ในหลวง-พระราชินี เสด็จฯพระราชพิธีสมมงคล 14 ม.ค. วัดพระเชตุพน จัดพิธีสืบพระชะตาหลวง

ในหลวง-พระราชินี เสด็จฯพระราชพิธีสมมงคล 14 ม.ค. วัดพระเชตุพน จัดพิธีสืบพระชะตาหลวง รบ.จัดงานเฉลิมพระเกียรติตลอดเดือนม.ค.

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 10 มกราคม นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พันตำรวจเอกภาวัต วรรธสุภัทร ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าวการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุ เท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี พุทธศักราช 2568 ณ พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทั้งนี้ภายหลังเสร็จสิ้นงานแถลงข่าว นายชูศักดิ์ ได้ทำพิธีสักการะไม้ค้ำโพธิ์ที่มีการแกะสลักพระปรมาภิไธยย่อ ว.ป.ร.

VIDEO CONTENT AVERTISEMENT

สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กล่าวว่า ในนามวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรวิหาร และคณะสงฆ์หนเหนือ ขออนุโมทนาสาธุการต่อรัฐบาล และภาคีเครือข่าย ซึ่งมีกุศลสมานฉันท์สามัคคีร่วมกันจัดงาน กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคล พระชนมายุเท่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี พุทธศักราช 2568 ทั้งนี้ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นพระอารามสำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นับเป็นพระอารามประจำรัชกาลที่ 1

ADVERTISMENT

“วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ร่วมกับคณะสงฆ์หนเหนือ สำนักงานสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี กระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย จึงร่วมกันจัด “พิธีสืบพระชะตาหลวง” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและถวายพระพรชัยมงคล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ระหว่างวันที่ 13-20 มกราคม 2568 โดยมีกิจกรรมหลากหลาย อาทิ วันที่ 13 มกราคม จัดพิธีสืบพระชะตาหลวง ถวายพระพรชัยมงคล โดยเริ่มขบวนแห่ไม้ค้ำโพธิ์หลวง และเครื่องสักการะ จากสนามหลวงไปยังพระอุโบสถวัดพระเชตพน และประกอบพิธีสืบพระชะตาหลวง พร้อมจัดพิธีค้ำไม้โพธิ์หลวง ณ วัดพระเชตุพน

ADVERTISMENT

จากนั้นจัดขบวนแห่เครื่องราชสักการะ จากวัดพระเชตุพนไปยังลานพระปฐมบรมราชานุสรณ์ รัชกาลที่ 1 เพื่อถวายเป็นราชสักการะ พร้อมกันนี้ ระหว่างวันที่ 14- 20 มกราคม จะจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติการสาธิตภูมิปัญญาในการจัดเตรียม เครื่องประกอบพิธีกรรม การถ่ายภาพโดยฉายานิติกร การจัดกิจกรรมกาดมั่ว หรือตลาดพื้นบ้านล้านนา การแสดงและจำหน่ายสินค้าโคก หนอง นา การจำหน่ายสินค้าหมู่บ้านศีล 5 และสินค้าสัมมาชีพ หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล และการแสดงมินิไลท์แอนด์ซาวด์ “ตำนานพระมหาเจดีย์ สี่รัชกาล” การจัดพิธีจุดผางประทีป 26,469 ดวง ถวายองค์ราชันของแผ่นดิน และการแสดงศิลปวัฒนธรรม 4 ภาค เป็นต้น จึงขอเจริญพรเชิญชวนสาธุชนทั้งหลาย ร่วมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติและถวายพระราชกุศล ระหว่างวันที่ 13- 20 มกราคม 2568 ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร” สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กล่าว

สมเด็จพระมหาธีราจารย์

ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีมหามงคลสมัยพิเศษยิ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุ 26,469 วัน ในวันที่ 14 มกราคม 2568 ถือเป็นสมมงคล  เท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ซึ่งพระราชพิธีสมมงคลเป็นราชประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบกันมาช้านาน มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทยแสดงถึงวัฒนธรรมที่ดีงามของพระมหากษัตริย์ไทยในการที่ทรงสร้างแบบอย่างความกตัญญูกตเวทิตา แสดงความเคารพรําลึกถึงสมเด็จพระบรมราชบูรพการี เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีที่ปฏิบัติมาช้านาน รัฐบาลและทุกภาคส่วน จึงพร้อมใจกันแสดงถึงพลังแห่งความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และความสามัคคีของคนไทยทั้งประเทศ ดำเนินการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี พุทธศักราช 2568 ขึ้น

สักการะไม้ค้ำโพธิ์

“สำหรับตราสัญลักษณ์การจัดงานเฉลิมพระเกียรติครั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดย กรมศิลปากร ได้ดำเนินการออกแบบตราสัญลักษณ์จำนวน 5 แบบ ซึ่งรัฐบาลได้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย และทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเลือกแบบตราสัญลักษณ์ที่ 1” นายชูศักดิ์ กล่าว

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า  ในโอกาสมหามงคลนี้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนจัดงานทั้งงานพระราชพิธี งานพิธีการ โครงการ และกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดเดือนมกราคม เพื่อให้สมพระเกียรติทุกประการ ในส่วนแรก คือ งานพระราชพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี กำหนดเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ในการพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี พุทธศักราช 2568 ในวันที่ 14 มกราคม 2568 ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง

