กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงงาน “ธรรมดาแบบใหม่” รับสั่ง “ชีวิตยุคโควิด” ต้องเรียนรู้อยู่เสมอ มี 3 สกิล
“ยุคนี้ใครๆ ก็เรียกกันว่ายุค New Normal คือ อยากจะทำอะไรก็ไม่ได้ จะคบหาสมาคมกับใครก็ไม่ปรกติ ต่างคนต่างกลัวซึ่งกันและกันว่ามีเชื้อโรคหรือไม่ แถมปีที่แล้วเกิดเหตุร้ายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ข้อเท้าหักทั้งสองข้าง ต้องผ่าตัดใช้เวลานานกว่าจะเดินเหินได้ แต่คุณหมอ คุณพยาบาล กายภาพบำบัดจัดการกันจนพอจะเดินและไปทำการงานอย่างเช่นเคย
แต่ก็มีปัญหาโควิดที่หมอบอกไม่ให้ออกไปไหนๆ คนอื่นๆ กักตัวกันอย่างมากก็สองอาทิตย์ แต่ข้าพเจ้าโดนกักอยู่ 3 เดือน ฉะนั้นจึงไปเยี่ยมที่ไหนๆ ไม่ได้ ต้องอยู่ในวังสระปทุม ผู้ที่จัดรูปบอกว่ามีแต่วังสระปทุม จะทำให้ผู้ชมนิทรรศการเบื่อที่ถ่ายตอนออนไลน์ ก็ไม่มีใครอยากดู หลังเดือนกันยายนออกไปนอกวังสระปทุมได้พยายามถ่ายรูปอื่นๆ เช่น พระราชวังบางปะอิน ค่ายทหาร รูปได้รับเลือกบ้าง
ที่จริงจะเดินทางไปไหนๆ ก็น่าจะได้ แต่แทบจะไม่มีเวลาเลย ต้องเปิดประชุมพูดออนไลน์ ถ่ายวิดีโอบ้าง อัดเทปบ้าง ใช้เวลามากกว่าไปจริงๆ เสียอีก
ปีนี้เป็นแบบนี้ หวังว่าปีหน้าจะมีภาพต่างๆ ให้ท่านดูมากขึ้น ถ้าไม่มีโรคภัยไข้เจ็บประหลาดๆ”
พระราชดำรัสใน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชนิพนธ์ไว้ในคำนำของหนังสือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ หัวข้อ “ธรรมดาแบบใหม่ New Normal” ที่สะท้อนให้เห็นถึงพระราชจริยวัตรที่เปลี่ยนไป ในยุคโควิด-19 ที่เริ่มระบาดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน


ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงพสกนิกรในยามเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงยื่นพระหัตถ์เข้าช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ และพสกนิกร ในด้านต่างๆ อย่างมากมาย เพื่อรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาทิ พระราชทานงบประมาณจาก “กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่างๆ)” จัดซื้อเครื่องออกซิเจน ไฮ โฟลว์ พระราชทานแก่โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศ, พระราชทานห้องระบบแลกเปลี่ยนอากาศแรงดันลบแบบสมบูรณ์และห้อง Semi ICU แก่โรงพยาบาลต่างๆ, พระราชทานชุด PAPR, ชุด PPE หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ
รวมทั้งพระราชทานถุงพลังใจ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระฉายาลักษณ์ ฉลองพระองค์เสื้อยืดลายฝีพระหัตถ์ และข้อความให้กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่แก่โรงพยาบาลต่างๆ และบุคลากรทางการแพทย์ ในนามมูลนิธิชัยพัฒนา และกองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่างๆ) ความว่า
“…ชัยพัฒนาสนับสนุนผู้ดูแลรักษาผู้ป่วย…ขอบคุณครับ/ค่ะ…” พร้อมลงพระนามาภิไธย “สิรินธร”
พระราชจริยวัตร “ธรรมดาแบบใหม่”
นับเป็นเวลากว่า 2 ปี ที่คนไทยและคนทั่วโลกต้องเผชิญกับไวรัสดังกล่าว ทำให้ต้องปรับการใช้ชีวิตมาเป็นแบบ “นิวนอร์มอล” หรือ “ปกติใหม่” เฉกเช่นเดียวกับ “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ก็ทรงปรับพระองค์เช่นกันทั้งในด้านพระราชจริยวัตร และการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ โดยทรงเล่าไว้ในการเสด็จฯ ทรงงานในสถานที่ต่างๆ อาทิ ในการเสด็จฯ ทรงเปิดงานนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “ธรรมดาแบบใหม่ : New Normal” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565
