ว่อน คาใจผลสอบผู้บริหารท้องถิ่น ตรวจข้อสอบอัตนัย 2หมื่นคน ใช้เวลา 20 วัน อธิบดีสถ.แจงยิบ-พร้อมเปิดดูคะแนน

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากจากเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) กระทรวงมหาดไทยประกาศผลการสอบภาคความรู้ความสามารถหรือข้อเขียนในการสรรหาข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นให้ดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหารท้องถิ่นที่จัดสอบวันที่ 25 มีนาคม ผลปรากฎว่ามีผู้สอบผ่านทั้งหมด 1,898 คน จากผู้เข้าสอบ 20,925 คน โดยคิดเป็นร้อยละ 9.07 ล่าสุดเกิดกระแสในกลุ่มผู้สอบคัดเลือกในหลายประเด็นหลังจากผลการสอบออกมาและมีการแชร์กันในกลุ่มไลน์ของผู้สอบคัดเลือกใน 4ประเด็น 1. ข้อสอบอัตนัยคนตรวจมีธงคำตอบอยู่แล้วใช่ไหม ต้องตอบตามธงถึงตรวจต่อและให้คะแนน การแสดงความเห็นเชิงประจักษ์ที่ทำจริงในท้องถิ่นและประสบความสำเร็จแต่ไม่ตรงธงคำตอบเขาพิจารณาให้คะแนนบ้างไหม

2. มีผู้เข้าสอบ 20,295 คน กรรมการมีเวลาตรวจข้อสอบ เพียง 20 วัน ใช้กรรมการตรวจข้อสอบกี่คน ทำไมจึงตรวจเสร็จเร็วขนาดนั้น กรรมการที่มาตรวจรู้งานท้องถิ่นดีแค่ไหน แต่ละคนอ่านหนังสือมาแรมปี พวกคุณใช้เวลาแค่ 3-5 นาที ตัดสินอนาคตของพวกเรา มันใช่หรือ คิดดูให้ดี 20,295 คนที่มาสอบ ท่านตรวจอัตนัยกี่คน วันละกี่ฉบับ มาตรฐานมันอยู่ตรงไหน ถ้าคนตรวจ 30 คน เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าทั้ง 30 คนใช้ดุลยพินิจในการตรวจตามธงที่วางไว้อย่างเท่าเทียมกันทุกคน

3. ระดับสูง ทำไมมีสิทธิเหนือ ระดับต้น ระดับกลาง ทำไมออกหลักเกณฑ์ให้พวกเขาเหล่านั้นสอบผ่านทุกคน เป็นเด็กต้องเสียสละให้ผู้ใหญ่ก่อนใช่ไหม เกณฑ์แบบนี้ ออกมาได้ไง มันยุติธรรมใช่ไหม

4. อัตราตำแหน่งว่าง สายบริหารและอำนวยการ ซึ่งคงว่างเยอะ วันสอบเสร็จ ท่านให้ข่าวว่าเตรียมบรรจุ 9,000 กว่า อัตรา วันนี้สอบได้หลักร้อย(ไม่รวมระดับสูง) ครั้งหนึ่งกรมเคยบอกว่าปัญหาของท้องถิ่นคือไม่สรรหาสายบริหาร ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารงาน จนเป็นที่มาของ ม.44 ให้ ก.กลาง จัดสอบ และเมื่อ ก.กลางจัดสอบ ซึ่งรวมแล้ว มีตำแหน่งว่างกว่า 9,000 อัตรา ก.กลางใช้เวลาเป็นปีในการ จัดสอบ มีคน สมัคร 20,000 กว่าคนให้ ก.กลางเลือก แต่ ก.กลางก็ใช้ สเปกเทพ คัดเอาแค่ 400 กว่า ตำแหน่ง และทิ้งให้ท้องถิ่นจะมีตำแหน่งบริหารว่างอีก กว่า 8-9 พัน ตำแหน่ง ท่านจะแก้ปัญหา หรือ จะมีแนวทางส่งเสริมท้องถิ่น เหล่านี้อย่างไรครับ อปท.บ้างแห่ง ผมขอยกตัวอย่างจริง คือ มี เทศบาลแห่ง 1 มีตำแหน่ง ผอ.คลัง ผอ.ช่าง ผอ.กองสาธารณสุข ว่าง รวม 3 ตำแหน่ง เทศบาลแห่งนี้ขอใช้บัญชีกรมมาแรมปี วันนี้ปรากฏว่า ผอ.ช่างต้นไม่มีคนสอบผ่าน ผอ.คลัง ต้น สอบผ่าน 1 คน ผอ.สาธารณสุข สอบผ่าน 1 คน แล้วอย่างนี้จะทำอย่างไรครับ เทศบาลแห่งนี้จะต้องรอบัญชีไปอีกนานเท่าไหร่ครับ ในเมื่อไม่มีคนสอบผ่านเลย ก.กลาง มีความต้องการจะวัดหรือเลือก ตำแหน่งทางการบริหารอย่างไรครับ ระหว่าง 1.จะะเอานักบริหารที่มีความรู้มากๆหนอนหนังสือ มีเวลา หนังอ่านหนังสือ ดูตำหรับตำราและไปสอบ หรือ2.จะเอานักบริหารที่มากด้วยประสบการณ์การทำงาน วันๆเขาเหล่าที่ร่างหนังสือ ตรวจงาน แก้ปัญหาในองค์กร ลงพื้นที่ เข้าหมู่บ้าน ชุมชน เวลาอ่านหนังสือเตรียมสอบแถบไม่มี คนแบบไหนครับที่กรมต้องการ คนแบบไหนครับที่กรมควรดูแลเขา คนแบบไหนครับที่ทำงานตามนโยบายของกรมจนกรมมีผลงาน คนแบบไหนครับที่กรมจะฝากให้เขาดูแลความทุกข์ สุข ของประชาชนในท้องถิ่นลองถามใจกรมดูนะครับ? ด้วยความอยากเห็นกรม ทำได้ดังชื่อที่ว่า “กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น” ขีดเส้นใต้ 3 เส้น คำว่า “ส่งเสริม”

