ตลาดหลักทรัพย์ฯ ลุยโครงการ “SET Social Impact Gym” ปี4 ติวเข้ม “13 SE” ร่วมแก้ปัญหาสังคม-สร้างทางออกให้ประเทศ

สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาจากในอดีตเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม แต่มีสิ่งหนึ่งที่เป็น “Normal” เหมือนเดิม นั่นคือ “ความเหลื่อมล้ำ” ที่ไม่ว่าจะเจอวิกฤตการณ์ใดๆ หรือไม่ก็ตาม ยังคงอยู่ในสังคมไทย ซึ่งหลายภาคส่วนก็มีความพยายามแก้ไขในเรื่องนี้กันมาอย่างต่อเนื่อง 

เหมือนเช่น “SET Social Impact Gym” ในช่วงเวลา 3 ปี ที่ผ่านมา เป็นโครงการหนึ่งที่อาสาบ่มเพาะ “ธุรกิจเพื่อสังคม” หรือ SE (Social Enterprise) เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสังคมและพัฒนาประเทศระยะยาว โดยดึงทั้งภาคเอกชนและประชาชนมาร่วมกันขับเคลื่อน และดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสินค้า หรือบริการที่ช่วยแก้ปัญหา หรือพัฒนา สังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม เป็นหลัก ไม่มุ่งเน้นแสวงหากำไรสูงสุดแต่ดำเนินการตามหลักธุรกิจเพื่อให้กิจการเติบโต เพื่อให้ท้ายที่สุดมีผลตอบแทนคือ ประเทศชาติเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและสามารถลดช่องว่างระหว่างกลุ่มคนในสังคมได้

โดยในปีนี้ SET Social Impact Gym 2020 ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมภายใต้แนวคิด “Idea to I Done” ที่เน้นการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจ เพื่อการแก้ไขปัญหาสังคม ซึ่งนอกเหนือจากการคาดหวังให้ SE เติบโตอย่างแข็งแกร่งและขยายผลลัพธ์ทางสังคม (Social Impact) ไปในวงกว้างแล้ว ทางโครงการยังมีแนวทางให้ SE ที่ร่วมงานกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีส่วนในการเยียวยาวิกฤตทางสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ด้วย 

วิธีแก้ปัญหาสังคมมีหลายวิธี “SE” เป็นหนึ่งในวิธีนั้น

Advertisement

ประโยคนี้ถูกกล่าวขึ้นในงานเปิดโครงการ SET Social Impact Gym 2020 ซึ่งเป็นสัญญาณที่ตอกย้ำว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมเดินหน้าบ่มเพาะ SE เพื่อร่วมเยียวยาปัญหาสังคม-สร้างทางออกยามวิกฤต สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 4 ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ร่วมกับสมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (maiA)  โดยปีนี้ได้ผู้บริหารระดับสูงจาก maiA และตลาดหลักทรัพย์ฯ มากถึง 34 คน ร่วมเป็นโค้ชอาสา จัดเวิร์กชอปเข้ม ติวแบบตัวต่อตัวให้ “13 SE” ตลอด 8 สัปดาห์ ซึ่งคาดว่าจะช่วยต่อยอดธุรกิจและขยายผลลัพธ์ (Impact Outcome) ครอบคลุมเป้าหมายทางสังคมทั้งด้านการศึกษา เกษตรกรรม พัฒนาชุมชน ผู้เปราะบาง สิ่งแวดล้อม ตลอดจนด้านสุขภาพ

คุณภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการทำงานด้านความยั่งยืน และส่งเสริมนโยบายด้าน ESG อย่างเป็นรูปธรรม มีการปรับเรื่อยมา โดยเรื่องหนึ่งที่ให้ความสำคัญมาตลอดคือเรื่องการขยายการทำงานไปสู่ภาคสังคม ภายใต้แนวคิดการพัฒนาสังคมที่เน้นการทำงานร่วมกัน ทำอย่างไรให้ตลาดทุนและองค์กรภาคสังคม สามารถทำงานร่วมกันและพัฒนาโอกาสทางธุรกิจไปด้วย จึงดำเนินการจัดตั้ง SET Social Impact Platform โดยมีเป้าหมายร่วมกันสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้กับสังคมไทย สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ในข้อที่ 17 