ทรงบรรยายความตอนหนึ่งว่า “มีเหตุต่างๆ ที่ร้ายแรง นอกจากโควิด ตอนต้นปี 2564 มีโควิดแล้ว ก็ยังไปไหนๆ ได้ ก็เตรียมจะไปต่างจังหวัด แต่พอดีเวลาเหลือ เดินออกกำลังกายสักหน่อย เดินไปได้หน่อยนึงก็หกล้ม ขาหัก ในที่สุด ก็ต้องเป็น ไม่ธรรมดา ต้องผ่าตัด เดินไม่ค่อยได้”
“ตอนนี้ก็แก้ไข ช่วยกันต่างๆ นานา จนกระทั่งพอที่จะเดินได้แล้ว ก็เตรียมจะออกไป ก็เกิดเหตุไม่ปกติไม่ธรรมดาอีกตามเคย หมอให้กักตัว 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึงกันยายน อยู่ในวังสระปทุม ก็อย่างเดิมซ้ำๆ ซากๆ แต่ก็อย่างเดิมไม่ได้ เพราะหมูหมากาไก่ มีสมาชิกตัวใหม่ ส่วนตัวเก่าก็โตขึ้นจากเดิม งานครั้งนี้ หลายท่านที่เป็นเจ้าประจำมาไม่ได้ ก็เป็นธรรมดาแบบใหม่ เอาเท่านี้แล้วกัน”
จากนั้น ทรงบรรยายภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “ภาพประชุมมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีออนไลน์” ว่า “เรื่องของนิวนอร์มอล ประชุมเจ้าฟ้ามหาจักรี ใช้ประชุมออนไลน์ ตอนเค้าห้ามไม่ให้ออกไปข้างนอก ก็พยายามเยี่ยมโรงเรียนตชด. โรงเรียนพระปริยัติธรรม และโครงการ ก็ใช้จอแบบนี้ ให้เจ้าหน้าที่ ตชด.ถ่ายให้ ทำไปทำมาคล่องขึ้นทุกฝ่าย นั่งอยู่หน้าจอดูไม่ทัน จะวิจารณ์ หรือพูดอะไรก็ไม่ค่อยถนัดนัก บางคนก็บอกว่าดี ถ้าทุกคนอยู่ในห้องประชุมอย่างนี้ ทุกคนก็จะได้ยินเหมือนกัน ก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย เยี่ยมงานไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่หลังๆ เริ่มชำนาญ พอชำนาญก็ออกมาได้พอดี”
รับสั่ง “ไม่เคยเห็นอะไรที่เป็นแบบนี้”
ในการแสดงปาฐกถา เรื่อง “ชีวิตหลังโควิด-19” พระราชทานแก่ โครงการพัฒนาเครือข่ายและศักยภาพผู้บริหารระดับสูง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (หลักสูตร WiNS) ผ่านระบบออนไลน์เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2564 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า
“ตั้งแต่มีชีวิตผ่านมา ก็ 66 จนถึง 67 ปีแล้ว ก็เคยผ่านอะไรมามาก แต่ไม่เคยเห็นอะไรที่เป็นแบบนี้ แบบที่กำลังเกิดขึ้น แต่ก่อนเคยมีโรคซาร์ส และหวัดนก ก็ยังรู้สึกว่าไม่แย่เท่านี้ เมื่อโควิดมาแบบจู่โจมและแพร่ระบาดรวดเร็วมาก ทุกประเทศเดือดร้อน และพยายามแก้ไขปัญหาของตนเองเท่าที่จะทำได้ ก็ขอเล่าประสบการณ์โควิดที่ผ่านมา”


ทรงแนะชีวิตยุคโควิด รีสกิล-อัพสกิล-นิวสกิลส์
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตรัสว่า “ยุคโควิด นับว่า เทคโนโลยีสารสนเทศมีความสำคัญอย่างยิ่ง พอยุคหลังโควิด ทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ในชีวิตและการงานแทบทุกด้าน ก็ทำให้ชีวิตหลังโควิดก็จะใช้เรื่องสารสนเทศได้คล่องแคล่วขึ้น อันนี้ก็เป็นการเดา”
“สำหรับประชาชนทั่วไป เท่าที่ทราบเป็นจำนวนมากทีเดียวที่ได้รับผลกระทบจากโควิดในการประกอบอาชีพ แม้แต่คนที่มีงานทำอยู่แล้วก็ต้องหมั่นหาความรู้ เพื่อให้สามารถทำงานใหม่ๆ ได้ เมื่องานเก่าทำไม่ได้ซะแล้ว บางทีเค้าก็ไม่ให้คนทำ มีบางคนที่ คนจะสมัครเข้าเรียนใหม่ คนที่จบการศึกษา ก็ทำไม่ได้ เพราะเค้าไม่เอา ศัพท์เรียกว่า “ดิสรัปชัน” (Disruption) ที่เห็นอยู่คือคนที่พอจะมีที่ดินพอปลูก ทำกับข้าว เครื่องดื่ม ขับขี่พาหนะส่งของ หรือประดิษฐ์ของได้ ก็ทำสายคล้องหน้ากากขายออนไลน์ ขายหน้ากากผ้า ขายอาหาร ขายเครื่องดื่ม ก็ไปได้”
