รอรัฐเคาะกรอบกม.ลงทุน CCS ปตท.คาดอีก 10 ปี เริ่มกักเก็บคาร์บอน
นายรัฐกร กัมปนาทแสนยากร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ความยั่งยืนองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ด้วยวิสัยทัศน์ของ ปตท.คือ “แข็งแรงร่วมกับสังคมไทย” และ “เติบโตในระดับโลก” อย่างยั่งยืน ดังนั้น กุญแจสำคัญคือ ความยั่งยืน ปตท.จึงต้องเดินหน้าทำธุรกิจคู่กับเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม
โดยการเดินหน้าที่เหมาะสมระหว่างเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเติบโตและดูแลธุรกิจเกี่ยวกับคาร์บอน ที่ต้องอยู่กับพลังงานฟอสซิลในปริมาณมาก และยังมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ดังนั้น เพื่อสร้างความสมดุลของนโยบาย ESG จะต้องลดและรักษาสิ่งแวดล้อมโดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งปัจจุบัน ปตท.กำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ไว้เร็วกว่าที่ประเทศได้ตั้งไว้
ทั้งนี้ ปตท.มีกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืน ประกอบด้วย
1. ธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศ Climate-Reilience Business โดยการปรับ portfolio ลดปริมาณการใช้ฟอสซิล ในเวลาที่เหมาะสมและบริหารจัดการด้านต้นทุน พร้อมเพิ่มปริมาณพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ผ่านกลุ่มบริษัทต่างๆ ของ ปตท.
2. ธุรกิจที่ใส่ใจเรื่องคาร์บอน Carbon Conscious Business ผ่านบริษัทในกลุ่ม ปตท. รวมถึงผนึกพันธมิตรธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีในการลดคาร์บอน เพิ่มประสิทธิภาพสินค้าให้เป็น Green Energy
3. การร่วมมือ การสร้างสรรค์ เพื่อทุกคน Coalition, Co-creation & collective Efforts for All ถือเป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่จะทำให้กลุ่ม ปตท. ไปสู่เป้าหมาย โดยเฉพาะโครงการพัฒนาโครงการ การดักจับ และการจัดเก็บคาร์บอน (CCS) และการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเป็นส่วนผสมในกลุ่มอุตสาหกรรมตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) สัดส่วน 5% รวมถึงการปลูกป่า เป็นต้น ซึ่งทั้ง 2 โครงการยอมรับว่าท้าทายมาก
สำหรับโครงการ CCS จะดำเนินการทั้งซัพพลายเชนตั้งแต่การค้นหาเทคโนโลยีที่จะกักเก็บคาร์บอน ซึ่งกลุ่ม ปตท.มีการปล่อยคาร์บอนประมาณ 50 ล้านตันต่อปี จึงต้องหาเทคโนโลยีในการเก็บคาร์บอน เบื้องต้นมองว่าจะสามารถกักเก็บประมาณ 10 ล้านตันต่อปี ส่วนจะเชิงพาณิชย์แบบเต็มสเกลจะต้องใช้เวลามาก โดยคาดว่าอาจจะเกิดขึ้นหลังปี 2035
นอกจากแผนที่จะกักเก็บสำหรับกลุ่ม ปตท.เองแล้ว ยังมีแผนบริหารจัดการคาร์บอนให้กับพาร์ตเนอร์ด้วย เพราะอนาคตจะสามารถส่ง Product ไปขายที่ยุโรปหรืออเมริกาจะช่วยทั้งกลุ่มและนอกกลุ่ม โดย ปตท.จะสร้างเครือข่ายสู่ Terminal ในการเก็บก่อนจะส่งออกต่อทางท่อโดยเรือไปที่อ่าวไทย ซึ่งจะต้องศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ส่วนโครงการไฮโดรเจนเพื่อภาคอุตสาหกรรมอาจจะยังไกลนิดนึง โดยวันนี้กลุ่ม ปตท.จะยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) ในปริมาณหลัก แต่วันที่ไฮโดรเจนมีราคาต่ำลงและเทียบเท่ากับ Natural Gas วันนั้นจะมีการใช้ไฮโดรเจนมากขึ้น เพราะไฮโดรเจนเผาไหม้โดยไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเลย โดยต้นทุนเบื้องต้นต่อหน่วยของไฮโดรเจนเมื่อเทียบกับการใช้ Natural Gas อยู่ที่ 4-5 เท่า
ในระยะสั้นเรายังผลิตไม่ได้เพราะราคาแพง สิ่งที่ทำคือ การเอาไฮโดรเจนเข้ามาผสมกับ Natural Gas 5% ตามแผน PDP ซึ่งมองว่าการส่งมาจากอินเดียจะคุ้มกว่าโดยอาจจะส่งมาในรูปของแอมโมเนีย ซึ่ง ปตท.มี Connection กับ supplier ส่งผ่านมาให้ PTT trading เพราะเรามีคลังเก็บสร้าง Infrastructure ในการขนส่งไฮโดรเจนส่งให้กับประเทศสู่การเป็น International Gas
นอกจากนี้ อาจจะใช้วิธีการนำเข้ามาในรูปแบบแอมโมเนียและนำเข้าไปบริหารจัดการที่โรงไฟฟ้าถ่านหินทันทีโดยไม่ต้องเปลี่ยนเป็นไฮโดรเจนก็ได้ ดังนั้น จะมี 2 แบบ คือ direct แอมโมเนียไปที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือนำเข้าแอมโมเนียมาเปลี่ยนเป็นไฮโดรเจนและส่งไปให้โรงไฟฟ้าถือเป็นรูปแบบที่ ปตท.ศึกษาอยู่
ปตท.จะทำ 2 เรื่องนี้ ในประเทศไทยเพื่อให้กลุ่ม ปตท. และประเทศไทยไปสู่ Net Zero โดยบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำตลอด Value Chain ดังนั้น เพื่อเป้าหมายจะต้องให้ความสำคัญ บริหารต้นทุนให้ต่ำที่สุดโดยเฉพาะการเลือกเทคโนโลยี และการร่วมกันคิด และสุดท้ายแม้จะทำให้ดีที่สุดแค่ไหน หรือต้นทุนต่ำสุดแค่ไหนจะต้องมีการ Support จากรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นนโยบายต่างๆ ที่จะทำให้เราสามารถดำเนินการและศึกษาความเป็นไปได้
สำหรับปัญหาของการทำ CCS ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายในการสนับสนุนการวิจัยและศึกษาเพื่อสำรวจพื้นที่ใต้ทะเลจากรัฐบาล ดังนั้น จะต้องออกกฎระเบียบให้ชัดเจนรวมถึงงบประมาณ เพื่อให้เอกชนได้เดินหน้าศึกษาและลงทุน และหลังจากนั้นเมื่อดูโมเดลเสร็จ จึงสามารถเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้ได้มีการหารือทั้งกระทรวงพลังงาน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่บ้างแล้ว
ปตท.ดำเนินการด้านความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจในกลุ่ม ปตท. อาทิ โครงการพลังงานหมุนเวียน, น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF), CCS, ไฮโดรเจน รวมถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) เป็นต้น