Advertisement

“จะทำอย่างไรให้เราสามารถแบ่งปันทรัพยากรด้านองค์ความรู้ ประสบการณ์ทางธุรกิจ ระหว่างภาคธุรกิจและผู้ประกอบการทางสังคม เพื่อที่จะสร้างศักยภาพทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการทางสังคม พัฒนาสังคมต่อไปในอนาคต ตั้งแต่ปี 2017 จนถึงปัจจุบัน Social Impact Platform ได้ดำเนินการพัฒนา SE แล้วกว่า 2,000 ราย ผ่านโครงการเรียนรู้ที่ครบกระบวน (Learning Journey) ครอบคลุมตั้งแต่ระดับขั้นความคิด คือหลักสูตร SE101@University หลักสูตร SE101 Online Offering โครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Early-Stage) ในหลักสูตร SE102 และระดับขั้นสูง SET Social Impact Gym”

ขณะที่ด้าน คุณนพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ออกแบบการทำงานที่เน้นการสร้าง “Inclusive Growth” ที่ทุกภาคส่วนมีโอกาสเติบโตและเดินไปด้วยกัน สมดุลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และได้กำหนดบทบาทการพัฒนาสังคม โดยใช้ SET Social Impact Platform เชื่อมพลังความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและสังคมเข้าด้วยกัน ซึ่ง SET Social Impact Gym “Idea to I Done” เป็นอีกโครงการที่ตอบโจทย์ในเชิงการพัฒนาสังคมที่มีพันธมิตรคุณภาพ ส่งเสริมนักธุรกิจเพื่อสังคมให้สามารถทำธุรกิจได้อย่างมีหลักการ มีระบบการบริหารจัดการ และมีคุณลักษณะของการเป็นผู้นำ ทั้งนี้ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ได้ผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการเพื่อสังคมรุ่นใหม่ ที่สามารถพัฒนาธุรกิจ สร้างยอดขาย ขยายตลาด ขยายธุรกิจ รวมถึงมีส่วนทำให้เกิดความร่วมมือในหลากหลายรูปแบบบนแพลตฟอร์มแล้วกว่า 250 กิจกรรม

“เราไม่ได้ให้มาอบรมเพื่อเรียนรู้ แต่เราให้เรียนทำ ฉะนั้นรูปแบบที่จะเสริมเข้าไป เป็นการเสริมทักษะในการทำ ไม่ว่าจะเป็นทักษะในการแก้ปัญหา การสร้างสรรค์ การทำความความร่วมมือ การสื่อสาร ทักษะเหล่านี้เป็นอีกตัวสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้คำว่า SE เป็นส่วนหนึ่ง หรือเป็นกระแสหลักของการเปลี่ยนสู่ความท้าทายในอนาคต วันนี้เราพยายามทำให้ตลาดทุนสร้าง Impact ได้ไกลกว่านั้น เราไม่เน้นเป้าจำนวน แต่เน้นเป้าความเปลี่ยนแปลง 13 ทีมต้องเปลี่ยนแปลง ซึ่งปีนี้ก็ได้เน้นทำออนไลน์มากขึ้น และคาดว่าจะได้เห็น Platform หรือเรื่องราวใหม่ๆ ในไม่ช้านี้”

SE เข้มแข็ง ขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ภายในงานเปิดโครงการ SET Social Impact Gym 2020 ยังเปิดเวทีเสวนาภายใต้หัว “SE เข็มแข็ง ขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ คุณสมพล ธนาดำรงศักดิ์ บิ๊กบอส FPI คุณทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม TVD คุณธีรนาท งามจิตรเจริญ กรรมการบริหาร ZIGA คุณวัชรากรณ์ ขันธจีระวัฒน์ CEO & Co-Founder บริษัท ดี มี สุข (ไม่) จำกัด คุณโชคชัย หลีวิจิตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท มานา วิสาหกิจเพื่อสังคม และ คุณนพเก้า สุจริตกุล ร่วมแชร์ประสบการณ์ พร้อมตอกย้ำหมุดหมายที่จะทำให้การพัฒนาสังคมไม่เป็นไปอย่างฉาบฉวย แต่ขับเคลื่อนได้อย่างยั่งยืนด้วยองค์กรประเภทธุรกิจเพื่อสังคมที่เข้มแข็ง 

