย เมื่อราว 10 ปีก่อน แต่ครั้งนี้กรมควบคุมมลพิษกลับทำเพียงย้ายที่อยู่ของมลพิษจากในลำห้วย ไปฝังกลบในหลุมบ่อเหนือลำห้วยคลิตี้ในพื้นที่ป่า โดยไม่มีการกำจัดมลพิษ ถ้ามีการรั่วไหล มลพิษเหล่านี้จะไหลกลับลงสู่ลำห้วยคลิตี้และมาสู่หมู่บ้านคลิตี้ล่างเช่นเดิม

นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า การฟื้นฟูล่าช้าและทำไม่ถูกต้องครบถ้วนนี้ ไม่ใช่มีผลเฉพาะชาวบ้านคลิตี้ หรือสัตว์ที่อยู่บริเวณลำห้วย หรือชาว จ.กาญจนบุรี เท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบจากพิษสารตะกั่ว น้ำในลำห้วยคลิตี้ที่ปนเปื้อนสารตะกั่วได้ไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลอง น้ำจากแม่น้ำแม่กลองที่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ได้ผันลงสู่คลองมหาสวัสดิ์ เพื่อเป็นน้ำดิบที่นำไปผลิตน้ำประปาให้คนกรุงเทพฯ และคนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาใช้ คนกรุงเทพฯและปริมณฑล อาจจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ส่วนน้ำแม่น้ำแม่กลองทั้งหมดก็ไหลลงสะสมในอ่าวไทย เป็นแหล่งอาหารสำคัญของประเทศ

Advertisement

ในส่วนคดีแพ่งที่ชาวบ้านคลิตี้ล่าง จำนวน 151 ราย นำโดย นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ ยื่นฟ้องบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และกรรมการบริษัท

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาให้บริษัทและกรรมการชดใช้ค่าเสียหายให้ชาวบ้านทั้ง 151 ราย เป็นเงิน 36,050,000 บาท และให้ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้ปราศจากมลพิษ ปัจจุบันบริษัทและกรรมการก็ยังไม่ได้ชดใช้ค่าเสียหายและดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยตามคำพิพากษาแต่อย่างใด

นางสาวชลาลัย นาสวนสุวรรณ ผู้แทนชาวบ้านในคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อติดตามการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว แต่งตั้งโดยกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ชาวบ้านที่เป็นกรรมการต่างหมุนเวียนกันสอบถามขอ TOR หรือข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง กล่าวถึงขอบเขตและรายละเอียดการฟื้นฟู จากกรมควบคุมมลพิษหลายต่อหลายครั้ง แต่ได้รับการบ่ายเบี่ยงและยังไม่ได้รับจนปัจจุบัน ทั้งที่กระบวนการฟื้นฟูเริ่มทยอยดำเนินการมาหลายเดือนแล้ว ทำให้ไม่สามารถติดตามการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วได้ จนชาวบ้านต่างกังวลว่ากรมควบคุมมลพิษกำลังปกปิดความจริงอะไรหรือไม่
ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษได้ว่าจ้างบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ดำเนินการโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว มีระยะเวลาดำเนินการ 1,000 วัน เริ่มสัญญาวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ใช้เงินดำเนินการเกือบ 600 ล้านบาท โดยดูดตะกอนตะกั่วในลำห้วยคลิตี้บริเวณหมู่บ้านคลิตี้บน ระยะทาง 1.98 กิโลเมตร และบริเวณหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ระยะทาง 4.4 กิโลเมตร
นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา ผู้แทนชาวบ้านอีกคนในคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อติดตามการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว กล่าวว่า เมื่อตนขอเข้าไปตรวจสอบกระบวนการฟื้นฟูในพื้นที่ก็มักได้รับการกีดกัน ด้วยข้ออ้างที่ว่าเพื่อความปลอดภัย การกีดกันดังกล่าวทำให้ยากที่ชาวบ้านจะดำเนินการติดตามตรวจสอบการฟื้นฟูว่าเป็นไปตามข้อตกลงสามฝ่าย และเพื่อให้แน่ใจได้ว่าการฟื้นฟูจะเป็นการแก้ไขปัญหาไม่เป็นการสร้างปัญหาใหม่เพิ่มจากปัญหาเดิม