“คนจำนวนมากใช้คอมพิวเตอร์ทำงานที่เรียกว่า เวิร์ก ฟรอม โฮม ไม่ใช่จะใช้เฉพาะระหว่างที่มีโควิด โควิดหมดแล้วก็น่าจะต้องทำ ต้องศึกษาการใช้คอมพิวเตอร์ และพวกที่ทำงานที่ผลิตซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ เขียนแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ คนที่มีความสามารถพวกนี้ น่าจะมีเพิ่มขึ้นและน่าจะประสบความสำเร็จ”
“เป็นชีวิตหลังโควิด ซึ่งจะมีอะไรมาใหม่ เมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีใครทราบ มีศัพท์ที่ได้ยินกันมาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด และตอนที่มีโควิดอยู่นี่ ได้ยินเกือบทุกวัน คือ รีสกิล (Reskill) คือ การฝึกทักษะอื่นแทนทักษะเดิม, อัพสกิล (Upskill) คือ พัฒนาทักษะเดิมให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และ นิว สกิลส์ (New skills) คือ สร้างหรือฝึกทักษะงานใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ที่จำเป็นต่อการทำงานในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วให้สอดคล้องกับความต้องการใหม่ๆ”
“ยุคโควิดช่วยเร่งความต้องการเชื่อมโยงข้อมูลที่มีอยู่ ทำให้เห็นความจำเป็นของการเรียนรู้อยู่เสมอ ก็จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ธุรกิจใหม่ๆ ที่คนยุคโควิดต้องเรียนรู้ ขยัน และไม่เลือกงาน ไม่รังเกียจงาน”
“คนยุคหลังโควิดจะต้องฝึกการช่างสังเกต การใช้ความคิด และเชื่อมโยงความรู้ต่างๆ การเก็บข้อมูล รวบรวม และวิเคราะห์การทำงานเป็นกลุ่ม หรือเครือข่าย”
“ข้าพเจ้ารู้จักกับบริษัทอเมริกันที่มีโรงงานในประเทศไทย เค้าชมเชยว่า คนไทยมีความสามารถสูง ทั้งวิศวกร ช่างเทคนิค และบุคลากรอื่น ถ้าไม่พยายามดูแลรักษาความสามารถนี้เอาไว้ บริษัทต่างๆ อาจจะย้ายฐานไปอยู่ที่อื่นแล้วเราก็จะเดือดร้อน”
“การต่อสู้เป็นการต่อสู้กับศัตรูที่เป็นเชื้อโรคที่เรามองไม่เห็น การสู้เชื้อโรคที่สำคัญที่สุด คือ การรักษาความสะอาด การดูแลสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในบ้าน ที่ทำงาน การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม เมื่อเราเจอกับเชื้อโควิด ซึ่งเป็นเชื้อไวรัส เชื้อโรคตัวเล็กมาก มองก็ไม่เห็น ทำให้เราเข้าใจถึงความอ่อนแอของมนุษย์ ความประมาทในการใช้ชีวิตของมนุษย์ ได้แก่ อาหารการกิน ความสะอาด การดูแลสุขภาพอนามัย โควิดน่าจะเป็นบทเรียนทำให้เราระมัดระวังในการใช้ชีวิตมากขึ้น”



อุดมศึกษายุคหลังโควิด
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งอีกว่า “หลังโควิดจะมีวิธีการใหม่ๆ ในการบริหารงานมากขึ้น เช่น เรื่องยานยนต์ หรือรถยนต์ที่ไม่ได้เป็นแบบที่เราใช้อยู่ อาจจะเป็นรถไฟฟ้า รถอัตโนมัติ ไม่มีคนบังคับ รถไฮโดรเจน เป็นต้น”
“คนทำงานด้านนี้ก็ต้องอัพสกิลให้รู้หลายๆ ศาสตร์ เช่น รถไฟฟ้า เราก็ต้องรู้ไฟฟ้า รู้คอมพิวเตอร์ การเชื่อมต่อรถยนต์ หรือแม้แต่การให้เข้าบ้าน ก็ต้องดูว่า เราอยู่บ้าน มีห้องว่างเท่าไหร่ ใช้คอมพิวเตอร์ และบอกได้ว่า จะมีคนเข้าได้เท่าไหร่ ระบบที่มีคาร์แชลิ่ง ก็เป็นเรื่องของสังคม ก็ต้องมีระบบที่บอกกันว่า แชร์กับใครได้ ในการสอนก็ต้องมีว่า จะช่วยยังไงให้มีคนว่าจ้างนักเรียนนักศึกษาที่เราสอน ของที่ผลิตขายจะขายออกไหม ตนเองจะใช้ไหม บริโภคได้ไหม ต่อไปจะมีรถแบรนด์ของประเทศไทยได้ไหม”