โดย คุณสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กล่าวว่า SE ที่มาร่วมโครงการ ทุกทีมมี “S (Social)” ที่แข็งแกร่งมาก ในขณะที่โค้ชก็มี “E (Enterprise)” เมื่อเอาเรื่อง S+E มารวมกับเศรษฐกิจที่มี จะเกิดสิ่งที่ดีต่อสังคมและทำให้โลกของเราน่าอยู่ เช่นเดียวกับที่ คุณทรงพล ชัญมาตรกิจ กล่าวว่า โค้ชเรามีหน้าที่เติมตัว E และถ้า E ของทั้ง 13 ทีม ดีขึ้นในระดับที่สามารถทำกิจการได้ จะยั่งยืนและยั่งยืนในมุมของสังคม วันนี้มีโอกาสเราต้องสนับสนุน เพิ่มเติม แต่งเติม ทำให้ SE เหล่านี้สามารถยืนอยู่ได้ หากมี SE สักหมื่นกิจการ เชื่อว่าสังคมไทยจะน่าอยู่มากขึ้น และหลายปัญหาคงแก้ได้ง่ายขึ้น

ขณะที่ทาง คุณนพเก้า สุจริตกุล กล่าวถึงเรื่อง S+E ว่า ด้วยปัญหาของสังคมมีมาก SE ที่คัดมาจึงขึ้นอยู่กับความพร้อมของทีม และ Impact ที่สร้าง สร้างได้จริงหรือไม่ มีโมเดลนวัตกรรมที่น่าจะขับเคลื่อนเป้าหมายตามที่ออกแบบมาได้จริงหรือไม่ เราก็เติม E ให้ 

“อย่างปีนี้มีเรื่องเรือนพักญาติผู้ป่วย เป็นช่องว่างที่สังคมขาด คนเหล่านี้ถึงได้เข้าไปออกแบบและแก้ไขปัญหาก่อนที่มาหาเรา ในมุมเขาเรื่องนี้คือเรื่องสำคัญ ในมุมเราก็มองว่ามันขับเคลื่อนได้และมีประโยชน์ ซึ่งเราก็มองว่าถ้ามีเรือนพักญาติผู้ป่วยทุกที่ จะช่วยสังคมได้เยอะ แล้วเราจะทำอย่างไรให้เขาเติบโตไปได้กว่านี้ อันนี้คือความท้าทายของผู้ประกอบการอย่างเรา เราไม่ได้ทำโดยใช้งบประมาณ แต่เราทำโดยการสร้างกระบวนการ ทำระบบนิเวศน์ของการ “แชร์ริง อีโคโนมี” ซึ่งกันและกัน ดังนั้น กลุ่ม SE ที่เข้ามา ขึ้นอยู่กับนวัตกรรม หรือการแก้ไขปัญหาสังคม ที่อยากทำให้ดี ทำให้ได้”

เช่นเดียวกัน คุณธีรนาท งามจิตรเจริญ ก็ได้ย้ำว่า การสร้างสินค้าและประสบการณ์ที่ดี คือสิ่งสำคัญ และต้องนำเครื่องมือดิจิทัลเข้ามาช่วย ถึงจะช่วยทำให้มีต้นทุนที่ต่ำและสามารถใช้ทรัพยากรที่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งยังจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจและสามารถเผชิญกับภาวะวิกฤติที่มีความถี่และมีความรุนแรงมากขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การจะทำเรื่องดีๆ ให้สังคม ทำธุรกิจเพื่อสังคม ต้องทำจริงจังและทำต่อเนื่อง สำคัญที่สุดคือทุกฝ่ายต้องช่วยกัน

