เวทีผู้เลี้ยงกุ้งตรังทุบโต๊ะประกาศราคากลาง แก้วิกฤตราคาตกต่ำ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 20 พฤษภาคม ที่โรงแรมธรรมรินทร์ ธนา จังหวัดตรัง สหกรณ์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจังหวัดตรัง จัดกิจกรรมประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2560 และสัมมนาทางวิชาการ ครั้งที่ 2 โดยมีนายชำนาญ พงษ์ศรี รองอธิบดีกรมประมง นายบัญชา สุขแก้ว ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง นายบรรจง นิสภวาณิชย์ นายกสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย พร้อมสมาชิกสมาพันธ์, สมาคม, ชมรม, สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกว่า 500 คน ร่วมประชุมเสวนา โดยมีนายวสันต์ ถนอมทรัพย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายเกียรติศักดิ์ เกษมพันธุ์กุล ประมงจังหวัดตรัง นายบุญเจือ สมทิพย์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดตรัง ให้การต้อนรับ
นายบรรจง นิสภวาณิชย์ นายกสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ในวันนี้สมาพันธ์, สมาคม, ชมรม, สหกรณ์ ผู้เลี้ยงกุ้ง ผนึกกำลังกันในการร่วมกันนำพาอุตสาหกรรมกุ้งไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตให้ได้ เนื่องจากที่ผ่านมาอุตสาหกรรมกุ้งไทยประสบปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรเลี้ยงกุ้งประสบปัญหาขาดทุน ในการประชุมวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา สมาพันธ์เกษตรเกษตรผู้เลี้ยงกุ้งไทย สมาคม, ชมรม, สหกรณ์ มีมติขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยสู่แนวทางที่ดี เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั้งประเทศได้รับการดูแล นอกเหนือจากกรมประมง กระทรวงพาณิชย์มีแนวทางให้ความช่วยเหลือแล้วก็ตาม
“ที่ผ่านมาเราเป็นผู้ผลิตกุ้ง เป็นเกษตรกรซึ่งไม่สามารถกำหนดราคาได้เลย ผู้กำหนดราคา คือ ผู้ซื้อ โบรกเกอร์ ฉะนั้นวันนี้ ในนามสมาพันธ์และผู้เลี้ยงกุ้งทั้งประเทศ ขอประกาศราคากลางบริโภคกุ้งในประเทศ เพื่อให้เกษตรกรขายกุ้งให้พ่อค้าแม่ค้า คือ ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม ขนาดกุ้ง 100 ตัว ราคา 130 บาท, 90 ตัว 140 บาท, 80 ตัว 150 บาท, 70 ตัว 160 บาท, 50 ตัว 190 บาท, 40 ตัว 210 บาท เป็นราคากลางสมาพันธ์จะประกาศทุกวัน และในแต่ละจังหวัดให้เป็นราคาตั้ง และขอความร่วมมืออีกประการ ต้องสนับสนุนการบริโภคในประเทศให้มากที่สุด เปิดช่องทางตลาดต่างประเทศให้มากที่สุด ซึ่งต้องให้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย” นายบรรจงกล่าว
นายบัญชา สุขแก้ว กล่าวว่า ปัจจุบันถือว่าปัญหาราคากุ้งตกต่ำเป็นวิกฤตร่วม ดังนั้นสมาพันธ์ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการรวมตัวกลุ่มสมาชิกเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งซึ่งประกอบด้วย สมาคม, ชมรม, สหกรณ์วิสาหกิจ และกลุ่มเกษตรกร 5 ประเภท ซึ่งรวมตัวกันเป็นสมาพันธ์มีสมาชิกทั้งประเทศกว่า 10,000 คน ได้มาร่วมกันช่วยแก้วิกฤตกุ้ง การแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วมถือว่าเดินทางแนวทางที่เป็นไปได้ และขอเรียนว่า ตลอดวิกฤตเดือนเมษายน กรมประมงร่วมกับหลายภาคส่วน 1 สมาคม 3 สมาพันธ์
“แนวทางการแก้ปัญหาระยะสั้น คือ ลดต้นทุน ทั้งเรื่องลูกพันธุ์ ราคา 3 สตางค์ต่อ 1 ตัว ปัจจัยการผลิตอื่นๆ ปูน จุลินทรีย์ที่เป็นปัจจัยการผลิตลดลงประมาณ 10% เรื่องราคาอาหารกุ้งลดลงกระสอบละ 25 บาทในห้วงระยะเวลา 2 เดือน ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเพาะเลี้ยงสามารถยืนอยู่ได้ รวมทั้งสมาคมแช่เยือกแข็งไทยร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ จะรับซื้อราคานำตลาดเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงระยะสั้น เพื่อตรึงผลผลิตให้สูงขึ้น โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งสมัครมากกว่า 600 ราย ปริมาณกว่า 5,000 ตัน ทั้งนี้อยู่ในเป้าหมายประมาณ 10,000 ตัน อย่างไรก็ตาม
การที่สมาพันธ์ออกมาประกาศถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ไม่มีวิกฤตใดที่แก้ได้โดยลำพัง ฉะนั้นสมาพันธ์ในฐานะตัวแทนที่ประกาศบนเวที ถือว่าเป็นสัญญาประชาคม” นายบัญชากล่าว
นายชำนาญ พงษ์ศรี รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การจะต่อสู้กับตลาดต่างประเทศให้เป็นทิศทางเดียวคงไม่เหมาะสมมากนัก ต้องพยายามขยายตลาดในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งกรมประมงเองได้ทำงานรวมกับกระทรวงพาณิชย์ พยายามเปิดตลาดช่วยกันขาย แม้แต่กรมประมงเองก็หันมาขายกุ้งกันแล้ว เริ่มจากขายกันในกรมประมง เปิดให้จองกุ้ง เมื่อแนวโน้มตลาดดีขึ้น จะขยายตลาดสู่ภูมิภาค ถ้ายังมีผลผลิตมาก ภาครัฐจะสนับสนุนอย่างเต็มที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image