ส่วนที่สอง คือ งานพิธีการเฉลิมพระเกียรติฯ โดยรัฐบาล ในวันอังคารที่ 14 มกราคม 2568 ทั้งในและต่างประเทศ ประกอบด้วย 2 พิธี ได้แก่ 1 การจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์และทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล เวลา 07.30 น. ที่ท้องสนามหลวง โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธี สำหรับส่วนภูมิภาค จัดพิธีทั่วประเทศ ณ ศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่ที่เหมาะสม และในต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลพิจารณาการจัดพิธีตามที่เหมาะสม

ส่วนการจัดพิธีทางศาสนามหามงคล ถวายพระราชกุศล เวลา 09.00 น. ที่ท้องสนามหลวง โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธี สำหรับส่วนภูมิภาค จัดพิธีทั่วประเทศ ณ ศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่ที่เหมาะสม ส่วนต่อมาการจัด 7 กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ในนามรัฐบาล ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ 1.การจัดพิธีสืบพระชะตาหลวง ระหว่างวันที่ 13-20 มกราคม 2568 ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งเป็นประเพณีมงคลของชาวล้านนา 2.การจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ ในวันศุกร์ที่ 31 มกราคม 2568 เวลา 17.00 น. ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งเป็นการปลูกตันไม้มงคลหายาก ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และควรค่าแก่การอนุรักษ์

เจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1

3. การบูรณะปรับปรุงภูมิทัศน์และพลับพลาพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตั้งอยู่บริเวณยอดเขาสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี และการบูรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธรูป ปูชนียวัตถุ และปรับปรุงภูมิทัศน์ วัดวรเชษฐาราม และปราสาทนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 4.การจัดแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุด “รามอยุธเยศเศวตฉัตร” ในวันที่ 14 มกราคม 2568 เวลา 18.00 น. ณ ลานพระปฐมบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

5.การจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และเหรียญที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุ เท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 6.การจัดพิธีทางศาสนาและกิจกรรมถวายพระราชกุศล ณ ศาสนสถานอันเป็นพระบรมราชานุสรณ์หรือเกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระพุทธรยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยจัดที่
วัดในกรุงเทพมหานคร 15 วัด และวัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 1 วัด เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า และศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร

สำหรับการจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนาถวายพระราชกุศล ที่วัดทุกวัดในประเทศ สำหรับวัดไทยในต่างประเทศให้พิจารณาการจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม นอกจากนี้ มีการจัดทำหนังสือจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึกงานเฉลิมพระเกียรติฯ จำนวน 6 เล่ม ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม ตลอดเดือนมกราคม 2568 โดยการจัดตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และจัดตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมเครื่องราชสักการะ รวมทั้งประดับผ้าระบายสีเหลืองร่วมกับผ้าระบายสีขาวตามอาคารสถานที่
จัดทำคำถวายพระพรชัยมงคล พร้อมนำเสนอภาพพระราชกรณียกิจ และจัดการลงถวายพระพรชัยมงคล ณ สถานที่หรือทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน, จัดกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์และสาธารณกุศล

“สำหรับวันที่ 13 มกราคม ซึ่งจะมีพิธีและกิจกรรรมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพิธีสำคัญทางประวัติศาสตร์ และแสดงออกถึงวัฒนธธรมไทยอันทรงคุณค่า ในการสวมเสื้อเหลืองหรือชุดไทยร่วมขบวนแห่ไม้ค้ำโพธิ์ ส่วนหนึ่งของพิธีสืบพระชะตาหลวง ในเวลา 12.00 น เริ่มตั้งขบวนบริเวณสนามหลวง ในวันที่ 14 มกราคม ขอเชิญรับชมการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ เวลา 18.00 น. ณ ลานพระปฐมบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” นายชูศักดิ์กล่าว

ขณะที่ พันตำรวจเอกภาวัต วรรธสุภัทร ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ความสำคัญกับงานนี้เป็นอย่างมาก ได้มีการอำนวยความสะดวกกับทุกฝ่าย เพื่อความเรียบร้อยของงาน ไม่ว่าจะเรื่องการจัดดูแลบุคคลภายนอก สำหรับคนที่มาร่วมงาน แล้วก็ดูแลเรื่องของกลุ่มมิจฉาชีพต่างๆ ที่เข้ามาในพื้นที่ มีการหาข้อมูลเป็นอย่างดี ในเรื่องของการจราจรเรียนให้ทราบว่าในการเดินทาง มีทั้งหมด 3 เส้นทาง โดยเส้นทางแรก รถไฟฟ้าใต้ดิน สามารถลงได้ที่สถานีสนามไชย

2.รถสาธารณะ มีรถบัสสวนอยู่รอบวัดอยู่แล้ว สามารถจอดรับส่งประชาชนได้ ในส่วนของประชาชนทั่วไปที่จะมาร่วมงาน สามารถนำรถเข้ามาจอดได้ที่ สนามหลวงได้เตรียมที่จอดรถไว้ 400 คัน สวนนาคราภิรมย์ 200 คัน กองสลากกินแบ่งรัฐบาล 200 คัน ซึ่งจากสนามหลวงก็มีรถรับส่งให้โดยตลอดเวลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image