“สมัชชาแปดริ้ว” จี้ผู้ว่าฯแก้ขยะพิษ ใช้กฎเหล็กคุมเข้มรง.รีไซเคิล หวั่นกระทบคุณภาพชีวิต-สิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่ห้องประชุมอาเซียน ศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา กลุ่มสมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืนและพลเมืองผู้ได้รับผลกระทบ เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อเสนอแนวทางจัดการปัญหาโรงงานประเภท 105 , 106 ที่สร้างปัญหาและก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและคุณภาพสิ่ง แวดล้อมในวงกว้าง โดยเสนอแนวทางจัดการปัญหาโรงงานประเภท 105, 106 จำนวน 5 ข้อ คือ 1. โรงงานประเภท 105, 106 ที่ดําเนินการอยู่ที่ไม่มีใบอนุญาตโรงงาน หรือไม่แจ้งประกอบกิจการ หรือ ประกอบกิจการผิดเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตขอให้ระงับการประกอบกิจการทันที ในกรณีกิจการส่งผลกระทบแล้ว ให้ผู้ประกอบกิจการรับผิดชอบดําเนินการฟื้นฟูอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและสิ่งแวดล้อม อย่างเป็นธรรม 2. ขอให้มีคณะกรรมการที่มีหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (อ.1) สําหรับ โรงงานประเภท 105, 106 และต้องมีการประชาคมพิจารณาก่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)จะออกใบอนุญาต ก่อสร้างอาคาร (อ.1 ด้วย และต้องจัดประชาคมพิจารณา สําหรับการออกใบอนุญาตโรงงานอีกขั้นหนึ่งด้วย 3. เสนอให้ยกเลิกคําสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้ บังคับผังเมืองรวมสําหรับการประกอบกิจการบางประเภท 4. เสนอให้ยกเลิกการนําเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพลาสติกเช่นเดียวกับประเทศจีนและ 5. เสนอให้โรงงานประเภท 105, 106 ต้องถูกระบุให้เป็นกิจการที่ต้องจัดทําการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม  ด้านนายสุวิทย์ กล่าวว่า จากข้อกังวลของพี่น้องประชาชน ต่อการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ จังหวัดจะเร่งตรวจสอบโรงงานประเภทรีไซเคิล 105,106 ซึ่งมีจำนวนกว่า 200 แห่ง โรงงานไหนที่มีปัญหาเยอะ ดำเนินการตรวจสอบจะครบถ้วนแล้ว ส่วนที่เหลือจะดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ส่วนโรงงานใดมีปัญหา เช่น ทำไม่ถูกต้องที่ยังไม่ยื่นประกอบการ จะสั่งให้ยุติทันที ส่วนที่จะดำเนินการต่อไปเพื่อให้รัดกุมและไม่ให้เกิดผลกระทบอย่างที่ผ่านมา โดยแจ้งนายอำเภอเป็นเจ้าภาพหลักบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการยื่นจัดตั้งโรงงาน ต้องมีการประชาคมรับฟังความเห็นประชาชน มีทุกหน่วยงานจะเข้าไปอธิบายทำความเข้าใจ เมื่อได้รับผลกระทบ เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในการตัดสินใจว่าโรงงานอุตสาหกรรมนี้ ควรตั้งอยู่ในพื้นที่
“ขั้นตอนที่เป็นปัญหา คือ ขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลเสนอให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมออกใบอนุญาตตั้งโรงงานอุตสาหกรรม โดยจะแต่งตั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัด และ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชน อาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัด ร่วมเป็นคณะทำงานในการกลั่นกรองดูว่ามีความเหมาะสมที่จะตั้งโรงานหรือไม่อย่างไร เพื่อให้เกิดความรอบคอบรัดกุมมากขึ้น” นายสุวิทย์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image