เชียงใหม่ค้าน โอนย้าย ‘ไนท์ซาฟารี-ศูนย์ประชุมฯ’ วอน รบ.ทบทวนมติ ครม.

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานคณะกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) หรือ สพค. เป็นประธานประชุมหารือเรื่องการจัดทำแผนการตลาด สพค. มีนายกฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นางเนตรนภา สุทธิธรรมดำรง รักษาการ สพค. นายบุญทา ชัยเลิศ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่ นายดี จันทคลักษณ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตอาหารสัตว์ส่งไนท์ซาฟารี นายวิริยะ ช่วยบำรุง อดีตผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมกรรมการและเจ้าหน้าที่รวมกว่า 20 คน โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง

ต่อมา นายดีและนายวิริยะได้ยื่นหนังสือกับนางกอบกาญจน์ เพื่อคัดค้านการโอนย้ายเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ไปสังกัดองค์การสวนสัตว์ และศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ไปสังกัดกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560 พร้อมขอให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนมติ ครม.วันที่ 10 เมษายน 2561 ให้โอนย้ายทรัพย์สิน สพค.ไปให้กรมธนารักษ์รับผิดชอบดูแลตั้งแต่วันที่ 30 กันยายนนี้ พร้อมเลิกจ้างพนักงาน เจ้าหน้าที่ เนื่องจากยุบเลิกหน่วยงาน วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป โดยมีกลุ่มวิสาหกิจผลิตอาหารสัตว์ส่งไนท์ซาฟารี รถรับจ้างสี่ล้อแดง พนักงาน เจ้าหน้าที่ไนท์ซาฟารี และประชาชนโดยรอบ 4 ตำบล คือ ต.แม่เหียะ ต.สุเทพ อ.เมือง ต.หนองควาย ต.บ้านปง อ.หางดง กว่า 400 คน ชูป้ายคัดค้าน บางป้ายมีข้อความว่า “เรา รัก (รูปหัวใจ) ลุงตู่ ขอลุงตู่ช่วยเราชาวเชียงใหม่” และ “ศูนย์ประชุมฯจะให้เป็นของประชาชน หรือเป็นของนายทุน” พร้อมตั้งโต๊ะล่ารายชื่อผู้คัดค้านเรื่องดังกล่าว เพื่อเสนอไปยังสำนักนายกรัฐมมนตรีให้ทบทวนมติ ครม.ดังกล่าว

ภายหลังนางกอบกาญจน์รับเรื่องดังกล่าว ได้เดินพบปะกับกลุ่มผู้คัดค้าน พร้อมยกมือไหว้และพูดคุยอย่างเป็นกันเอง ซึ่งกลุ่มผู้คัดค้านได้เรียกร้องให้นางกอบกาญจน์นำเรื่องดังกล่าวเสนอรัฐบาล เพื่อให้พิจารณาทบทวนมติ ครม. เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบการยุบและโอนย้ายไปสังกัดหน่วยงานใหม่ จากนั้นนางกอบกาญจน์ได้ขอตัวเข้าไปประชุมคณะกรรมการ หรือบอร์ด สพค. โดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใดๆ โดยใช้เวลาพบปะกลุ่มมวลชน 20 นาที ก่อนกลุ่มผู้ชุมนุมสลายตัว

Advertisement

นายวิริยะกล่าวว่า เดิมศูนย์ประชุมฯ เป็นที่ของกรมธนารักษ์ที่ให้ทหารดูแล ซึ่งอยู่ในแนวเดียวกับบ้านพักศาล หรือป่าแหว่ง กว่า 20,000 ไร่ แต่แบ่งมาสร้างศูนย์ประชุมฯเพียง 330 ไร่ เฉพาะมูลค่าที่ดิน 6,000 ล้านบาท หากรวมค่าก่อสร้าง ตกแต่ง และอุปกรณ์อีก 4,000 ล้านบาท รวมมูลค่า 10,000 ล้านบาท เพื่อสร้างประโยชน์ให้ชาวเชียงใหม่ และ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน หากโอนให้ราชการดูแลคงนำไปให้เอกชนประมูลเช่าระยะ 30-50 ปี จึงไม่ต้องการให้นายทุนเข้ามาชุบมือเปิบ โดยคนท้องถิ่นไม่ได้รับประโยชน์จากศูนย์ดังกล่าว ที่สำคัญการโอนย้ายศูนย์ประชุมฯไปยังกรมธนารักษ์ยังขัดต่อการจัดตั้งพระราชกฤษฏีกา สพค. พ.ศ.2556 มาตรา 3 และมาตรา 7 ด้วย

ด้าน นายดีกล่าวว่า ก่อนสร้างไนท์ซาฟารี รัฐได้ให้สัญญาประชาคมให้ชุมชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการ โดยผลิตอาหารสัตว์ เพื่อสร้างงานและรายได้สู่ชุมชน หากโอนย้ายไนท์ซาฟรีไปสังกัดองค์การสวนสัตว์ ทำให้ชุมชนไม่มีส่วนร่วม ขาดโอกาส และสิทธิต่อสู้เรียกร้อง ส่งผลกระทบต่อสมาชิกผู้ผลิตอาหารสัตว์กว่า 500 ครอบครัวที่ต้องขาดรายได้ปีละ 8-9 ล้านบาท หลังถูกตัดโควต้าส่งอาหารสัตว์กว่า 10 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว

“ไม่อยากให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวแล้วบานปลาย และไม่ต้องการให้ใครมาหลอกลวงอีก ต่อไปถ้าสร้างอะไรต้องทำประชาคม ถ้าไม่ทำ โครงการต่างๆ อาจเกิดขึ้นได้ยาก เพราะถูกต่อต้านและคัดค้านแน่นอน ดังนั้น ขอให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนมติ ครม.ที่เกี่ยวกับ สพค. ไนท์ซาฟารี และศูนย์ประชุมฯทั้งหมด ให้ สพค.บริหารจัดการตามเดิมต่อไป” นายดีกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image