Advertisement

5. คืนอำนาจให้พวกเรามาสอบที่จังหวัดเช่นเคยเถอะ การสอบครั้งนี้นับแต่ประกาศใช้เวลาเกือบ 1 ปี กว่าจะได้สอบ ถือว่าล้มเหลวในการบริหารงานมากๆ , สถานที่สอบไม่มีความพร้อมในหลายเรื่องๆ เมื่อ 25 มีค 61 ที่ผ่านมา , ข้อสอบอัตนัยระดับต้น กลาง สูง วัดอะไรหรือ มีแต่คนวิจารณ์ ตำแหน่งว่าง 9,000 ใช้เวลาสรรหา 1 ปี แต่ได้คนมาทำงานแค่ 400 คน มันใช่หรือ บริหารอย่างนี้ คืนอำนาจให้จังหวัดเถอะ ยอมรับตัวเองบ้างว่ามันล้มเหลว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้โพสต์คำถามที่มีการเผยแพร่พร้อมตอบข้อสงสัยในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Suttipong Juljarern” ว่า ตอบ ประเด็นที่ 1 การออกข้อสอบอัตนัย 1. ลักษณะของข้อสอบอัตนัย เป็นการวัด(1) ความรู้-ความจำ ของผู้เข้ารับการสรรหา หรือ (2) ความเข้าใจของผู้เข้ารับการสรรหา หรือ(3) การนำไปใช้ประโยชน์ของผู้เข้ารับการสรรหา หรือ (4) การวิเคราะห์ของผู้เข้ารับการสรรหา หรือ 2. การเฉลยคำตอบ จะทำไปพร้อมๆ กับการเขียนข้อสอบ
3. การตรวจให้คะแนน(1) อาจารย์ที่ตรวจข้อสอบจะสุ่มกระดาษคำตอบมาตรวจ โดยไม่ดูชื่อผู้ตอบ เพื่อไม่ให้เกิดอคติในการตรวจ (2) อาจารย์ที่ตรวจจะพิจารณาคำตอบอย่างคร่าวๆ ก่อน โดยจะแบ่งคุณภาพของการตอบของผู้ตอบออกเป็นกลุ่มๆ เช่น ดีมาก ดี ปานกลาง ค่อนข้างดี ยังใช้ไม่ได้(3) อาจารย์ที่ตรวจจะตรวจข้อสอบของแต่ละกลุ่มอีกครั้ง แล้วให้คะแนน (4) นำคะแนนตาม (3) มาเรียงลำดับโดยวิธีการจัดอันดับคุณภาพ