พื้นที่แบ่งปันและปรับใช้

วัชรากรณ์ ขันธจีระวัฒน์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ SET Social Impact Gym 2018 เล่าให้ฟังว่า ธุรกิจของตนเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่เข้าไปพัฒนาชุมชน สร้างงานชุมชนออกสู่ตลาด ให้ชุมชนมีอาชีพและมีรายได้ ซึ่งที่ผ่านมา ตนได้พยายามบอกชุมชนว่าสิ่งที่ทำ เป็นการทำเพื่อชุมชน พยายามหาแหล่งเรียนรู้ต่างๆ จนได้มาเจอโครงการนี้ และโครงการนี้ก็ได้เข้ามาเติมเขี้ยวเล็บให้กับธุรกิจ ให้ภาพธุรกิจเพื่อสังคมของตนชัดยิ่งขึ้น ปัจจุบันเป็นเรื่องที่เปิดกว้างและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น

โชคชัย หลีวิจิตร อีกหนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ SET Social Impact Gym 2019 เล่าว่า ได้ทำธุรกิจด้านการรีไซเคิล เพราะเรียนสังคมสงเคราะห์แล้วรู้สึกอยากจะช่วยเหลือสังคมและทำให้ตนเองอยู่ได้ด้วย จึงมองไปที่ “ขยะ” ซึ่งปัญหาสังคม และมองไปที่ “คนในชุมชน” ซึ่งพบว่าเป็นคนด้อยโอกาสจำนวนมาก จากนั้นจึงทำให้เกิดธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน นั่นคือธุรกิจด้านการรีไซเคิล ไม่ว่าจะเป็นผู้พ้นโทษ ผู้พิการ คนตกงาน เราก็จ้างมาคัดแยกขยะ “คนนู้นมารับ คนนี้มารับทำงาน” เกือบจะอยู่ไม่ได้เพราะว่าต้นทุนสูง พอได้เข้าร่วมโครงการ นอกเหนือจากความรู้ในการบริหารจัดการ สิ่งที่ประทับใจอย่างแรก เราได้รู้จักตัวตนของตัวเองและสามารถสื่อสารให้คนเข้าใจได้ว่าเราทำอะไรอยู่ มีเป้าหมายอย่างไร อย่างที่สองมีโค้ชตัวต่อตัว ที่คอยกำกับว่าเส้นทางไหนที่คนจะเดินไป แนวทางธุรกิจไหนที่ควรจะทำ อะไรต้องตัดออก เพราะบางอย่างก็เป็นภาระ เป็นไขมันทางธุรกิจ เราก็ตัดตรงนี้ออกได้

ถือได้ว่าเป็นโครงการที่ช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจเพื่อสังคมอย่างแท้จริง ช่วยบริหารจัดการ Supply Chain ระบบการทำงาน การเชื่อมต่อแผนกต่างๆ ตั้งแต่เริ่มวัตถุดิบ จนสิ้นสุดกระบวนการถึงมือลูกค้า ขณะเดียวกันยังเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงความร่วมมือของภาคธุรกิจและภาคสังคม ขยายการสร้างผลลัพธ์ที่ดีทางสังคม โดยเฉพาะมิติของความเหลื่อมล้ำ แก้ความเหลื่อมล้ำในมิติเชิงพื้นที่ มิติอาชีพ สามารถสร้างการเติบโตในภูมิภาคและแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นควบคู่กันไป

ทั้งนี้ โครงการ SET Social Impact Gym 2020 จะเริ่มจัดเวิร์กชอปเข้มข้นแบบตัวต่อตัวเพื่อพัฒนาศักยภาพ SE ใน 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1) Business Warm Up: Social Impact Creation 2) Burn Fat: How to Super Lean 3) Body Fit & Firm: Decision Making & Growth Mindset 4) Build Muscle: Leadership of the Next Betterment และ 5) Six Pack Day : Speech Day โดย SE ที่เข้าร่วมได้ผ่านหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการ SE102 มาแล้ว ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมา SET Social Impact Gym ก็ได้พัฒนาศักยภาพ SE แล้ว 46 ราย และสามารถต่อยอดร่วมกับภาคธุรกิจและหน่วยงานเอกชนแล้วกว่า 200 โครงการ 

สำหรับ SE ที่สนใจพัฒนาศักยภาพ ดำเนินธุรกิจภายใต้เป้าหมายเพื่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้เพื่อให้กิจการดำรงอยู่ได้ สามารถคลิกสมัครรุ่นต่อไปและดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.setsocialimpact.com

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image