เก็บตก ‘ดราม่า’ ฮานอยเกมส์

เก็บตก ‘ดราม่า’ ฮานอยเกมส์

เทียบกับการแข่งขันซีเกมส์หลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ถือว่า ซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งใกล้จะขมวดปมปิดฉากในเร็วๆ นี้ มีประเด็นน่ากังขา หรือปฏิกิริยาเชิงลบจากชาติต่างๆ ทั้งนักกีฬา สต๊าฟโค้ช และแฟนกีฬา ระหว่างการแข่งขันน้อยมาก

แต่ก็ใช่ว่า “ฮานอยเกมส์” ครั้งนี้จะปลอดประเด็นร้อนให้คนถกเถียงกันเสียทีเดียว เพราะตั้งแต่วันแรกจนใกล้รูดม่านปิดฉากก็มีประเด็นลบผ่านสื่อให้ได้เห็นกันเป็นระยะๆ

น่าสนใจที่ปันจักสีลัตเป็นหนึ่งในชนิดกีฬาที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันในโลกออนไลน์ตั้งแต่วันแรกๆ ที่ซีเกมส์เปิดฉาก

เนื่องด้วย “บึก” สุชาล ฉวีวรรณ กราฟิกดีไซเนอร์วัย 37 ปี ได้โพสต์เฟซบุ๊กตัดพ้อเรื่องที่ทีมปันจักสีลัตไทยนำตัวอักษรหรือฟอนต์คำว่า “Thailand” ที่เขาออกแบบให้อ่านได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย “ไทยแลนด์” ไปปักบนหลังเสื้อแข่งของนักกีฬา โดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

Advertisement

ในเวลาต่อมาสมาคมกีฬาปันจักสีลัตแห่งประเทศไทยได้ออกมาขอโทษและชี้แจงในกรณีดังกล่าวว่า ไม่ได้มีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์ และไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน เนื่องจากร้านประจำที่ตัดชุดแข่งให้นำฟอนต์ดังกล่าวมาใส่ให้ด้วยเจตนาดีเพราะเห็นว่าเป็นฟอนต์ที่สวยงาม ซึ่งทางร้านก็ออกมาขอโทษด้วยเช่นกัน

เมื่อประสานขอโทษกับทางดีไซเนอร์และได้รับอนุญาตให้นำมาใช้ในการแข่งขันแล้ว เรื่องจึงจบลงด้วยดี แม้ว่าก่อนหน้านั้นจะกลายเป็นประเด็นร้อนทางโซเชียลซึ่งชาวเน็ตจำนวนมากวิจารณ์เรื่องการขาดความตระหนักรู้เกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์ของสังคมไทยโดยรวมก็ตาม

Advertisement

เรื่องวุ่นๆ เกี่ยวกับทีมปันจักสีลัตไทยยังไม่หมดแค่นั้น โดยในการแข่งขันประเภทต่อสู้ คลาสเจ (90-95 กก.) ได้เกิดกรณีฉาวขึ้น เมื่อ ศรานนท์ กลมพันธ์ นักมวยไทยในชื่อ ธงชัย ศิษย์สองพี่น้อง วอล์กเอาต์ขณะแข่งขันรอบชิงชนะเลิศกับ เชค ฟาฮัน บิน เชค อารูดิน นักกีฬาสิงคโปร์ เพราะในการแข่งขัน ไม่ว่าศรานนท์จะออกอาวุธขนาดไหน นอกจากจะไม่ได้คะแนนแล้ว ยังโดนหักคะแนนด้วยข้อหาผิดกติกจนติดลบ หรือโดนจับฟาวล์อีกด้วย

ต่อมา รองเลขาธิการสมาคมกีฬาปันจักสีลัตไทยเปิดเผยว่า นักกีฬาสิงคโปร์คนดังกล่าวเป็นลูกของประธานผู้ตัดสินที่ทำหน้าที่ในทัวร์นาเมนต์นี้ การตัดสินของกรรมการไม่เป็นไปตามกฎระเบียบ โค้ชไทยประท้วงก็ไม่เป็นผล จึงจะทำหนังสือร้องเรียนไปยังสหพันธ์ปันจักสีลัตนานาชาติต่อไป

โจเซฟ สคูลลิ่ง (AFP)

ด้านการแข่งขันว่ายน้ำ ซึ่งตัดสินกันด้วยสถิติ โอกาสจะเกิดการเอาเปรียบกันนั้นเป็นไปได้ยาก แต่ก็มีประเด็นให้ “เอ๊ะ” เกิดขึ้นในการแข่งขันผลัดฟรีสไตล์ 4×100 เมตร ชาย ซึ่งในการแข่งขัน ทีมสิงคโปร์ที่มี โจเซฟ สคูลลิ่ง ฉลามหนุ่มดีกรีเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ แตะขอบสระเป็นอันดับ 1 คว้าแชมป์ไปครอง ตามด้วยมาเลเซีย และเวียดนาม

แต่หลังจากนั้น ทั้งสิงคโปร์และมาเลเซียต่างโดนจับฟาวล์เนื่องจากช่วงเปลี่ยนผลัดนั้น นักกีฬาผลัดใหม่กระโดดลงสระไปก่อนที่เพื่อนจะแตะขอบสระ จึงเป็นการโดดฟาวล์และถูกปรับแพ้ ซึ่งกรณีของทีมมาเลเซียนั้น เป็นเวลาเสี้ยววินาที 0.12 วินาทีเท่านั้น

การที่อันดับ 1-2 โดนปรับแพ้ และเหรียญทองตกเป็นของนักกีฬาเจ้าภาพ ย่อมเป็นประเด็นที่ทำให้โค้ชของทั้งสิงคโปร์และมาเลเซียกังขา แต่เนื่องจากเป็นประเด็นทางเทคนิค มีการอ้างข้อมูลของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จึงยากที่จะประท้วงได้ เช่นเดียวกับเฮดโค้ชว่ายน้ำเวียดนามที่บอกว่า การจับฟาวล์ไม่ได้มาจากฝีมือมนุษย์ จึงถือว่าทุกอย่างแฟร์แล้ว

เครดิตภาพ stadiumastro.com

ส่วนการแข่งขันกรีฑาก็มีประเด็นที่ อาซีม ฟาห์มี ลมกรดหนุ่มทีมชาติมาเลเซียวัย 18 ปี โดนจับฟาวล์ต้องออกจากการแข่งขันรอบคัดเลือกวิ่ง 100 เมตร ชาย

ฟาห์มีเป็นสมาชิกทีมผลัด 4×100 เมตร ชาย เหรียญเงินจากซีเกมส์หนนี้ เขาจึงเป็นตัวความหวังที่จะติดเหรียญในการแข่งวิ่ง 100 เมตร เช่นกัน

สื่อมาเลย์ตั้งคำถามเรื่องความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการจับฟาวล์ เพราะจากคลิปวิดีโอนั้น ไม่ชัดเจนว่าเขาขยับตัวก่อนสัญญาณปล่อยตัวหรือไม่ ทำให้สต๊าฟโค้ชยื่นเรื่องประท้วง แต่ก็ไม่เป็นผล

อย่างไรก็ตาม เวลาต่อมาเฮดโค้ชทีมกรีฑามาเลเซียยอมรับคำตัดสินดังกล่าว และบอกว่ามีข้อมูลจากอุปกรณ์จับเวลาว่า ฟาห์มีขยับตัวก่อนสัญญาณปล่อยตัวจริง แต่เพียง 0.058 วินาทีเท่านั้น

เป็นเวลาเสี้ยววินาทีอย่างแท้จริง!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image