ในหลวง-พระราชินี เสด็จพิธีบายศรีทูลพระขวัญ 5 สกุล เจ้านายฝ่ายเหนือร่วมพิธี
พิธีบายศรีทูลพระขวัญ เป็นพิธีโบราณล้านนา ที่ทางเจ้านายฝ่ายเหนือ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมจัดถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อความเป็นสิริมงคล ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนิน เยือนจังหวัดเชียงใหม่
พิธีนี้ จึงเป็นเสมือนเครื่องหมาย แห่งการถวายพระเกียรติ ที่แสดงถึงความจงรักภักดี และความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งเจ้านายฝ่ายเหนือ และประชาชนชาวเชียงใหม่ ได้แสดงออกต่อพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2568 ถือเป็นพิธีบายศรีทูลพระขวัญ ครั้งแรก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ถนนพระปกเกล้า อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีบายศรี ทูลพระขวัญ เนื่องในโอกาสที่ทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการทหารดันทรูน เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2519 และเนื่องในโอกาสเปิดพระอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2525 ด้วย
สำหรับในรัชสมัย รัชกาลที่ 10 พิธีบายศรีทูลพระขวัญ ครั้งแรก มีขบวนสักการะล้านนาประกอบด้วย 5 คู่ ขบวนพานพุ่มดอกไม้ 5 สกุล จากเจ้านายฝ่ายเหนือ เพื่อนำทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี คือเจ้านายในสายสกุล ณ เชียงใหม่, ณ ลำพูน, ณ ลำปาง, ณ น่าน และ ณ เชียงตุง
โดยเจ้าศรีรัตน์ ณ ลำปาง เป็นผู้ทำหน้าที่ร่ายนำคำทูลพระขวัญเป็นทำนองของเจ้าฝ่ายเหนือ
เจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ ประมุขสายสกุล ณ เชียงใหม่ ผู้แทนของเจ้านายฝ่ายเหนือ ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายด้ายผูกข้อพระหัตถ์ขวา-ซ้าย แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกับถวายหนังสือเจ้าหลวงเชียงใหม่ เจ้าวรเทวี ณ ลำพูน ผู้แทนของเจ้านายฝ่ายเหนือ เข้าเฝ้าฯ ถวายด้ายผูกข้อพระหัตถ์ขวา-ซ้าย แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และทูลเกล้าถวายหนังสือเจ้าหลวงลำพูน
สำหรับเจ้านายฝ่ายเหนือ ที่เข้าเฝ้าฯ รับเสด็จ นอกจาก เจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ และเจ้าศรีรัตน์ ณ ลำปาง แล้ว ยังมีเจ้าวรเทวี ชลวนิช ณ ลำพูน (ธิดาเจ้าวรทัศน์), พลอากาศตรีเจ้าวัฒนัน ณ ลำพูน (ประมุขตระกูล ณ ลำพูน), เจ้าแสงตะวัน ณ เชียงใหม่ (ธิดาเจ้าธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่), เจ้าธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ (บุตรชายเจ้าไขยสุริยวงศ์) และ ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่
ในพิธีบายศรีทูลพระขวัญ มีขบวนฟ้อนของเจ้านายฝ่ายเหนือฝ่ายชาย ประกอบด้วยตัวแทนจากตระกูล ต่าง ๆ ดังนี้
- เจ้าพงษ์เดช ณ ลำพูน
- เจ้ารัฐพงษ์ อังกสิทธิ์
- เจ้าไชยชนะ ณ เชียงใหม่
- เจ้าก่อสกุล ณ ลำพูน
- เจ้านพดล ณ เชียงใหม่
- คุณปิยดิษฐ์ ณ ลำพูน
- คุณธนกฤต ลังกาพินธุ์ จันทราลักษณ์
- คุณไม้ ณ เชียงใหม่
ทั้งนี้ รายนามของเจ้านายฝ่ายเหนือ หรือ สกุล ณ เชียงใหม่, ณ ลำพูน, ณ ลำปาง สืบสายตรงจากราชวงศ์ฝ่ายเหนือที่ครองนครในล้านนามาตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา
ในปี 2325 หลังจากที่พระเจ้ากาวิละ ราชบุตรของเจ้าฟ้าชายแก้ว ซึ่งเป็นหลานของพระยาสุลวะฤาชัยสงคราม ได้ร่วมกับทัพของพระเจ้าตากสินมหาราชขับไล่พม่าออกจากแผ่นดินล้านนาแล้ว จึงได้รับการสถาปนาแต่งตั้งเป็น พระยาวชิรปราการ และให้ย้ายจากเมืองลำปางไปเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ตั้งเจ้าคำสม น้องชายคนที่ 2 ครองนครลำปาง พร้อมกับตั้งเจ้าธรรมลังกา น้องชายคนที่ 3 เป็นอุปราชเมืองเชียงใหม่ ตั้งเจ้าดวงทิพย์ น้องชายคนที่ 4 เป็นอุปราชเมืองลำปาง ตั้งเจ้าหมูหล้า น้องชายคนที่ 5 เป็นเจ้าราชวงศ์ลำปาง
และตั้งเจ้าคำฝั้น น้องชายคนที่ 6 เป็นเจ้าบุรีรัตน์เชียงใหม่ ต่อมาได้เป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 1 นับเป็นต้นสายสกุล ณ ลำพูน
เมืองลำพูน มีเจ้าหลวงปกครองมาทั้งสิ้น 10 พระองค์ จนถึงสมัยเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้าย ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล “ณ ลำพูน” ให้เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2456
ส่วนนามสกุล “ลังกาพินธุ์” สืบเชื้อสายมาจากเจ้าหลวงเหมพินธุไพจิตร เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 8
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานนามสกุลแก่เจ้านายฝ่ายเหนือที่กระทำคุณงามความดีแก่บ้านเมืองเพื่อให้มีเกียรติและเป็นศรีแก่สกุลวงศ์ ประกาศเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ประกอบด้วย
- ณ ลำพูน เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ (น้อยจักรคำ)
- ธนัญชยานนท์ เจ้าราชวงศ์ (บุญเป็ง)
- ตุงคนาคร เจ้าราชภาติกวงศ์ (น้อยดวงทิพย์)
จากนั้นมีประกาศเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2457 ประกอบด้วย
- ณ เชียงใหม่ เจ้าแก้วนวรัฐ (เจ้าแก้ว)
- ณ น่าน พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช (สุริย)
- ณ ลำปาง เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต (บุญทวงศ์)
- พรหมวงศ์นันท์ เจ้าไชยสงคราม (มธุรศ)
- มหาวงศ์นันท์ เจ้าวรญาติ (เทพรส)
- มหายศนันท์ เจ้าอุตรการโกศล (มหาชัย)
และประกาศเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2457 และประกาศเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2457
- จันทรปัญญา หลวงขจัดจัณทนิกร (ใหม่แก้ว)
- จิตตางกูร พระยาจิตสวงษ์วรยศรังศี (น้อยจิตวงศ์)