กรมชลฯผุดคลองระบายน้ำอยุธยา พื้นที่เกษตร 2.3 แสนไร่ได้อานิสงส์

เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ห้องประชุมโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา จัดเวทีเสวนาพบปะกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมี นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน นายพงษ์ศักดิ์ เลียววงศ์วาน ผู้อำนวยการการก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 2 นายโบแดง ทาแก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา นายดำรง พุฒตาล และตัวแทนภาคประชาชน เข้าร่วมเสวนา

นายประพิศ กล่าวว่า โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จะช่วยเพิ่มการระบายน้ำที่ไหลผ่านจ.พระนครศรีอยุธยาได้ 1,200 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที เมื่อรวมกับศักยภาพแม่น้ำเจ้าพระยาจะระบายน้ำได้รวม 2,400 ลบ.ม.ต่อวินาที และเพิ่มศักยภาพในการใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรใน อ.พระนครศรีอยุธยา บางบาล บางไทร บางปะอิน ผักไห่ เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา และอ.ป่าโมก จ.อ่างทอง รวมกว่า 229,138 ไร่ ทั้งยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภค-บริโภค มีความจุคลอง 25 ล้าน ลบ.ม. ครอบคลุมพื้นที่ 2 ฝั่งคลองระบายน้ำหลาก รวมทั้งสิ้น 48 ตำบล 362 หมู่บ้าน พร้อมถนน คันคลองระบายน้ำหลากทั้ง 2 ฝั่ง

ที่ประชุมยังกล่าวถึงโครงการได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) แล้ว 3 ครั้ง กรมชลประทานได้ศึกษาความเหมาะสม กรมชลประทานจะให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการออกแบบ ทำควบคู่ไปกับการทำความเข้าใจกับประชาชน สำรวจปักหลักเขต รังวัดที่ดิน แจ้งจุดให้ประชาชนทราบ โดยขอบเขตของแนวคลอง ได้ดำเนินการไปแล้ว 9 กิโลเมตร จนถึงการตรวจสอบทรัพย์สิน จ่ายเงินค่าทดแทน ออกพ.ร.ฎ.เวนคืน ในส่วนของการเวนคืนจะจ่ายให้เกิดความพึงพอใจกับชาวบ้าน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2562 เสร็จสิ้นโครงการปี 2565

Advertisement

  

ด้านนายดำรง พุฒตาล กล่าวว่า ในอดีตเราชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะมีความยินดีเวลาที่น้ำมาเพราะจะมีปลา มีน้ำมาไว้ใช้ แต่ปัจจุบันเราจะกลัวที่น้ำจะมาว่าท่วม ห่วงเรื่องของการจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้านที่รับผลกระทบ และห่วงในเรื่องของคลองว่าจะไม่เกิดการทรุดตัวเหมือนสภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน เชื่อคลองที่จะขุดสร้างขึ้นเกิดประโยชน์กับประชาชน สามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้ นำมาซึ่งความเจริญ เพราะดูจากแบบแล้วมีการสร้างถนนเลียบคลอง อยากให้ถนนมีความแข็งแรงด้วย

Advertisement

ต่อมาเวลา 10.30 น. นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยผู้บริหาร และนายดำรง พุฒตาล ตัวแทนภาคประชาชน ตัวแทน อปท. และผู้แทนฝ่ายทหาร ลงพื้นที่ร่วมเวทีการมีส่วนร่วม พบปะกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และดูงานภาคสนามทางน้ำ โดยใช้เรือสำรวจสภาพแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม ตรงพื้นที่ก่อสร้างบริเวณปากคลองระบายน้ำหลากฯ ในเขต ต.บ้านใหม่ อ.พระนครศรีอยุธยา และบริเวณที่จะก่อสร้างประตูระบายน้ำปากคลองบางบาล ตรงวัดวัดปราสาททอง ต.ไทรน้อย อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา

กรมชลประทานได้เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไปจนถึงปากแม่น้ำโดยการขุดคลองระบายน้ำหลากสายใหม่ เพื่อผันน้ำเลี่ยงเมืองพระนครศรีอยุธยา ช่วงตั้งแต่ต.บ้านใหม่ อ.พระนครศรีอยุธยา ผ่าน อ.บางบาล และ อ.บางไทร ความยาวประมาณ 22.50 กิโลเมตร เขตคลองกว้าง 200 เมตร ปรับลดเหลือเพียง 110 เมตร ในบริเวณที่แนวคลองตัดผ่านเขตชุมชนหนาแน่น ระบายน้ำสูงสุดได้ 1,200 ลบ.ม./วินาที เพื่อลดผลกระทบของประชาชนในพื้นที่ ส่วนถนนบนคันคลองทั้ง 2 ฝั่ง จะลาดผิวถนนเป็นแอสฟัสติคคอนกรีตเชื่อมระหว่าง อ.บางบาล-อ.บางไทร สำหรับจุดตัดแนวคลองระบายน้ำหลากฯ และถนนเดิม จะก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามคลองระบายน้ำหลาก

นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างสถานีสูบน้ำ เพื่อสูบน้ำในพื้นที่เข้าคลองระบายน้ำหลากฯ ป้องกันน้ำท่วมขังและในช่วงฤดูแล้ง สถานีสูบน้ำจะมีช่องรับน้ำจากคลองระบายน้ำหลากฯ เข้าคลองระบายน้ำเดิมของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล บริเวณปลายคลองระบายน้ำหลากฯ จะก่อสร้างกำแพงป้องกันตลิ่งเพื่อลดผลกระทบการกัดเซาะดินริมตลิ่งเนื่องจากเป็นจุดที่แม่น้ำน้อยไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา

ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการของโครงการคลองระบายน้ำหลากฯ ตั้งแต่ 19 ก.ย.2560 กรมชลประทานได้สำรวจปักหลักเขตพื้นที่ที่จะใช้ในการก่อสร้าง ดำเนินงานไปแล้วประมาณ 9 กิโลเมตร ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการรังวัดพื้นที่ของกรมที่ดิน คาดว่าภายในปี 2561 จะมีความพร้อมทางด้านแบบก่อสร้างและที่ดิน ในระดับที่จะสามารถเริ่มงานก่อสร้างได้แล้ว กรมชลประทานจะได้เสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติก่อสร้าง โดยมีแผนงานก่อสร้างโครงการ ตั้งแต่ปี 2562–2565

 

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยอีกว่าคาดว่าจะใช้เงินงบประมาณกว่า 14,000 ล้านบาท ช่วงนี้ถือว่าเริ่มโครงการแล้ว แบ่งการทำงานเป็น 3 ช่วง คือ 1.เตรียมความพร้อม ศึกษาความเหมาะสมรอบด้าน สำรวจออกแบบ และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนพร้อมเวนคืนพื้นที่ 2.การก่อสร้าง คาดว่าช้าที่สุดต้องไม่เกินปีงบประมาณ 2562 ระยะดำเนินการไม่เกิน 4 ปี และ 3.ส่งมอบและเริ่มใช้งานจริง นอกจากระเร่งระบายน้ำเพิ่มได้ไม่ต่ำกว่า 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที ในหน้าน้ำหลากแล้ว หน้าแล้งยังเสมือนที่เก็บน้ำกลางทุ่ง จะมีน้ำนอนคลองกว่า 25 ล้าน ลบ.ม.ให้ใช้ในหน้าแล้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image