ด้าน นายวิจิตร อรุณศรีสุวรรณ ชาวบ้านคลิตี้ล่าง เล่าว่า เดิมกรมควบคุมมลพิษแจ้งกับชาวบ้านว่าจะมีการขุดลอกเอาตะกั่วที่ปนเปื้อนอยู่ตามพื้นดินออก แล้วจึงปูทับด้วยหินลูกรังจากนั้นจึงนำดินมาปิดทับอีกครั้ง แต่การดำเนินการช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กลับไม่มีการขุดลอกดินปนเปื้อนตะกั่วออกเลย โดยมีเพียงการนำหินลูกรังมาปิดทับเท่านั้น เป็นการดำเนินการไม่ตรงกับที่เคยชี้แจงกันชาวบ้าน การทำอย่างนี้ไม่น่าจะเป็นการฟื้นฟูเพราะตะกั่วก็ยังอยู่เช่นเดิม ไม่มีการนำออกไปกำจัด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) บริษัทที่ได้งานจากกรมควบคุมมลพิษ เริ่มโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี งบประมาณกว่า 454 ล้านบาท ระยะเวลา 1,000 วัน (16 พ.ย. 2560-13 พ.ย.2561) โดยขอบเขตการดำเนินงานมีการก่อสร้างหลุมฝังกลบแบบปลอดภัย ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ด้วยการดูดตะกอนในลำห้วยคลิตี้และหน้าฝาย เป็นการดูดตะกอนบริเวณหมู่บ้านคลิตี้บนระยะทาง 1.98 กิโลเมตร ดูดตะกอนบริเวณหมู่บ้าน คลิตี้ล่าง 4.4 กิโลเมตร
ขณะที่ นายสมชาย ทรงประกอบ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ชี้แจงว่า หลังศาลปกครองมีคำสั่งให้ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ คพ.ก็ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด โดยมีการศึกษาแนวทางฟื้นฟูสภาพพื้นที่ และตั้งคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งมีสัดส่วนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบร่วมอยู่ด้วย

ในแผนการฟื้นฟูนั้น กำหนดดำเนินการภายใน 1,000 วัน หรือประมาณ 3 ปี ซึ่งกำหนดว่าจะต้องมีการเตรียมหลุมฝังกลบของเสีย ขุดตะกอนดินไปฝังกลบ ทำฝายชะลอน้ำ ในการดำเนินการนั้น ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เข้ามากำกับดูแลและให้คำปรึกษาเพื่อให้การดำเนินการได้มาตรฐาน และเป็นไปตามแผน พร้อมทั้งเพิ่มให้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพื่อติดตามผลการทำงานด้วยŽ นายสมชายกล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ในการทำงานนั้น ที่ผ่านมาอาจจะมีล่าช้าไปบ้าง เพราะหากฝนตกจะทำงานยาก แต่ทุกอย่างได้มาตรฐานแน่นอน

นายสมชายกล่าวอีกว่า ลำห้วยคลิตี้นั้น มีระยะทางยาวประมาณ 10 กิโลเมตร ในการทำงานจึงได้มีการกำหนดจุดที่จะต้องเร่งดำเนินการทันที ซึ่งเบื้องต้นกำหนดให้ทำบริเวณโรงแต่งแร่ลงมา และอีกช่วงคือบริเวณก่อนถึงคลิตี้ล่างย้อนขึ้นไป ส่วนช่วงกลางของลำห้วยในอนาคตจะสร้างฝายชะลอน้ำ

ในส่วนที่ชาวบ้านบอกว่าถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปติดตามการทำงานนั้น ยอมรับว่าในช่วงแรกมีปัญหาจริง เพราะทางผู้รับเหมาไม่กล้าปล่อยให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่ฟื้นฟู แต่หลังจากมีการหยิบยกเรื่องนี้ไปหารือในที่ประชุมไตรภาคีแล้ว ก็มีข้อสรุปว่านับจากนี้ไปหากชาวบ้านจะขอเข้าไปติดตามการทำงาน ให้แจ้งหรือบอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อจะได้จัดเตรียมชุดและอุปกรณ์ที่เหมาะสมและปลอดภัยหากมีการเข้าพื้นที่ทำงานŽ นายสมชายกล่าวอีกว่า คพ.ได้ดำเนินการตามคำสั่งศาลทุกประการ และในบางส่วนได้ทำเพิ่มด้วย
ดังนั้น ขอให้ผู้ได้รับผลกระทบมั่นใจว่าภายใน 3 ปี จะฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้กลับคืนสู่สภาพปกติอย่างดีที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image