ตอบ ประเด็นที่ 2 กรรมการตรวจข้อสอบ เป็นใคร เป็นคณาจารย์ที่มีเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการปกครองท้องถิ่นและเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์โดยทั่วไป โดยเมื่อได้ทำการตรวจข้อสอบอัตนัยเสร็จ ได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการทำคำตอบของผู้เข้าสรรหา “โดยภาพรวมมีผู้สอบได้คะแนนต่ำกว่า 20 คะแนน จากคะแนนเต็ม 40 คะแนน ลงมามีเกือบร้อยละ 80 โดยร้อยละ 60 ตอบไม่ได้และไม่ได้แสดงความรู้ความสามารถ”
ตอบ ประเด็นที่ 3 อัตราตำแหน่งว่างที่มีมากกว่าผู้สอบได้จะทำอย่างไร สำหรับการสอบในตำแหน่งบริหารและอำนวยการท้องถิ่นในครั้งนี้ มีการกำหนดหัวข้อหรือวิชาที่จะใช้สอบให้ผู้สมัครสอบได้รู้ก่อนที่จะมีการดำเนินการสอบเป็นเวลานานพอสมควร และหัวข้อที่กำหนดก็เป็นหัวข้อหรือวิชาที่ผู้ดำรงตำแหน่งบริหารหรืออำนวยการท้องถิ่นควรรู้ซึ่งเป็นไปตามหน้าที่ความรับผิดชอบหลักและลักษณะงานทั้ง 4 ด้านของผู้ดำรงตำแหน่งบริหารและอำนวยการท้องถิ่นตามที่กำหนดไว้ตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง วัตถุประสงค์ที่ได้มีการกำหนดให้มีการสอบในลักษณะดังกล่าว ก็เพื่อให้ได้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งบริหารหรืออำนวยการท้องถิ่น ที่มีความรู้ ทักษะ สมรรถนะ เป็นที่ยอมรับจากข้าราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ส่วนราชการหรือหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนมีความภาคภูมิใจ และมีศักดิ์ศรีในความเป็นข้าราชการ
ส่วนกรณีที่มีผู้ผ่านการสรรหาน้อยกว่าตำแหน่งว่างนั้น เมื่อมีการสรรหาในรอบนี้เสร็จแล้ว ก็จะมีการรับสมัครสรรหาในตำแหน่งที่ว่างดังกล่าว ซึ่งเชื่อมั่นว่าผู้เข้ารับการสรรหาทุกคนจะมีความพร้อมมากขึ้นและสามารถผ่านการสรรหาด้วยความรู้ ความสามารถ และอย่างภาคภูมิ ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่าน ครับ

Advertisement

ตอบ ประเด็นที่ 4.การขาดผู้บริหารแล้วไม่จัดสอบถือว่าเราปิดกั้นองค์กรไม่ให้มีผู้บริหาร การเปิดสอบจึงเป็นการเปิดโอกาสให้องค์กรมีโอกาสคัดเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามานำการขับเคลื่อนองค์กร ในขณะเดียวกันการสอบที่เป็นธรรม โปร่งใส เปิดกว้างเป็นการทั่วไป มีเครื่องมือในการวัดที่ชัดเจนคือข้อสอบที่มีเนื้อหาสาระตามที่ทุกคนรับรู้ว่าจะมีการทดสอบตามประกาศ ก็เป็นวิธีการที่ทำให้ทุกคนมีโอกาสได้ใช้ความรู้ความสามารถในการสร้างความเจริญก้าวหน้าในอาชีพให้กับตนเองได้อย่างเท่าเทียมกัน ประเด็นที่เปิดสอบแล้วมีคนสอบได้น้อยไม่เพียงพอกับอัตราว่าง องค์กรนั้นๆ ก็ต้องให้มีตำแหน่งรองๆลงไปรักษาการไปก่อน ส่วนผู้เข้าสอบที่สอบไม่ได้ก็ต้องตั้งสติทบทวนดูว่าตัวเองได้เตรียมตัวดีแล้วหรือยัง อ่านหนังสือ หนังสือสั่งการครบแล้วหรือยัง มีวิธีการเตรียมตัวที่ถูกต้องหรือไม่ ฯลฯ
ส่วนของผมและผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ก็ต้องหาทางช่วยเหลือคนของเราที่สอบตกและจะต้องสอบใหม่ให้มีความพร้อมกว่าเดิม ซึ่งผมได้เรียนให้ทราบแล้วว่า คือ จะจัดให้มีการอบรม พัฒนาทั้งเรื่องความรู้ตามกรอบวิชาที่ต้องใช้สอบ และเพิ่มพูนทักษะ เทคนิควิธีการเขียนหนังสือราชการ บทความ (เพื่อให้มั่นใจว่าจะตอบคำถามอัตนัยได้ดีขึ้น) ก่อนที่จะมีการรับสมัครสอบรอบใหม่
ตอบประเด็นที่ 5.การคืนอำนาจให้แต่ละ อปท.ไปจัดสอบเอง ผมไม่ขัดข้องอะไรครับ ถ้าท่านคิดว่าแต่ละ อปท.ให้ความเป็นธรรมต่อทุกคนได้ดีกว่ากรม (เช่น มีตำแหน่งว่างแล้วทุกคนที่มีคุณสมบัติสามารถมาสมัครสอบแข่งขันกันได้โดยเสมอภาค,มีการวัดผลที่ดี,มีความเป็นธรรม ฯลฯ แต่เรื่องอำนาจการจัดการสอบจะอยู่ที่ใครนั้นเป็นอำนาจของ คสช.และรัฐบาลนะครับไม่ใช่ของผม ดังนั้น การแสดงความคิดเห็นของท่านก็จะเป็นการดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลที่ผู้มีอำนาจจะใช้ในการพิจารณา แต่ต้องไม่ลืมว่าเราต้องรับฟังความคิดเห็นของท่านอื่นๆด้วยนะครับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายสุทธิพงษ์ ยังระบุด้วยว่าพร้อมจะให้เปิดดูคะแนน พร้อมกระดาษคำตอบหลังมีการสอบสัมภาษณ์ผู้ที่ผ่านการสอบข้อเขียนในวันที่ 28-31 พฤษภาคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image