‘พาทิศ’เผย ‘เอเอฟเอฟ’ แจงให้เปลี่ยนระบบ ‘ซีเกมส์’ แต่ถูกเมิน ชี้ควรได้พัก 2 วันก่อนเตะ

การแข่งขันฟุตบอลชายกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ได้คู่ชิงชนะเลิศเป็นที่เรียบร้อย โดยจะเป็นการพบกันระหว่าง เวียดนาม กับ อินโดนีเซีย ในวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งทั้งสองทีมมาจากกลุ่มเดียวกับทีมชาติไทย ที่ตกรอบแรกเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปีนั้น

ก่อนทัวร์นาเมนต์จะเริ่มต้น อากิระ นิชิโนะ หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย ชาวญี่ปุ่น วิจารณ์ระบบการแข่งขันที่หนักเกินไป เตะวันเว้นวัน ที่มีโอกาสสร้างอาการบาดเจ็บให้นักกีฬาได้มาก แถมยังส่งชื่อได้เพียง 20 คนเท่านั้น ทำให้หมุนเวียนผู้เล่นไม่เพียงพอ พร้อมกับแนะนำว่าควรเป็นเวทีของนักเตะดาวรุ่ง หรือระดับสมัครเล่นมากกว่า

ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวว่า สมาชิกสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน(เอเอฟเอฟ) ได้ยื่นข้อเสนอผ่านคณะกรรมการโอลิมปิคแต่ละชาติ ส่งไปยังมนตรีซีเกมส์ และฝ่ายจัดการแข่งขัน พิจารณาเพิ่มจำนวนผู้เล่นให้มากขึ้น แต่สุดท้ายไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ นั้น

โดยทางด้าน “โจ” นายพาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการและรองโฆษกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเรื่องการจัดแข่งขัน เป็นหน้าที่ของมนตรีซีเกมส์ และฝ่ายจัดการแข่งขันของเจ้าภาพ ขณะเดียวสมาชิกเอเอฟเอฟ ได้เสนอผ่านคณะกรรมการโอลิมปิคแต่ละชาติ พิจารณาปรับเรื่องต่างๆ ทั้งระยะเวลาลงทะเบียน ที่เร็วเกินไป ให้คัด 40 คน ตั้งแต่เดือนกันยายน และตัดเหลือ 20 คน ต้นเดือนพฤศจิกายนก่อนแข่งขันเกือบ 1 เดือน แต่ไม่ได้รับการพิจารณา

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามถึงโอกาสในการเสนอให้ปรับรูปแบบแข่งขันให้กระชับขึ้น จำนวนแมตช์น้อยลง เพราะอย่างเช่นซีเกมส์หนนี้ ทีมที่เข้ารอบรอง, รอบชิงฯ ต้องเตะถึง 7 นัด ในเวลาแค่ 15 วัน เรื่องนี้ นายพาทิศ กล่าวว่า การจัดซีเกมส์เป็นการทำงานร่วมของคณะกรรมการโอลิมปิคแต่ละชาติ กับมนตรีซีเกมส์ ไม่ใช่เรื่องโดยตรงของเอเอฟเอฟ แต่หากอนาคตมีการหารือกันก็ย่อมเป็นเรื่องดี เพราะปัจจุบันการแข่งขันระดับนานาชาติที่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ(ฟีฟ่า) รับรอง ทีมจะต้องได้หยุดพักอย่างน้อย 2 วันเต็ม ยกตัวอย่างคิงส์คัพ 3 ปีที่ผ่านมาเล่นวันพฤหัส,อาทิตย์ หรือ พุธ, เสาร์ เพราะมิเช่นนั้นฟีฟ่าจะไม่รับรองทัวนาเมนต์

“ส่วนรูปแบบจัดแข่งขันนั้น ไม่มีการกำหนดตายตัวว่าอย่างไหนดีกว่ากัน แต่ถ้าเอาโจทย์เรื่องจำนวนนัด, จำนวนวันพัก, เวลาแข่งขันที่สมดุลมาตั้งไว้ก่อน ก็จะหารูปแบบที่เหมาะสมในแต่ละครั้งของการจัดซีเกมส์ได้”

นายพาทิศ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีเรื่องระบบจัดอันดับ หากคะแนนเท่ากัน ในซีเกมส์ใช้วัดผลต่างประตูได้เสียก่อน แต่ปกติ สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย(เอเอฟซี) ใช้ระบบเฮดทูเฮด เพราะในเอเชียมีช่องว่างของทีมมาก มีโอกาสยิงกันเยอะ กฎเหล่านี้มีผลต่างกัน ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับทัวร์นาเมนท์

Advertisement

ด้าน เจริญศักดิ์ วงษ์กรณ์ นักเตะช้างศึก ที่ลงสนามอย่างต่อเนื่องในซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ยกเว้นนัดสุดท้ายรอบแรกกับ เวียดนาม ที่มีอาการบาดเจ็บ กล่าวว่า การเตะแบบวันเว้นวันกระทบสภาพร่างกายแน่นอน ยังไงก็ฟื้นฟูไม่ทันเต็มที่ ไม่ว่าก่อนและหลังแข่ง ซึ่งตั้งแต่ตนก้าวเข้ามาสู่การเล่นระดับไทยลีก ก็ไม่เคยเจอการต้องแข่งแบบวันเว้นวัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image