“The Coffeenery” ศูนย์เรียนรู้กาแฟครบวงจรและทันสมัยที่สุดในเอเชีย

เอกลักษณ์เฉพาะตัวของกาแฟในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่าง ตั้งแต่การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว วิธีการแปรรูป และวิธีการชงที่ถูกต้อง ย่อมทำให้กาแฟธรรมดาๆ กลับกลายเป็นกาแฟแก้วพิเศษ ที่นักดื่มกาแฟทั้งหลายโปรดปรานและสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้ไม่ยาก

คุณพีระ พนาสุภน ผู้บริหาร บริษัท แม็คเอ็ดดูเคชั่น จำกัด และประธานกลุ่มบริษัท พานา คอฟฟี่ จำกัด หนึ่งในผู้พลิกผืนป่ามาปลูกกาแฟ พร้อมจัดตั้ง “The Coffeenery” ศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับกาแฟที่มีทันสมัยมากที่สุดในเวลานี้ เล่าถึงจุดเริ่มต้นธุรกิจนี้ว่า “การปลูกกาแฟและชามาจากการซื้อที่ดินบนเขากว่า 100 ไร่ เพื่อใช้เป็นที่พักตากอากาศในช่วงที่อยากพักผ่อน กระทั่งวันหนึ่งได้ถอยรถจนเกือบไปชนต้นชาต้นหนึ่ง มีคนร้องห้าม ทำให้รู้ว่าต้นชามีความผูกพันกับคนบนดอย และเป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับเกษตรกรที่นี่มาก

จากนั้นจึงศึกษาเรื่องกาแฟและชาอย่างจริงจัง จนรู้ว่าพืช 2 ชนิดนี้จะเติบโตได้ดีต้องอาศัยร่มเงาของป่าไม้ ดังนั้นในเมื่อเรามีผืนป่าก็น่าจะปลูกบ้าง ผมจึงเริ่มปลูกกาแฟเมื่อปี 2554 ซึ่งตอนนั้นลูก (คุณคมพิชญ์ พนาสุภณ) เขาก็ชอบและอยากให้ปลูกซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ 200 ต้น แต่สุดท้ายไปจบที่ปลูกไปกว่า 200,000 ต้น”

Advertisement

แม้จะยอมรับว่าในช่วงเริ่มต้นการปลูกกาแฟตนเอง ไม่ได้ถนัดมากนัก เพราะเดินทางในเส้นทางสายธุรกิจสิ่งพิมพ์ด้านวิชาการมาโดยตลอด แต่เป็นเพราะลูกชาย (คุณคมพิชญ์ พนาสุภณ) สนใจธุรกิจนี้อย่างจริงจัง ทำให้อ.พีระ เริ่มปลุกปั้นไร่กาแฟและชาที่ปลูกแทรกตัวอยู่ในป่า จนกลายเป็น “ไร่ดอยเมฆ” อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ในปัจจุบัน

“ช่วงแรกที่ผมลงทุนเพราะอยากทำให้ลูก คือเริ่มปลูกกาแฟ 500 ไร่ 2 แห่ง พอมาคำนวณต้นทุนปีละ 5 ล้านกว่าบาท เมื่อเทียบกับผลผลิตที่ได้ก็ไม่คุ้ม ผมเลยรู้แล้วว่าทำไมเกษตรกรถึงไม่รวย คือราคาผลผลิตไม่คุ้มถ้าเขาไม่มีที่ดินที่ไม่มีต้นทุน ปัญหาต้นกล้ากาแฟของเกษตรกรที่นำไปปลูกได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง หรือถ้าจะให้ผมมาใส่ปุ๋ยฉีดยาเพื่อทำผลผลิตให้มากๆ แล้วผมจะมาอยู่บนดอยเพื่อจะได้สัมผัสกับธรรมชาติทำไม ถ้ายังต้องมาเจอกับสารเคมี เพราะฉะนั้นผมจึงคิดอยากจะพัฒนาการผลิตกาแฟไทยออแกนิกส์ที่มีคุณภาพ เพื่อช่วยเกษตรกรไทยให้ขายผลผลิตให้ขายได้มูลค่า และขายได้ในตลาดต่างประเทศ”

Advertisement

​ซึ่งจากปัญหานำไปสู่การพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาชาวบ้านในการทำการเกษตรแบบปลอดสารเคมีร่วมกับการอนุรักษ์ป่า เริ่มตั้งแต่การ “เพาะต้นกล้ากาแฟคุณภาพดี” เพื่อให้ได้ต้นกาแฟที่สมบูรณ์ทนต่อโรค มีผลผลิตที่ดีเมื่อปลูก 4 ปี ได้ผลผลิตคุ้มค่าต่อการลงทุนและเวลาที่เสียไป โดยคุณพีระ ได้รับการสนับสนุนทางวิชาการ จากศูนย์วิจัยและอบรมที่สูง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนนำไปสู่การตั้ง “สถานีต้นกล้าดอยหลวง”

สำหรับขั้นตอนการปลูกและดูแลกาแฟอราบิก้า เริ่มจากการเตรียมแปลงเพาะเมล็ดกาแฟ นำทรายผสมขี้แกลบอัตราส่วน 1:1 เทลงในกระบะหรือแปลงที่ระบายน้ำได้ดี โดยขนาดแปลงควรมีความกว้างประมาณ 1 เมตรXความยาวตามความเหมาะสมของพื้นที่ และอยู่ในโรงเรือนที่มีตาข่ายหรือซาแลนพรางแสง 50%