“ในเวลานี้คิดเอาเองว่า น่าจะมีวิธีจัดการสอนใหม่ นอกจากการสอนไปตามหลักสูตรเรื่อยไป เป็นหลักสูตรที่ให้นักศึกษามาเรียนเป็นโมเดล ทำงานบ้าง มาเรียนบ้าง เอาปัญหาที่นักศึกษาพบเห็นในสถานประกอบการมาแก้ปัญหาที่สถานศึกษา แบบนี้นักศึกษาก็จะชอบ สถานประกอบการก็จะชอบ เพราะเป็นการรีสกิล อัพสกิล แต่หน่วยงานที่ควบคุมการศึกษา มักจะรับไม่ค่อยได้ เค้าจะต้องให้เรียนเป็นวิชาที่มี 1 2 3 ถ้า 1 แล้วไป 4 เค้าก็จะยอมไม่ได้”
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ รับสั่งอีกว่า “ต่อไปก็อาจจะต้องพยายามยอมในเรื่องนี้ เพราะไม่มีทางแก้ ต้องสอนและให้มีความรู้กระโดดไปกระโดดมา ตามโลกต้องการ เพื่อให้นักศึกษามีประสบการณ์ที่กว้างขวาง”
“ประสบการณ์จากโควิดที่กล่าวมานี้สรุปว่า ทุกๆ ชีวิตได้รับบทเรียนหลากหลาย ที่ทำให้ต้องคิดใหม่ทำใหม่กันทั่วโลก และต้องหาวิธีปรับตัวเพื่อที่สามารถจะแก้ปัญหาได้รวดเร็วขึ้น และต้องพยายามคิดที่จะร่วมมือกันรวมกันให้ได้ ทั้งๆ ที่จะร่วมกันยาก อุดมศึกษาต้องระดมความคิดและหาทางปรับตัวเช่นกัน”
“ดังตัวอย่าง 1.จัดการเรียนการสอนที่มิใช่มุ่งสอนแต่ความรู้ แต่สอนให้เรียนรู้รอบด้าน ให้มีทักษะชีวิต ทักษะการทำงาน และทักษะการเป็นผู้นำและผู้ตาม ให้สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลง สื่อสารได้ดี ทำงานเป็นทีม วิเคราะห์ สร้างสรรค์ และเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นต้น 2.บ่มเพาะคนดี มีจิตอาสา เข้าใจ และเข้าถึงวัฒนธรรม พหุวัฒนธรรม และหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
“3.บริการวิชาการและวิชาชีพให้แก่ผู้ประสงค์เพิ่มพูนความรู้และทักษะเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งหลักสูตรระยะสั้น และระยะยาว ทั้งออนไลน์และระบบห้องเรียน และถ้าเชื่อมโยงกับระบบหลักสูตรปริญญาได้ยิ่งดี จะมีรีสกิล อัพสกิล นิวสกิลส์ 4.ร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้พื้นฐาน เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาศิลปวิทยาและเทคโนโลยี 5.เป็นที่พึ่งทางวิชาการและวิชาชีพแก่ชุมชน และประชาชนฐานรากอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง”
ภูมิใจที่ได้เกิดเป็นคนไทย
สุดท้าย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสว่า “เมื่อปีที่แล้ว ศาสตราจารย์ท่านหนึ่งชื่อ ศาสตราจารย์ Scott Galloway ได้เขียนหนังสือ เรื่อง POST CORONA From Crisis to Opportunity สรุปว่า การต่อสู้กับเชื้อโรคที่มองไม่เห็น เราสูญเสียพอๆ กับการทำสงครามใหญ่ เราวางแผนไม่ดีพอ ก็จะแพ้สงคราม เราต้องอดทน ใจกว้าง ตั้งใจจริง สร้างนวัตกรรม เสียสละให้แก่กันและกัน”
“คนรุ่นนี้จะต้องร่วมมือกันให้ได้ ไม่ต้องรอรัฐบาล และต้องช่วยกันสนับสนุนคนรุ่นหลัง โคโรน่าให้ร่วมกันต่อสู้ภัยที่อาจจะเกิดจากไวรัสอีก คนรุ่นหลังจะต้องรวมตัวกัน เข้าใจคนอื่นที่สูญเสียโอกาสต่างๆ และอาจจะชื่นชมเห็นคุณค่า และความภูมิใจที่เกิดเป็นคนอเมริกัน ท่านเป็นคนอเมริกัน ท่านเขียนแบบนี้
“ของเรา ก็อาจเปลี่ยนเป็น ภูมิใจที่ได้เกิดเป็นไทย”





ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊กมูลนิธิชัยพัฒนา