ปลาร้าดี๊ด๊า! ร้านป้าสงวน แม่แขก เมืองอุทัย ของดีมีคุณภาพ

ร้านผลิตและจำหน่ายปลาร้าเมืองอุทัย ร้านป้าสงวน แม่แขก ย้ำของดีมีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย เจ้าของร้านรุ่นที่ 3 เผย เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.หากทำให้ถูกต้อง และสมเหตุสมผลถือเป็นการยืนยันคุณภาพและมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น

เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังได้ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร ปลาร้า ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 โดยระบุว่า ด้วยคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรเห็นสมควรกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร เห็นสมควรกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องปลาร้า เป็นมาตรฐานทั่วไปตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร

ส่งผลให้บรรดาผู้ผลิตและจำหน่ายปลาร้า ทั้งร้านเล็กและร้านใหญ่ เริ่มให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก ว่าสุดท้ายแล้วนั้นผู้ผลิตและผู้จำหน่ายปลาร้า จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือดำเนินการในด้านใดบ้างเกี่ยวกับอาชีพปลาร้านี้ เช่นที่ร้านจำหน่ายปลาร้า ในตัวอ.เมือง จ.อุทัยธานี ร้านป้าสงวน แม่แขก ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองอุทัยธานี ถ.ศรีอุทัย ต.อุทัยใหม่ อ.เมือง ติดริมแม่น้ำสะแกกรัง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งร้านจำหน่ายปลาร้าที่เป็นที่ชื่อชอบของประชาชนไปจนถึงนักท่องเที่ยว ด้วยเพราะปลาร้าที่ร้านแห่งนี้ หมักกันเองในครอบครัว ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยเจ้าของร้านคนปัจจุบันนั้นเป็นรุ่นที่ 3 ของการสืบทอดธุรกิจผลิตและจำหน่ายปลาร้า มานานกว่า 30 ปี

โดยนางกาญจนา สวนานุสรณ์ อายุ 53 ปี เจ้าของร้านปลาร้า ป้าสงวน แม่แขก กล่าวว่า ก็พอได้ทราบเรื่องดังกล่าวมาแล้วบ้าง แต่ยังไม่ค่อยรู้รายละเอียดเนื้อหาของ พ.ร.บ.นี้เท่าไหร่นัก ซึ่งเบื้องต้นก็ได้ให้ลูกสาวช่วยเปิดดูข้อมูลข่าวสาร และอธิบายให้ฟัง แต่จากข้อมูลที่พอทราบและที่ตนเข้าใจนั้นหลักๆก็จะเป็นในส่วนของการผลิต วัตถุดิบ และองค์ประกอบหลักๆของการผลิตปลาร้า ที่ให้เน้นในเรื่องของความสะอาด และคุณภาพ ซึ่งปลาร้าที่ร้านที่ขายอยู่ทุกวันนี้ก็มั่นใจว่า ทำถูกต้องกรรมวิธีทุกอย่าง รวมถึงคุณภาพและความสะอาดนั้น ก็มั่นใจว่าที่ร้านมีการผลิตที่สะอาดทุกขั้นตอน

หากย้อนไปในยุคสมัยรุ่นแม่ของแม่ ที่หมักปลาร้ากันในสมัยนั้น จะใช้ปลาเน่า ในการทำปลาร้ากัน ซึ่งทางตนนั้นก็ไม่ทราบถึงเหตุผลดังกล่าว แต่ในยุคสมัยของแม่ของตน และตนเองนั้นจะใช้ปลาสดในการหมักเท่านั้น โดยวัตถุดิบและอุปกรณ์ของการหมักปลาร้านั้นมีไม่มาก โดยใช้ปลาสด ข้าวคั่ว และเกลือ ซึ่งทุกอย่างต้องใช้ส่วนผสมที่พอเหมาะและต้องถึงเนื้อปลา โดยเฉพาะเกลือ ถ้าหากใส่เกลือไม่ถึงแล้วนั้นปลาจะบวม พอง เนื้อยุย และมีกลิ่นเหม็น จะไม่สามารถนำมาจำหน่ายได้ ส่วนข้าวคั่วนั้น ต้องหมกให้ท่วมตัวปลา นอกจากจะชูกลิ่นให้หอมน่าทานแล้วยังช่วยให้ปลาร้าไม่เป็นหนอน

Advertisement

ส่วนระยะเวลาการผลิตนั้นจะเริ่มจากการคล้าวปลาสดกับเกลือทิ้งไว้ 7 วัน จากนั้นก็จะนำมาคล้าวกับข้าวคั่ว แล้วนำใส่ถังหรือโอ่งพร้อมกับปิดผ้าให้แน่นไม่ให้มีอากาศเข้า แล้วหมักทิ้งไว้ 1 เดือน จึงทยอยนำออกมาจำหน่าย ซึ่งที่ร้านมีปลาร้าที่ทำจากปลาหลายชนิด ทั้ง ปลาแรด ปลาทับทิม ปลาช่อน ปลาสวาย ปลานิล รวมไปถึงปลารวม ซึ่งจะเป็นปลาหมอ ปลากระดี่ และปลาเล็กปลาน้อยต่างๆ

ด้านการเก็บรักษา หากลูกค้ามาซื้อไปทานทางร้านจะแนะนำให้นำไปบรรจุใส่โหลแก้ว หรือนำไปแช่ตู้เย็นเพื่อคงรสชาติและกลิ่น ซึ่งปัจจุบันทางร้านเริ่มมีลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวที่มาเยือนจังหวัดและติดใจในรสชาดก็ได้โทรเข้ามาสั่งซื้อและให้ทางร้านจัดส่งด้วยเช่นกัน ซึ่งจะมีทั้งปลาร้าดิบและปลาร้าที่แปรรูปเป็นน้ำพริก ส่วนลูกค้าหน้าร้าน ทางร้านก็จะมีบริการแพคปลาร้าใส่กล่องพัสดุเพื่อให้ลูกค้าสะดวกแก่การซื้อและยังช่วยในเรื่องของการเก็บกลิ่น

ด้านความสะอาดของการขายปลีก ทางร้านจะนำปลาร้าที่มีทุกชนิด มาใส่ในกะละมังใหญ่ แล้วใช้ฝาใสซึ่งทำเองมาครอบไว้ เพื่อกันลมและแมลงเข้าไปในปลาร้า เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าปลาร้าของเรานั้นมีคุณภาพและมีความสะอาด รสชาดอร่อย ไม่มีหนอน หรือสิ่งปลอมปนต่างๆ ซึ่งหากถามถึงเรื่อง พ.ร.บ.ที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น ตนก็เห็นดีด้วยกับเรื่องดังกล่าว เพราะหากทำให้ถูกต้อง และสมเหตุสมผลแล้วนั้น ก็ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล เพราะอย่างน้อยก็เป็นการยืนยันคุณภาพและมาตรฐานให้กับอาหารอย่าง ปลาร้า ให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางไปมากยิ่งขึ้นอีกด้วย นางกาญจนา กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image