​การเพาะเมล็ดกาแฟ นำเมล็ดกาแฟจากต้นพันธุ์ดีมีอายุการเก็บไม่เกิน 6 เดือน แช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืนก่อนนำมาเพาะลงแปลง โดยใช้ไม้กดทรายในกระบะให้เป็นร่องลึกประมาณ 1 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถว 5 เซนติเมตร จากนั้นคว่ำเมล็ดวางลงในร่อง ก่อนกลบเมล็ดกาแฟด้วยทรายผสมขี้เถ้าแกลบให้มีความหนาประมาณ 1 เซนติเมตร หลังเพาะเมล็ด 45 วัน ให้นำต้นกล้าหัวไม้ขีดใส่ภาชนะโปร่งรอไว้ จากนั้นตัดปลายราก 1 ใน 3 ส่วน เพื่อกระตุ้นให้ต้นกล้าแตกรากใหม่ก่อนบรรจุลงถุง

​การเตรียมถุงเพาะต้นกล้า นำหน้าดิน มูลวัว แกลบดำเก่า โดโรไมท์ หินฟอสเฟต และปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยมูลค้างคาวผสมใส่ลงในถุง เจาะรูลึก 3-4 เซนติเมตร จากนั้นนำต้นกล้าหัวไม้ขีดลงปลูก จากนั้นดูแลรดน้ำวันละ 1 ครั้ง (เช้าหรือเย็น) จนอายุได้ 8-12 เดือน หรือมีใบจริงไม่น้อยกว่า 6 คู่ใบ
​การปลูกกาแฟ ปลูกที่ความสูง 800 เมตร (จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ขึ้นไป นิยมปลูกในช่วงฤดูฝน โดยขุดหลุมขนาด 50x50x50 เซนติเมตร เว้นระยะห่างระหว่างต้น 1.5×1.5 เมตร (700 ต้น/ไร่)

สำหรับวิธีปลูกรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก ฟอตเฟส โดโลไมท์ มูลค้างคาว(ผง) จากนั้นนำต้นกล้าที่เตรียมไว้กรีดถุงเพาะ ตัดดินส่วนก้นถุงออกประมาณ 1 นิ้ว ก่อนวางลงในหลุมปลูก (ระวังอย่าให้ตุ้มดินแตก) กลบดินให้ปากถุงต้นกล้าเสมอดินในแปลง กดดินรอบโคนให้แน่น และใช้ไม้ปักพยุงต้น โดยปักไม้ให้ห่างจากโคน 1 ฝ่ามาและให้เอียงทำมุม 45 องศา คลุมโคนต้นด้วยฟาง หญ้า หรือวัสดุอื่นๆ ดูแลต่อเนื่อง เมื่ออายุครบ 4 ปี กาแฟจะเริ่มให้ผลผลิต (สอบถามข้อมูลการปลูกเพิ่มเติมได้ที่ สถานีต้นกล้าดอยหลวง และ “โครงการกาแฟดูแลป่า”)

นอกจากการเพาะต้นกล้าพันธุ์ดีจำหน่ายแก่เกษตรกร การถ่ายทอดวิธีการปลูกและดูแลกาแฟคุณภาพใน “โครงการกาแฟดูแลป่า” ร้านกาแฟต้นแบบในการขยายธุรกิจในแง่ของการแปรรูปและเพิ่มมูลค่ากาแฟ อย่าง “ร้านกาแฟดอยเมฆ” ที่ อ.เชียงดาว ล่าสุด คุณพีระ ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้กาแฟ “The Coffeenery” สำหรับผู้สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับกาแฟ ที่สามารถเข้ามาเยี่ยมชมและเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับกาแฟได้ทุกขั้นตอนการผลิต

โดยศูนย์เรียนรู้กาแฟ The Coffeenery จัดได้ว่าเป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีทั้งความสวยงามและเครื่องมือที่ทันสมัยมากที่สุดแห่งแรก ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ 1.โรงงานผลิตและแปรรูปกาแฟ (รับ OEM ด้วย) บริหารโดย บริษัท พานาคอฟฟี่ จำกัด 2.Coffee Training Courses สถาบันอบรมกาแฟ บริหารโดย บริษัท เดอะคอฟฟี่เนอรี่ จำกัด และ 3.บริษัท เมาน์เท่น อราบิก้า คอฟฟี่ (แม็ค) จำกัด เป็นผู้จัดจำหน่าย ผลิตภัณฑ์กาแฟ (finished goods)

ซึ่งจากการดำเนินธุรกิจกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำแบบปลอดสารเคมี พร้อมกับการให้ความรู้ วิจัย พัฒนาสายพันธุ์กาแฟคุณภาพส่งต่อแก่เกษตรกรเพื่อความยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาต่อยอดเปิดศูนย์การเรียนรู้ครบวงจร “The Coffeenery” ซึ่งหากใครได้มาเยี่ยมชมศึกษาขั้นตอนการผลิตตั้งแต่การคัดเลือกผลกาแฟสดๆ จากต้น เข้าสู่กระบวนการแปรรูปที่พิถีพิถัน ก็น่าจะบอกเรื่องราวความหอมกรุ่นของกาแฟได้ดีสมกับความตั้งใจของผู้ผลิตกาแฟคุณภาพพรีเมียมได้อย่างกลมกล่อมจริงๆ

สนใจสามารถเข้าชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/thecoffeenery/ หรือบริษัท พานาคอฟฟี่ จำกัด เลขที่ 77 หมู่ 8 ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ 50220 โทร.0-5208-1884

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image